ทุกขเวทนา

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม ทุกขเวทนา เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ในมงคลสูตร ท่านสอนให้คบบัณฑิต อย่าคบคนพาล คนพาลก็คือหัวใจเจ้าของพาลนั่นเองเป็นอันดับแรก คือมีคนพาลภายนอก คนพาลภายใน ส่วนมากก็เป็นคนพาลอยู่ภายในใจตัวเองคอยพาลอยู่เรื่อยๆ เวลาไปอยู่กับครูกับอาจารย์ ที่เรียกว่า “คบบัณฑิต” ได้รับการอบรมอยู่เสมอจากบัณฑิต เพราะครูอาจารย์ท่านเป็นบัณฑิต ท่านมีความเฉลียวฉลาดในอุบายต่างๆ ที่นำมาสั่งสอนเรา ท่านเคยปฏิบัติและรู้มาแล้วทุกอย่าง การสอนจึงถูกต้องแม่นยำเป็นที่แน่ใจได้สำหรับผู้ฟังไม่มีที่สงสัย เฉพาะอย่างยิ่งท่านอาจารย์มั่น ไม่เคยปรากฏเลยที่ท่านจะสอนว่า “เห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้”

มีแต่ “แน่นอนๆ” และเป็นที่แน่ใจ เพราะท่านเอาความจริงล้วนๆ ซึ่งถอดออกจากจิตใจที่เคยได้รู้ได้เห็นมาแล้วออกมาพูด และจากการปฏิบัติมาแล้วด้วยดี ยิ่งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยแล้ว รายไหนอ่อนแอละ ท่านขู่ไว้แล้วว่า “ใครอ่อนแอใครร้องคราง “ฮือๆ” ละก็ ให้เอา “นั้นแหละ” เป็นโอสถรักษาเองไม่ต้องไปหาหยูกยาที่ไหน ไม่ต้องมีใครดูแลรักษาละ คราง “ฮือๆ ฮาๆ” มันเป็นโอสถแล้วสำหรับคนนั้น ถ้าหากการร้องครางมันเป็นประโยชน์จริงๆ แล้ว เราจะหาหยูกยามารักษาทำไม!

นี่แหละเวลาที่ท่านย้อนกลับเอา “ร้องครางเข้าซี” ใครร้องครางก็ได้นี่ เด็กร้องครางก็ยังได้ถ้ามันประโยชน์ นี่มันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย นอกจากคนดีที่ปฏิบัติเด็ดเดี่ยวจะรำคาญเท่านั้น จึงไม่ควรจะร้องครางเพราะความอ่อนแอ เป็นพระกรรมฐานทั้งองค์แสดงตัวอย่างนั้นมันดูได้เมื่อไร ถ้าเป็นเด็กหรือเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปก็ไม่ค่อยเป็นไร เพราะเขาไม่ได้รับการศึกษาอบรม มีความรู้อะไรพอจะเข้าใจในแนวทางต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ มีการพิจารณา เป็นต้น

ส่วนเรารู้แล้ว รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาเกิดเรื่อง เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น ขึ้นมาภายในตัว หาทางหรืออุบายต่างๆ รักษาตัวไม่ได้ มีแต่ล้มระเนระนาดไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้เลย ขายตัวเองและวงกรรมฐาน!

ท่านอาจารย์มั่นท่านเทศน์สอนจิตใจนี้เก่งมากทีเดียว บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ตั้งใจไปศึกษาอบรมกับท่าน ฟังอะไรก็ถึงใจ สิ่งที่ควรปฏิบัติก็ปฏิบัติไปเลย สิ่งที่ควรเข้าใจในขณะนั้นก็เข้าใจ แต่ละเรื่องที่เป็นเรื่องภายใน เข้าใจไปโดยลำดับ เวลามีความเจ็บไข้ได้ป่วยท่านสอนวิธีพิจารณาให้ “เอ้า เวลามันเป็นไข้ มันเอาไข้มาจากไหน?” นี่ท่านสอนให้เป็นประโยชน์และได้คติสำหรับผู้ปฏิบัติ “มันหอบไข้ หอบหนาวมาจากไหน? มันก็เกิดขึ้นมาในกายนี้ไม่ใช่หรือ? เวลาหายมันจะไปหายที่ไหน? ถ้าไม่หายในที่มันเกิดขึ้นนี่ แม้ไม่หายมันก็ตายได้ด้วยกันทุกคนไม่มียกเว้นภายในร่างกายนี้ จงพิจารณาให้รู้มัน

