คืนอำลา

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม คืนอำลา เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

การที่อยากให้คนดี ไม่มีใครที่จะเกินพระพุทธเจ้าไปได้ พระโอวาทที่ประทานไว้แก่โลกก็เพื่อให้โลกเป็นคนดีกันทั้งนั้น เป็นคนดีมีความสุข ไม่ต้องการให้โลกเกิดความเดือดร้อนเสียหายอันเกิดจากความชั่วของการกระทำ เพราะความไม่รู้เรื่องวิธีปฏิบัติตัวเองนั้นเลย

เพราะฉะนั้นการที่จะสร้างพระบารมีให้ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีพระเมตตาอันเปี่ยมต่อสัตว์โลกนั้น จึงเป็นการลำบาก ผิดกับบารมีทั้งหลายอยู่มาก ความสามารถกับพระเมตตามีกำลังไปพร้อมๆ กัน ถ้าต่างคนต่างได้ยินได้ฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าในที่เฉพาะพระพักตร์ก็ตาม ได้ฟังตามตำรับตำราก็ตาม มีความเชื่อตามหลักความจริงที่ประทานไว้นั้น ต่างคนต่างพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นคนดี นับเป็นจำนวนว่าคนนี้ก็เป็นคนดี คือคนที่หนึ่งก็เป็นคนดี คนที่สองก็เป็นคนดี ในครอบครัวมีกี่คน ได้รับการอบรมสั่งสอนเพื่อความเป็นคนดีด้วยกัน ครอบครัวนั้นก็เป็นคนดี ในบ้านนั้นก็เป็นคนดี เมืองนี้ก็เป็นคนดี เมืองนั้นก็เป็นคนดี ประเทศนี้ประเทศนั้นก็เป็นคนดีด้วยกันแล้ว เรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองเราไม่ต้องถามถึงก็ได้ ต้องได้จากความดีของผู้ทำดีทั้งหลายแน่นอน

ความทุกข์ร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดขึ้นเพราะความไม่ดีต่างหาก คนไม่ดีมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ก็เหมือนมีเสี้ยนหนามจำนวนมากน้อยเพียงนั้น ยิ่งมีมากเท่าไรโลกนี้ก็เป็น “โลกันตนรก” ได้ ซึ่งมืดทั้งกลางวันกลางคืน มีความรุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องไปถามหานรกขุมไหนลูกไหน เพราะสร้างอยู่ที่หัวใจของคน แล้วก็ระบาดสาดกระจายออกไปทุกแห่งทุกหน เลยกลายเป็นไฟไปด้วยกันเสียสิ้น นี้เพราะความผิดทั้งนั้นไม่ใช่เพราะความถูกต้องดีงาม

ถ้าหากเป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เรื่องเหล่านี้จะไม่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาอะไรย่อมไม่มี เพราะไม่มีเรื่องจะให้ ต่างคนต่างมีเจตนามุ่งหวังต่อความเป็นคนดี พยายามฟังเหตุฟังผลเพื่อความเป็นคนดีด้วยกัน การพูดกันก็รู้เรื่อง ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย นักบวช ฆราวาส พูดกันรู้เรื่องทั้งนั้น

ความพูดกันรู้เรื่องก็คือ รู้เรื่องเหตุผลดีชั่วภายในใจอย่างซาบซึ้ง ทั้งมีความมุ่งหวังอยากรู้เหตุผล ความสัตย์ความจริง ความดีงามอยู่แล้ว ฟังกันย่อมเข้าใจได้ง่ายและปฏิบัติกันได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีที่แจ้งที่ลับเท่านั้น ที่โลกไม่ได้เป็นไปตามใจหวัง! ไปอยู่ในสถานที่ใด บ่นแต่ความทุกข์ความร้อน ระส่ำระสายวุ่นวายไปหมดทั้งแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ต่างคนต่างเรียน ต่างคนต่างหาความรู้ ความรู้นั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากเอามาเผาตัวเท่านั้น เพราะความรู้ประเภทนั้นๆ ไม่มีธรรมเข้าเคลือบแฝง ไม่มีธรรมเข้าอุดหนุน ไม่มีธรรมเข้าเป็น “เบรก” เป็น “คันเร่ง” เป็นพวงมาลัย จึงเป็นไปตามยถากรรมไม่มีขอบเขต

เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ย่อมจะเห็นคุณค่าแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าว่ามีมากมายเพียงไร เพียงแต่เราพยายามทำตัวให้เป็นคนดี แม้ไม่สามารถแนะนำสั่งสอนผู้ใดให้เป็นคนดีได้ก็ตาม ลำพังประพฤติปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี อยู่ในสถานที่ใด อิริยาบถใด เราก็เย็น ความเย็นความผาสุกสบายเกิดขึ้นจากความถูกต้องแห่งการกระทำของตนเอง ความเย็นจึงปรากฏขึ้นกับบุคคลนั้น