ความทุกข์ทั้งมวลนั้นก็เป็น “สัจธรรม” ถ้าไม่พิจารณาสิ่งเหล่านี้จะพิจารณาอะไร? พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วย “สัจธรรม” สาวกก็ตรัสรู้ด้วย “สัจธรรม” เราจะตรัสรู้ด้วยความอ่อนแอนั้นได้หรือ! มันเข้ากันได้หรือกับธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นเราก็มาขวางธรรมซี ท่านว่า

มันเกิดที่ตรงไหนอาการใด เราถามดู มันเจ็บที่ตรงนั้นปวดที่ตรงนี้น่ะ อะไรเป็นผู้เจ็บอะไรเป็นผู้ปวด? ค้นเข้าไปให้เห็นต้นเหตุมันซิ มันเกิดที่ตรงไหน เจ็บที่ตรงไหน อะไรเป็นเหตุให้มันเจ็บมันปวด อะไรเป็นผู้ไปสำคัญมั่นหมาย เวลาตายแล้วเขาเอาไปเผาไฟ มันเจ็บมันปวดไหม? ใครเป็นผู้หลอกลวงตัวเองว่าเจ็บนั้นปวดนี้ พิจารณาให้เห็นต้นเหตุของมันซี

ถ้าเป็นนักปฏิบัติ ไม่รู้ต้นเหตุไม่รู้ทั้งผล คือกองทุกข์ มันจะแก้ทุกข์ได้ยังไง ปัญญามีไว้ทำไม? ทำไมไม่คิดไม่ค้นขึ้นมาใช้ แน่ะ ท่านว่า

“มีสติปัญญาก็เพื่อระลึกรู้ แล้วพิจารณาสิ่งต่างๆ มีทุกขเวทนา เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในร่างกายและจิตใจของเราเอง”

ท่านสอนย้ำลงไปโดยลำดับๆ หากผู้ฟัง ฟังด้วยความตั้งใจ เฉพาะอย่างยิ่งผู้มีนิสัยอาจหาญ จะยิ่งจับใจความได้ง่าย ถูกจริตทันทีๆ จับปุ๊บๆ ในเวลาจากท่านไปอยู่ในสถานที่บำเพ็ญใด ก็เหมือนกับท่านไปแสดงกังวานอยู่ในหัวใจ โอวาทของท่านจำได้ทุกแง่ทุกกระทง ที่สำคัญๆ สำหรับที่จะเอามาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ เช่น อยู่ในที่สำคัญๆ ประหนึ่งว่าท่านมาอยู่ที่หัวใจเราเลย ใจอาจหาญร่าเริงจริงๆ แม้การฝึกการรู้ธรรมเห็นธรรม การเข้าใจในอรรถในธรรม ก็เข้าใจด้วยความอาจหาญ เข้าใจด้วยความเป็นนักต่อสู้จริง ไม่ได้เข้าใจด้วยความอ่อนแอ ความท้อแท้ ความเหลวไหล ความถอยทัพกลับแพ้โดยลำดับ นั้นไม่ใช่ทางที่กิเลสจะกลัวและสิ้นไปจากใจ ไม่ใช่ทางที่จะแก้กิเลส หรือรู้เรื่องของกิเลสทั้งหลายและถอดถอนได้เลย

นี่ศาสนา!ไม่มีอะไรที่จริงที่แท้แม่นยำต่อความถูกต้องจะเทียบเท่าได้ หาที่แย้งไม่มี ถ้าดำเนินตามหลักศาสนาแล้ว เรือนจำตะรางตะเริงอะไรเหล่านี้ไม่ต้องมี มีทำไมก็ไม่มีใครจะทำผิดนี่ มองเห็นตามเหตุตามผล ยอมรับความผิดความถูก ชั่ว ดี ของกันและกัน ด้วยหลักเหตุผลเป็นเครื่องรับรองแล้ว ก็อยู่ด้วยกันได้เท่านั้นคนเรา