คำว่า “ความถูกต้อง” “ความร่มเย็น” นั้นมีเป็นขั้นๆ ขั้นทั่วๆ ไปก็มีได้ทุกคนถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้มี ไม่มองข้ามตนไปเสีย โลกนี้ก็เป็นโลกผาสุกร่มเย็น น่าอยู่น่าอาศัย น่ารื่นเริงบันเทิง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จะปฏิบัติให้ได้ความสุขความเจริญภายในจิตใจกว่าภาคทั่วๆ ไป ก็พยายามบำเพ็ญตนให้เข้มงวดกวดขัน หรือขยับตัวเข้าไปตามลำดับแห่งความมุ่งหวัง ความสุขอันละเอียดสุขุมก็จะปรากฏขึ้นมา

เฉพาะอย่างยิ่งผู้สนใจทางจิตตภาวนา ถ้าถือว่าเป็นแนวรบ เป็นการก้าวเข้าสู่สงคราม ก็เรียกว่าเป็นแนวหน้าทีเดียว จำพวกนี้จำพวกแนวหน้า ถ้ามุ่งหวังขนาดนั้นแล้วเจ้าตัวจะทำอ่อนแอไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความเข้มงวดกวดขันตนเองอยู่เสมอ สุดท้ายก็ค่อยกลายเป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลาได้ ไม่งั้นก็ไม่จัดว่าเป็นผู้เข้มแข็งเพื่อชัยชนะในสงคราม ความเข้มแข็งต้องขึ้นอยู่กับความเพียรและสติปัญญา สังเกตความเคลื่อนไหวไปมาของตนว่าจะเป็นไปในทางถูกหรือผิด ซึ่งเป็นส่วนละเอียดไปโดยลำดับว่า ต้องอาศัยสติปัญญาเป็นเครื่องระงับ ระวังรักษาอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ตลอดเวลา

กระแสของจิตหรือความคิดปรุงต่างๆ ก็ไม่ไปเที่ยวกว้านเอาอารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัยเข้ามาเผาลนตนให้ได้รับความเดือดร้อน จิตเมื่อได้รับความบำรุงรักษาโดยถูกทาง ยิ่งจะมีความสงบผ่องใสและผาสุกร่มเย็นไปโดยลำดับ ไม่อับเฉาเมามัวดังที่เคยเป็นมา

ฉะนั้นบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้มาอบรมในสถานที่นี้ ก็เป็นเวลานานพอสมควร จึงกรุณานำเอาธรรมของพระพุทธเจ้าน้อมเข้ามาสถิตไว้ที่จิตใจของตนเถิด อย่าได้คิดว่า “เราจากครูจากอาจารย์ไป เราจากวัดวาอาวาสไป” นั่นเป็นเพียงกิริยาเท่านั้น สิ่งสำคัญควรคิดถึงข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าบูชาเราตถาคต“ได้แก่ ประพฤติปฏิบัติตัวเราด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร อยู่ในสถานที่ใดอิริยาบถใดมีความเข้มงวดกวดขัน มีความประพฤติปฏิบัติอยู่ภายในจิตใจ อยู่ด้วยความระมัดระวังตัวเช่นนี้ชื่อว่า “เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมและบูชาตถาคต” คือพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

บทที่สอง “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต” เห็นธรรมนี้เห็นอย่างไร? รู้ธรรมนี้รู้อย่างไร? ก็ดังที่เราปฏิบัติอยู่นี้แหละ ทางจิตตภาวนาเป็นสำคัญ นี่คือการปฏิบัติธรรม การเห็นธรรมก็จะเห็นอะไร ถ้าไม่เห็นสิ่งที่กีดขวางอยู่ภายในตนเองเวลานี้ ซึ่งเราถือว่ามันเป็นข้าศึกต่อเรา ได้แก่ “สัจธรรม สองบทเบื้องต้น คือทุกข์หนึ่ง สมุทัยหนึ่ง”

เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจตามความจริงของมันที่มีอยู่กับทุกคน ทุกตัวสัตว์ไม่มีเว้น เว้นแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่สมุทัยไม่เข้าไปแทรกท่านได้ นอกนั้นต้องมีไม่มากก็น้อย ที่ท่านเรียกว่า “สัจธรรม”

พิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้แล้วก็ชื่อว่า “เห็นธรรม” ละได้ถอนได้ เกิดเป็นผลความสงบสุขเย็นใจขึ้นมาจากการละการถอน การปล่อยวางสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ เรียกว่า “เห็นธรรม” คือเห็นเป็นขั้นๆ เห็นเป็นระยะๆ จนกระทั่งเห็นองค์ตถาคตโดยสมบูรณ์

ถ้าเราจะพูดเป็นขั้นเป็นภูมิก็เช่น

(๑) ผู้ปฏิบัติได้สำเร็จ พระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าขั้นหนึ่ง ด้วยใจที่หยั่งลงสู่กระแสธรรม เรียกว่าเริ่มเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าเป็นทุ่งนาก็เริ่มเห็นท่านอยู่ทางโน้น เราอยู่ทางนี้

(๒) สกิทาคา ก็เห็นพระพุทธเจ้าใกล้เข้าไป

(๓) อนาคา ใกล้เข้าไปอีกโดยลำดับ

(๔) ถึงอรหัตผลแล้ว ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ และธรรมที่จะให้สำเร็จมรรคผลนั้นๆ ในทางภาคปฏิบัติก็อยู่กับเราด้วยกันทุกคน

การที่เรายึดถือการประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาก็ชื่อว่า “เราเดินตามตถาคต และมองเห็นพระตถาคตด้วยข้อปฏิบัติของเราอีกแง่หนึ่ง เห็นตถาคตโดยทางเหตุคือการปฏิบัติ เห็นโดยทางผลคือสิ่งที่พึงได้รับโดยลำดับ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นทรงได้รับ และทรงผ่านไปโดยลำดับแล้วนั้น”

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ไม่ได้ห่างเหินจากใจของผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อบูชาพระตถาคต หรือบูชาพระธรรม พระสงฆ์นี้เลย นี่เป็นการบูชาแท้ นี่เป็นการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาด้วยความพากเพียรของเรา

การจากไปเป็นกิริยาอาการอันหนึ่งเท่านั้น อยู่ที่นี่ก็จาก เช่น นั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็จากไปที่นั่น นั่งที่นั่น ลุกจากที่นั่นก็จากมาที่นี่ มันจากอยู่ตลอดเวลานะเรื่องความจากนี่ เราอย่าไปถือว่าจากนั้นจากนี้ จากเมืองนั้นมาเมืองนี้ จากบ้านนี้ไปบ้านนั้น จากสถานที่นี่ไปสู่สถานที่นั่น ก็เรียกว่า “จาก” คือ จากใกล้จากไกล จากอยู่โดยลำดับลำดาแห่งโลกอนิจจัง มันเป็นของไม่เที่ยงอยู่เช่นนี้ มีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนอยู่เสมอ

สิ่งนี้เรานำมาพิจารณาให้เป็นอรรถเป็นธรรมได้ โดยหลักของ “ไตรลักษณ์” เป็นทางเดินของผู้รู้จริงเห็นจริงทั้งหลาย ต้องอาศัยหลักไตรลักษณ์เป็นทางเดิน เราอยู่ที่นี่เราก็บำเพ็ญธรรม เราไปอยู่ที่นั่นเราก็บำเพ็ญธรรมเพื่อละเพื่อถอดถอนกิเลส เพื่อระงับดับความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ในจิตใจ อยู่ที่ไหนเราก็บำเพ็ญเพื่อความละความถอน ย่อมจะละได้ถอนได้ด้วยการบำเพ็ญด้วยกัน โดยไม่หมายถึงสถานที่นั่นสถานที่นี่ เพราะสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อการถอดถอนนี้เท่านั้น

พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนสาวกว่า “ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอไปหาอยู่ในที่สงบสงัด เป็นผู้เหนียวแน่นแก่นนักรบ อยู่สถานที่เช่นนั้นชื่อว่า เธอทั้งหลายเข้าเฝ้าเราอยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นที่เธอทั้งหลายจะมานั่งห้อมล้อมเราอยู่เช่นนี้ถือว่าเป็นการเข้าเฝ้า ไม่ใช่อย่างนั้น! ผู้ใดมีสติผู้ใดมีความเพียร อยู่ในอิริยาบถใดๆ ชื่อว่า “ผู้บูชาเราตถาคต” หรือเฝ้าตถาคตอยู่ตราบนั้น แม้จะนั่งอยู่ตรงหน้าเราตถาคต ถ้านั่งอยู่ด้วยความประมาทก็หาได้พบตถาคตไม่ หาได้เห็นตถาคตไม่ เราไม่ถือว่าการเข้ามาการออกไปเช่นนี้เป็นการเข้าเฝ้าตถาคต และการออกไปจากตถาคต แต่เราถือความเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสภายในใจต่างหาก

การถอดถอนกิเลสได้มากน้อยชื่อว่า “เข้าเฝ้าเราโดยลำดับ” นี่ชื่อว่า “เราเห็นตถาคตไปโดยลำดับๆ!” ซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายว่า “ไปเถิด ไปหาประกอบความพากเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจของตนให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ แล้วพวกเธอทั้งหลายจะเห็นตถาคตเองว่าอยู่ในสถานที่ใด โดยไม่จำเป็นต้องมามองดูตถาคตด้วยดวงตาอันฝ้าฟาง ไม่มีสตินี้ว่าเป็นตถาคต ขอให้ถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่จิตใจของพวกเธอทั้งหลายให้ได้ จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิงแล้ว เธอทั้งหลายจะเห็นตถาคตอันแท้จริง ซึ่งเป็น “สมบัติของพวกเธอแท้” อยู่ภายในใจพวกเธอนั้นแล “แล้วนำธรรมชาตินั้นมาเทียบเคียงกับตถาคตว่าเป็นอย่างไร? ไม่มีอะไรสงสัย เพราะธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นเหมือนกัน!” นี่! ฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นหลักสำคัญอย่างนี้!”