เท่าที่ต้องมีกฎบังคับ มีตะรางหรือคุก ก็เพราะไม่ยอมรับผิด ผิดก็ไม่ยอมรับว่าผิด เห็นตัวทำอยู่หยกๆ ก็ไม่ยอมรับ จนติดคุกติดตะรางแล้ว เวลาถูกถามยังว่า “เขาหาว่าขโมยนั้นขโมยนี้”ไปเสียอีก ทั้งๆ ที่ตัวขโมยเอง นี่คือความไม่ยอมรับตามเหตุตามผลตามความจริงนั้นเอง แม้ภายในจิตใจเกี่ยวกับเรื่องของตัวโดยเฉพาะก็เหมือนกัน ไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นมันถึงได้รับความทุกข์ความลำบาก ถ้ายอมรับตามหลักความจริงเสีย สิ่งที่แสดงขึ้นเป็นหลักความจริงทั้งนั้น ย่อมมีการยุติกันได้ด้วยความจริง แม้เกิดทุกข์ทางร่างกายก็ไม่ทำใจให้กำเริบ เพราะความรู้เท่าทัน

ตามหลักธรรม ทุกข์เคยปรากฏภายในร่างกายและจิตใจเรา ตั้งแต่วันรู้เดียงสาภาวะมา ไม่น่าตื่นเต้นตกใจ เสียใจ จนกลายเป็นโรคภายในจิตขึ้นมา จิตตภาวนาจึงเป็นหลักวิชาความรู้รอบตัวได้ดีเยี่ยม

ผู้ปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ จึงไม่ตื่นเต้นตกใจเวลาเกิดทุกข์ภายในร่างกาย และยังจับจุดของทุกข์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาแยกแยะตามความจริงของมัน จนเกิดอุบายแยบคายและอาจหาญชาญชัยขึ้นมาอย่างน่าชม

สำคัญที่มีการคบค้าสมาคมกับบัณฑิตนักปราชญ์ผู้ฉลาดแหลมคม ถ้าเรายังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยครูอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอน การได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็ค่อยซึมซาบเข้าไปด้วยการได้ยินได้ฟังนั้นๆ แล้วค่อยกลมกลืนกันเข้าไปกับจริตนิสัย จนกลายเป็น “จิตมีธรรม” จิตเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ขึ้นมา ต่อไปก็สามารถรักษาตัวได้ เป็น “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ขึ้นมา

ฉะนั้นการใดก็ตามเมื่อตนยังไม่สามารถ จึงต้องอาศัยผู้อื่นไปก่อน การอยู่ด้วยกันกับท่านผู้ดี ย่อมมีความสงบสุขกลมกลืนกันไปโดยทางจริตนิสัยเป็นสำคัญ จนกลายเป็นนิสัยอันดีงามไปได้ เช่นเดียวกับการคบค้าสมาคมกับคนชั่ว ทีแรกเราไม่ได้เป็นคน “ชั่ว” แต่เวลาคบกันไปนานๆ ก็กลมกลืนกันไปเอง จนกลายเป็นคนชั่วโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อชั่วเต็มที่แล้ว ยิ่งทำให้มืดมิดปิดทวารหนักเข้าไป และถือว่าตนดียิ่งขึ้น ใครมาพาลไม่ได้ ความดีประเภทนั้นจะโดดออกโรงทันที นี่คือความดีของคนชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งชั่วที่บัณฑิตกลัวกันทั่วดินแดน

คนชั่วกับคนดี ความชั่วกับความดี มันกลับกันอย่างนี้แล คนชั่วไม่อาจมองเห็นความจริงว่าชั่ว เลยเสกสรรปั้นยอขึ้นมาว่า “เราดีเราเก่งเราสามารถ เราเป็นเสืออันลือชื่อกับเขาคนหนึ่ง” เป็นยังงั้นไปเสีย!