การทำจิตใจ การทำตัว ให้เป็นคนดี ชื่อว่าเป็นการสั่งสมความสุขความเจริญขึ้นภายในจิตใจโดยลำดับ ผลก็คือความสุขนั่นเอง

ที่หาความสุขไม่ได้หรือมีความสุขไม่สมบูรณ์ ก็เพราะมีสิ่งที่กีดขวางอยู่ภายในจิตใจของเรา ได้แก่กิเลสนั่นเองไม่ใช่อะไรอื่น มีกิเลสเท่านั้นที่เป็นเครื่องกีดขวางเสียดแทงจิตใจของสัตว์โลกอยู่ ไม่ให้เห็นความสุขความสมบูรณ์ ความทุกข์ความลำบากทั้งภายในภายนอกส่วนมากเกิดขึ้นจากกิเลสไม่ใช่เรื่องอื่น เช่น มีเจ็บไข้ได้ป่วยภายในร่างกาย ก็จะมีเรื่องของกิเลสแทรกเข้ามาว่า “เราเจ็บนั้นเราปวดนี้” เกิดความกระวนกระวายระส่ำระสายขึ้นมาภายในใจ ซึ่งเป็นทุกข์ทางใจอีกประการหนึ่ง แทรกขึ้นมาจากโรคภายในร่างกาย

ถ้าเพียงโรคกายธรรมดา พระพุทธเจ้า พระสาวกท่านก็เป็นได้ เพราะขันธ์อันนี้เป็นกฎธรรมชาติแห่งสมมุติอยู่แล้ว คือไตรลักษณ์ ใครจะมาข้ามพ้นสิ่งนี้ไปไม่ได้ เมื่อมีธาตุมีขันธ์ก็ชื่อว่า “สมมุติ” และต้องอยู่ใต้กฎธรรมชาติกฎธรรมดา ต้องมีความแปรสภาพไปเป็นธรรมดา

แต่ใจนั้นไม่มีความหวั่นไหว เพราะรู้เท่าทันกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นแล้วโดยรอบคอบ ไม่มีช่องโหว่ภายในใจ แต่พวกเราไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อทุกข์เกิดขึ้นภายในร่างกายมากน้อย ก็เป็นการส่อถึงจิตใจที่จะสั่งสมความทุกข์ขึ้นภายในตนอีกมากน้อยไม่มีประมาณ ดีไม่ดีความทุกข์ภายในใจยิ่งมากกว่าความทุกข์ภายในร่างกายเสียอีก

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “กิเลสมันเข้าแทรกได้ทุกแง่ทุกมุม” ถ้าเราเผลอไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันมัน กิเลสเข้าได้ทุกแง่ทุกมุมโดยไม่อ้างกาลอ้างเวลา อ้างสถานที่อิริยาบถใดๆ ทั้งสิ้น มันเกิดได้ทุกระยะ ขอแต่ความเคลื่อนไหวของจิตแสดงออกโดยไม่มีสติ ปัญญาก็กลายเป็นสัญญา จิตจึงกลายเป็นเรื่องของกิเลส ช่วยกิเลสโดยไม่รู้ตัว แล้วจะเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร! นอกจากเป็นกิเลสทั้งตัวของมัน แล้วเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับเท่านั้น

จึงต้องทุ่มเทสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของเราลงให้ทันกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ภายในใจ

เรียนธาตุเรียนขันธ์เป็นบุคคลประเสริฐ เรียนอะไรจบก็ยังไม่พอกับความต้องการ ยังมีความหิวโหยเป็นธรรมดาเหมือนโลกทั่วไป แต่เรียนธาตุเรียนขันธ์เรียนเรื่องของใจจบ ย่อมหมดความหิวโหย อิ่มตัวพอตัวอย่างเต็มที่ประจักษ์ใจ!

เวลานี้เรายังบกพร่องใน “วิชาขันธ์” และภาคปฏิบัติใน “ขันธวิชา” คือ สติปัญญาความรู้แจ้งแทงทะลุในธาตุในขันธ์ว่า เขาเป็นอะไรกันแน่ตามหลักความจริง แยกแยะให้เห็นความจริงว่าอะไรจริงอะไรปลอม เรียนยังไม่จบ เรียนยังไม่เข้าใจ มันจึงวุ่นวายอยู่ภายในธาตุในขันธ์ในจิตไม่มีเวลาจบสิ้น

ความวุ่นวาย ไม่มีที่ไหนวุ่นไปกว่าที่ธาตุขันธ์และจิตใจ ซึ่งเกิดเรื่องเกิดราวอยู่ตลอดเวลาที่ชำระสะสางกันยังไม่เสร็จสิ้นนี้แล เพราะฉะนั้นการเรียนที่นี่รู้ที่นี่ จึงเป็นการชำระคดีซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอยู่มากมาย มีสติปัญญาเป็นผู้พิพากษาเครื่องพิสูจน์และตัดสินไปโดยลำดับ

เอ้า เรียนให้จบ ธาตุขันธ์มีอะไรบ้าง ดังเคยพูดให้ฟังเสมอ

“รูปขันธ์” ก็ร่างกายทั้งร่างไม่มีอะไรยกเว้น รวมแล้วเรียกว่า “รูปขันธ์” คือกายของเราเอง

“เวทนาขันธ์” ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจ ท่านเรียกว่า “เวทนาขันธ์”

“สัญญาขันธ์” คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ ท่านเรียกว่า “สัญญาขันธ์”

“สังขารขันธ์” คือ ความปรุงของใจ คิดดีคิดชั่ว คิดเรื่องอดีตอนาคต ไม่มีประมาณ ท่านเรียกว่า “สังขารขันธ์” เป็นหมวดเป็นกอง

“วิญญาณขันธ์” ความรับทราบ เวลารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย รายงานเข้าไปสู่ใจให้รับทราบในขณะที่สิ่งนั้นๆ สัมผัสแล้วดับไป พร้อมตามสิ่งนั้นที่ผ่านไป นี่ท่านเรียกว่า “วิญญาณขันธ์” ซึ่งเป็น “วิญญาณในขันธ์ห้า”

“วิญญาณในขันธ์ห้า” กับ “ปฏิสนธิวิญญาณ” นั้นต่างกัน ปฏิสนธิวิญญาณหมายถึง “มโน” หรือหมายถึงจิตโดยตรง จิตที่จะก้าวเข้าสู่ “ปฏิสนธิวิญญาณ” ในกำเนิดต่างๆ ท่านเรียกว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” คือใจโดยตรง

ส่วน “วิญญาณในขันธ์ห้า” นี้ มีความเกิดดับไปตามสิ่งที่มาสัมผัส สิ่งนั้นมาสัมผัสแล้วดับไป วิญญาณก็ดับไปพร้อม คือความรับทราบ ดับไปพร้อมขณะที่สิ่งนั้นผ่านไป

แต่ “ปฏิสนธิวิญญาณ” นั้นหมายถึงใจ ซึ่งมีความรู้อยู่โดยลำพังแม้ไม่มีอะไรมาสัมผัสอันนี้ อันนี้ไม่ดับ!

เรียนขันธ์ห้าเรียนทบทวนให้เป็นที่เข้าใจ เรียนให้หลายตลบทบทวน คุ้ยเขี่ยขุดค้น ค้นจนเป็นที่เข้าใจ นี่คือสถานที่ทำงานของผู้ที่จะรื้อกิเลสตัณหาอาสวะออกจากจิตใจที่เรียกว่า “รื้อถอนวัฏวน” คือความหมุนเวียนแห่งจิตที่ไปเกิดในกำเนิดต่างๆ ไปเที่ยวจับจองป่าช้าไม่มีสิ้นสุด ทั้งๆ ที่ยังไม่ตายก็ไปจับจองไว้แล้ว ก็เพราะเหตุแห่ง ความหลงในขันธ์ ความไม่รู้เรื่องของขันธ์ จึงต้องไปหายึดขันธ์ ทั้งๆ ที่ขันธ์ยังอยู่ก็ยังไม่พอ ยังไปยึดไปหลงติดเรื่อยๆ ไม่มีความสิ้นสุด ถ้าไม่เอาปัญญาเข้าไปพิสูจน์

พิจารณาจนกระทั่งรู้จริงและตัดได้ ท่านจึงให้เรียนธาตุขันธ์ รูปขันธ์ “ก็คือ ตัวสัจธรรม” ตัว “สติปัฏฐานสี่” นั่นเอง อะไรๆ เหมือนกันหมด เป็นไวพจน์ของกันและกันใช้แทนกันได้ เราพิจารณาอาการใดอาการหนึ่งก็ถูกเรื่องของสัจธรรม ถูกเรื่องของสติปัฏฐานสี่ ปกติไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น กายก็เป็นกายอยู่อย่างนี้ รูปก็เป็นรูปอยู่เช่นนี้เอง