เพราะฉะนั้นการคบค้าสมาคมกับครูอาจารย์กับบัณฑิต จึงเป็นความสำคัญสำหรับผู้บำเพ็ญเพื่อเป็นคนดี และหวังความสุขความเจริญให้กับตัว เพราะท่านสอนท่านอบรมให้บ่อยๆ กิริยามารยาทของท่านที่เราได้เห็นอยู่ทุกวันๆ นั้น จะซึมซาบเข้าไปและบำรุงจิตใจเราไปโดยลำดับ ให้ยึดเป็นคติตัวอย่างอันดีไปเรื่อยๆ ท่านแสดงออกมาในแง่ใดก็เป็นอรรถเป็นธรรมทั้งนั้น

ยิ่งท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วก็ยิ่งหาสิ่งเปรียบเทียบไม่ได้ อย่างท่านอาจารย์มั่น เป็นความแน่ใจว่าท่านสิ้นกิเลสแล้ว ฟังอรรถฟังธรรมของท่านมันหายสงสัย โดยที่ท่านไม่ได้บอกว่าท่านสิ้นนะ ท่านไม่ได้บอกว่าท่านเป็นพระอรหัตอรหันต์อะไรเลย แต่ท่านบอกโดยการแสดงธรรมของจริงทุกขั้น ให้บรรดาผู้ไปศึกษาอบรมฟังอย่างถึงใจไม่สงสัย จึงกล้าพูดอย่างเต็มปากไม่กระดากอายว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ คือพระอรหันต์องค์สำคัญองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันที่แสนหายาก เพราะเป็นสมัยที่อดอยากขาดแคลนผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ นอกจากจะปฏิบัติเพื่อกำจัดความเป็นพระอรหันต์ ด้วยการสั่งสมกิเลสจิปาถะเท่านั้นทั้งท่านและเรา ไม่อาจตำหนิใครได้

ขอย้อนกลับมา “เวทนา” อีก การพิจารณาทุกขเวทนานี้สำคัญมาก ทั้งนี้เพราะได้ยินได้ฟังจากท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเอาจริงเอาจังมาก เวลาเจ็บไข้สำหรับพระผู้ปฏิบัติอยู่ในวัดท่าน บางทีท่านเดินไปเองถามว่า “ท่านพิจารณาอย่างไร?” แล้วท่านก็ย้ำธรรมลงไปเลยว่า “ให้ค้นลงไปตรงนี้ มันทุกข์ที่ตรงไหน จงพิจารณาให้เห็นความจริงของทุกข์” แล้วก็สอนวิธีพิจารณา “อย่าไปถอย ความถอยนั่นแหละคือการเพิ่มทุกข์” ท่านว่าอย่างนั้น

“ความเป็นนักสู้ ต่อสู้ด้วยปัญญานั้นแลเป็นสิ่งที่จะได้ชัยชนะ คือ รู้เท่าทันกับทุกขเวทนา ซึ่งเราถือว่าเป็นข้าศึกอันสำคัญต่อเรา ความจริงเวทนานั้น ไม่ได้เป็นข้าศึกต่อผู้ใด ความรู้สึกของเขาไม่มี เพียงเป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น” ท่านสอน

“ให้พิจารณาลงไป ทุกข์มากทุกข์น้อย เราไม่ต้องไปคิดไปคาดหมายมัน ขอให้ทราบความจริงของมันด้วยปัญญาของเรา ใจเราจะไม่โกหกเจ้าของ” ท่านว่า

ก็ใจเรานี่แหละตัวโกหก เพราะผู้ที่โกหกมันมีอยู่กับใจ มันโกหกใจให้หลงสำคัญมั่นหมายไปต่างๆ ความโกหกกับความโง่มันเชื่อกันง่ายๆ คนฉลาดกับคนโง่ ความโกหกกับความโง่มันก็หลอกกันได้ง่ายๆ ความฉลาดของกิเลสกับความโง่ของเรามันเข้ากันได้ง่าย ธรรมท่านจึงแยกแยะออกให้พิจารณาจนถึงความจริง แล้วเชื่อด้วยความจริง นั้นแลเป็นการได้ชัยชนะไปโดยลำดับๆ แยกแยะให้เห็นทุกข์ซึ่งมีเป็นประจำ อย่าปลีกหนีไปไหน ทุกข์มากทุกข์น้อยให้พิจารณาอยู่ที่ตรงนั้น พิจารณาอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าจะจ้องก็จ้องอยู่ที่ตรงนั้น เมื่อพิจารณาสาเหตุของมัน ทุกข์เป็นมากแค่ไหนก็ให้ค้นลงไป