แต่ความวิการของธาตุขันธ์ก็วิการไปตามเรื่องของมัน ทุกขเวทนาเกิดขึ้นจากความวิการของสิ่งนั้น ที่ไม่อยู่คงที่ยืนนาน จิตก็ให้ทราบตามเรื่องของมัน ชื่อว่า “เรียนวิชาขันธ์” อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปตระหนกตกใจ อย่าไปเสียอกเสียใจกับมัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติธรรมดาของสมมุติ จะต้องแปรอยู่โดยลำดับ แปรอย่างลี้ลับก็มี แปรอย่างเปิดเผยก็มี แปรอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน ทุกระยะทุกวินาที หรือว่าวินาทีก็ยังห่างไป ทุกขณะหรือทุกเวลาไปเลย มันแปรของมันอย่างนั้น แปรเรื่อยๆ ไม่มีการพักผ่อนนอนหลับเหมือนสัตว์เหมือนคน

เรื่องของทุกข์ก็แสดงตัวอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่งนอนเลย คนเรายังมีการหลับการนอนการพักผ่อนกันบ้าง เรื่องสัจธรรมเรื่องไตรลักษณ์นี้ไม่เคยหยุด ไม่เคยผ่อนผันสั้นยาวกับใคร ดำเนินตามหน้าที่ของตัวทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน กับสิ่งต่างๆ เป็นสภาพจะต้องหมุนไปอยู่เช่นนั้น ในร่างกายของเรานี่ก็หมุนของมันอย่างนั้นเหมือนกัน คือแปรสภาพ นี่เรานั่งสักประเดี๋ยวก็เจ็บปวดขึ้นมาแล้ว นี่มันแปรไหมล่ะ มันไม่แปรจะเจ็บปวดขึ้นมาทำไม!

ความเจ็บปวดนี้เรียกว่า “ทุกขเวทนา” มันเป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นให้เราทราบที่เรียกว่า “สัจธรรม” ประการหนึ่ง พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน เวลาจำเป็นจำใจขึ้นมาเราจะอาศัยใครไม่ได้ จะไปหวังพึ่งคนนั้นพึ่งคนนี้เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งจะทำให้กำลังทางด้านจิตใจลดลงไป จนเกิดความท้อถอยอิดหนาระอาใจต่อการช่วยตัวเอง นี่เป็นความเข้าใจผิด หรือเป็นความเห็นผิดของจิตซึ่งมีกิเลสเป็นเครื่องกระซิบหลอกลวงอยู่เป็นประจำ ทั้งเวลาปกติ ทั้งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งเวลาจวนตัว เพื่อให้เราเสียหลักแล้วคว้าน้ำเหลวไปตามกลอุบายของมันจนได้

เวลาจวนตัวเข้าจริงๆ ก็เหมือนนักมวยขึ้นเวที ครูเขาจะสั่งสอนอบรมกันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวที เมื่อก้าวขึ้นสู่เวทีแล้วไม่มีทางที่จะแนะนำสั่งสอนอย่างใด ผิดกับถูก ดีกับชั่ว เป็นกับตาย ก็ต้องพึ่งตัวเอง ต้องช่วยตัวเองอย่างเต็มกำลังความสามารถ อุบายวิธีที่จะชกต่อยอย่างไรนั้น จะไปสอนกันไม่ได้เวลานั้น

เวลาเราเข้าสู่สงคราม คือตาจน ระหว่างขันธ์กับจิตจะแยกทางกัน คือเวลาจะแตกสลายนั้นแล ซึ่งเหมือนกับอีแร้งอีกาที่มาจับต้นไม้ เวลามาจับก็ไม่ค่อยทำกิ่งไม้ให้สะเทือนนัก แต่เวลาจะบินไปล่ะ มันเขย่ากิ่งจนไหวทั้งต้น ถ้าเป็นกิ่งที่ตายแล้วต้องหักไปก็มี

นี่เวลาธาตุขันธ์จะจากเราไปมันจะเขย่าเราขนาดไหน เราจะทนต่อการเขย่าได้ด้วยอะไร? ถ้าไม่ด้วยสติกับปัญญา เมื่อทนไม่ได้ก็แน่นอนว่าต้องเสียหลัก ฉะนั้นเราต้องสู้ให้เต็มสติปัญญากำลังความสามารถทุกด้าน ไม่ต้องคิดว่าเราจะล่มจม เพราะการสู้ การพิจารณาขันธ์ให้เห็นตามความเป็นจริงเพื่อปลดเปลื้องไม่ใช่ทางให้ล่มจม! นี่คือการช่วยตัวเองโดยเฉพาะอย่างเต็มความสามารถในเวลาคับขัน! และเป็นการถูกต้องตามทางดำเนินของปราชญ์ท่านด้วย

เมื่อถึงคราวจำเป็นเข้ามาจริงๆ จะมีแต่ทุกขเวทนาเท่านั้นแสดงอย่างเด่นชัดทีเดียว ภายในกายทุกชิ้นทุกส่วนจะเป็นเหมือนกองไฟหมดทั้งตัว ภายในกายของเราจะกลายเป็นไฟทั้งกองไปเลย แดงโร่ไปหมดด้วยความรุ่มร้อน แล้วเราจะทำอย่างไร? ต้องนำสติปัญญาหยั่งลงไปให้เห็นความทุกข์ความร้อนนั้น ประจักษ์ด้วยปัญญา แล้วย้อนดูใจเรามันแดงโร่อย่างนั้นด้วยไหม? มันร้อนอย่างนั้นด้วยไหม? หรือมันร้อนแต่ธาตุแต่ขันธ์?

ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญา เคยพิจารณาทางด้านปัญญาอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว ใจจะไม่ร้อน! ใจจะเย็นสบายอยู่ในท่ามกลางกองเพลิง คือธาตุขันธ์ที่กำลังลุกโพลงๆ อยู่ด้วยความทุกข์นั้นแล นี่ผู้ปฏิบัติต้องให้เป็นอย่างนี้! นี่ชื่อว่าเราช่วยตัวเราเอง ให้พิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องไปหวังพึ่งใครในขณะนั้น เรียกว่า “ขึ้นเวทีแล้ว” เมื่อตั้งหน้าต่อสู้กันแล้วสู้ให้ถึงเหตุถึงผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เอ้า! เป็นก็เป็น ตายก็ตาย! ใครจะหามลงเวทีหรือไม่ไม่สำคัญ สู้จนเต็มกำลังความสามารถขาดดิ้นด้วยปัญญานั้นแล อย่าสู้เอาเฉยๆ แบบทนทื่อเอาเฉยๆ ก็ไม่ใช่! เช่น ขึ้นไปให้เขาชกต่อย เขาต่อยเอาๆ โดยที่เราไม่มีปัดมีป้องไม่ชกต่อยสู้เขาเลย นี่ใช้ไม่ได้! เราต้องสู้เต็มกำลังเพื่อความชนะกัน เอาความตายเป็นเดิมพัน แม้จะตายก็ยอมตายแต่ไม่ยอมถอย! ต้องต่อสู้ทางสติปัญญาอันเป็นอาวุธทันสมัย!

การต่อสู้กับเวทนาก็คือพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน อย่าไปบังคับให้มันหาย ถ้าบังคับให้หายย่อมฝืนคติธรรมดา นอกจากการพิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริงและหายเอง! ถ้าไม่หายก็รู้เท่าทันเวทนา ไม่หลงยึดถือ

รูปก็เป็นรูป อย่าไปเอาอะไรมาขัดมาแย้งมาแทรกแซงให้เป็นอย่างอื่น รูปเป็นรูป กายเป็นกาย สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่ารูป, เวทนาสักแต่ว่าเวทนา, จะสุขก็ตาม จะทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องเวทนาอันหนึ่งๆ เท่านั้น

ผู้ที่รู้ว่ากาย รู้ว่าเวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ คือใคร? ถ้าไม่ใช่ใจ! ใจไม่ใช่ธรรมชาตินั้นๆ ให้แยกกันออกให้เห็นกันด้วยปัญญาอย่างชัดเจน ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาสัจธรรมโดยถูกต้อง แล้วจะไม่หวั่นไหว ถึงร่างกายจะทนไม่ไหว เอ้า! ตั้งท่าสู้! ตั้งหน้ารู้ อะไรจะดับไปก่อนไปหลังให้รู้มัน! เพราะเราแน่ใจแล้วด้วยสติปัญญา ทั้งความจริงก็เป็นอย่างนั้นด้วยว่า “ใจ ไม่ใช่ผู้ดับผู้ตาย” ใจเป็นแต่ผู้คอยรับทราบทุกสิ่งทุกอย่าง

เอ้า! อะไรไม่ทนทานให้ไป! ร่างกายไม่ทน เอ้า แตกไป! เวทนาไม่ทน เอ้า สลายไป! อะไรไม่ทนให้สลายไปหมด เอ้า สลายไป อะไรทนจะคงตัวอยู่ ส่วนที่คงตัวอยู่นั้นคืออะไร? ถ้าไม่ใช่ผู้รู้คือใจจะเป็นอะไร? นั่น! ก็คือผู้รู้เด่นอยู่ตลอดเวลา!

เมื่อได้ฝึกหัดตนโดยทางสติปัญญาจนมีความสามารถแล้ว จะเป็นอย่างนี้แน่นอนไม่เป็นอื่น แต่ถ้าสติปัญญาอาภัพ จิตใจก็ท้อแท้อ่อนแอถอยหลังอย่างไม่เป็นท่าความทุกข์ทั้งหลายจะรุมกันเข้ามาอยู่ที่ใจทั้งหมด เพราะใจเป็นผู้สั่งสมทุกข์ขึ้นมาเองทั้งนี้อยู่กับความโง่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นความท้อถอยจึงไม่ใช่ทางที่จะชำระตนให้พ้นจากภัยทั้งหลายได้ นอกจากความขยันหมั่นเพียร นอกจากความเป็นนักต่อสู้ด้วยสติปัญญาเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นที่จะได้ชัยชนะ ไม่มีอย่างอื่นที่จะได้ความเด่น ความดิบความดี ความสง่าผ่าเผย ความองอาจกล้าหาญขึ้นภายในใจให้

พิจารณาอย่างนี้ สมมุติว่าเราอยู่ในบ้าน ปราศจากครูปราศจากอาจารย์ ครูอาจารย์ได้สอนไว้แล้วอย่างไร ปราศจากที่ไหน? ท่านสอนว่าอย่างไร นั่นแลคือองค์ท่าน!นั่นแลคือองค์ตถาคต! นั่นแลคือองค์พระธรรม! เราอยู่กับพระธรรม เราอยู่กับพระพุทธเจ้า เราอยู่กับพระสงฆ์ตลอดเวลา โดยพระโอวาทที่นำมาประพฤติปฏิบัติ ก็ล้วนแล้วแต่เรื่องของท่านทั้งนั้น เราไม่ได้ปราศจากครูปราศจากอาจารย์ เราอยู่ด้วยความมีที่พึ่ง คือมีสติปัญญา มีศรัทธา ความเพียร รบฟันหั่นแหลกอยู่กับสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่เวลานี้ จะว่าเราปราศจากครูอาจารย์ได้อย่างไร! เราอยู่กับครู และรู้ก็ต้องรู้แบบมีครู! สู้ก็ต้องสู้แบบมีครู!

นี่คือวิธีการแห่งการปฏิบัติตน ไม่มีความว้าเหว่ ไม่มีความหวั่นไหว ให้มีความแน่วแน่ตามความจริงแห่งธรรมที่ครูอาจารย์ได้สั่งสอนไว้แล้ว ยึดถือเป็นหลักเกณฑ์อยู่ภายในใจโดยสม่ำเสมอ อยู่ที่ไหนก็เรียกว่าเราอยู่กับครูกับอาจารย์ กับพระพุทธเจ้าพระธรรม พระสงฆ์ เพราะพุทธะ ธรรมะ สังฆะ อันแท้จริงแล้วอยู่กับจิต มีจิตเท่านั้นจะเป็น “พุทธ ธรรม สงฆ์” ได้ หรือธรรมทั้งดวงได้ มีจิตเท่านั้นที่จะอยู่กับพระพุทธเจ้าพระธรรม พระสงฆ์ ได้ ไม่ใช่อะไรทั้งหมด!

กายไม่รู้เรื่อง จะไปรู้เรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างไร เวทนาก็ไม่รู้เรื่อง สัญญาเพียงจำมาให้แล้วหายเงียบไป สังขารปรุงขึ้นแล้วหายเงียบไป จะเป็นสาระอะไรที่พอจะรับพระพุทธเจ้าเข้าไว้ภายในตนได้ ผู้ที่รับไว้ได้จริงๆ คือผู้ที่เข้าใจเรื่องของพระพุทธเจ้าจริงๆ และเป็นผู้ที่ “เป็นพุทธะ” อันแท้จริง ก็คือจิตนี้เท่านั้น

ฉะนั้นจึงให้พิจารณาจิตให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าท้อถอยอ่อนแอ อย่างไรเราทุกคนต้องก้าวเข้าสู่สงครามที่เป็นเรื่องใครช่วยไม่ได้ด้วยกันทุกคน นอกจากเราจะช่วยตัวเอง และแน่ที่สุดว่าเราต้องช่วยตัวเองทุกคน ถึงคราวจำเป็นมาไม่มีใครจะช่วยได้

พ่อก็พ่อ แม่ก็แม่ ลูกก็ตาม สามีก็ตาม ภรรยาก็ตาม เป็นแต่เพียงดูอยู่เฉยๆด้วยความอาลัยรักเสียดาย อยากช่วยแต่ช่วยไม่ได้ สุดวิสัย!

ถึงวาระแล้วที่จะช่วยเราให้พ้นจากความทุกข์ความทรมาน ให้พ้นจากสิ่งพัวพันทั้งหลายนั้น เครื่องช่วยนั้นนอกจากปัญญา สติ และความเพียรของเราเองแล้ว ไม่มี!

ฉะนั้นเราจึงเข้มงวดกวดขันและมีความเข้มแข็งอยู่กับใจ แม้ร่างกายจะหมดกำลัง และให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้เสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะไม่เสียท่าเสียที

ไม่ว่าเรื่องของขันธ์จะแสดงขึ้นอย่างไร มันไม่เหนือตาย แสดงขึ้นมามากน้อยเพียงไรมันก็ถึงแค่ตายเท่านั้น

ผู้รู้ก็รู้กันถึงตาย เมื่อธาตุขันธ์สลายไปแล้ว ผู้รู้ก็หมดปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ ขณะนี้ต้องพิจารณาให้เต็มที่ เอาให้มันถึงพริกถึงขิงถึงเหตุถึงผล เราก็ถึงธรรมอันแท้จริงภายในใจ

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร ขอยุติเพียงแค่นี้