คำว่า “ทุกข์” นี้อาศัยอะไรเป็นที่ตั้ง ทุกข์อาศัยกายเป็นที่ตั้ง อาศัยความรู้สึกเป็นเหตุที่จะให้ทุกข์กำเริบ ความรู้สึกหมายไปต่างๆ นานา นั่นแหละทำให้ทุกข์กำเริบขึ้น ความรู้สึกนี้ต้องแก้ด้วยการพิจารณาให้ทราบทั้งเรื่องของทุกข์ ว่าเป็นเช่นนั้น ทราบทั้ง “ฐานเป็นที่เกิดแห่งทุกข์” เช่นร่างกายนี้ส่วนใดก็ตาม จงให้ทราบชัดเจนว่า ฐานนั้นมันเป็นทุกข์จริงไหม เช่น

เป็นทุกข์ในกระดูก ในเนื้อในหนังส่วนใด เนื้อหนังนั้นเป็นเนื้อหนังอยู่เช่นนั้น ทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่เช่นนั้น แม้จะอาศัยกันอยู่ก็เป็นคนละชิ้นคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน จิตผู้รู้รับทราบสิ่งนั้นก็เป็นจิตอันหนึ่ง แต่จิตนี้เป็นผู้หลง แล้วก็ไปสำคัญว่านั้นเป็นทุกข์ นี้เป็นทุกข์ รวมทั้งหมดนั้นเข้ามาเป็น “ตัว” ว่า “เรา” ทุกข์ที่นั่น เราทุกข์ที่นี่ ไม่อยากจะให้ “เรา” เกิดทุกข์ อยากจะให้ทุกข์หายไปเสีย ความอยากนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งขึ้นมาส่งเสริม จึงเกิดความทุกข์ความลำบากมากขึ้น ใจก็เป็นทุกข์ ที่เป็นทุกขเวทนาทางกายก็เป็นทุกข์ ทางใจก็กำเริบขึ้นอีกด้วยความทุกข์ เพราะอยากให้เป็นอย่างใจหวัง ก็เลยเสริมกันขึ้นไป นี่เป็นความโง่ของตัวขนทุกข์มาทับถมตัวเอง

ความฉลาด ต้องพิจารณา มองทุกขเวทนาที่มีอยู่ในใจว่า เกิดจากอะไร อาศัยอะไรอยู่ อาศัยร่างกาย ร่างกายส่วนใด หรือทุกข์มันเกิดอยู่ที่จุดใด แล้วดู “กาย” กับ “เวทนา” มันเป็นอันเดียวกันไหม? รูปลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง เวทนาไม่มีรูป ไม่มีลักษณะท่าทางต่างๆ ปรากฏแต่ความทุกข์เท่านั้น

ส่วนร่างกายมีรูปร่าง มีสีสันวรรณะ และก็มีอยู่ของมันอย่างนั้นตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด เวลาทุกข์เกิดขึ้นมันก็มีอยู่เช่นนั้น ทุกข์เป็นอันหนึ่งต่างหากจากสิ่งนี้โดยความจริง แต่อาศัยความ “วิการของร่างกาย” ให้เกิดขึ้นมา จิตก็เป็นผู้ไปรับรู้ ถ้าจิตมีปัญญาก็ควรรับทราบไปตามความจริงของมัน จิตก็ไม่กระทบกระเทือน ถ้าจิตลุ่มหลงก็ไปยึดสิ่งนั้นเข้ามา คือเอาความทุกข์นั้นเข้ามาเป็น“ตน” เป็นของตน แล้วก็อยากให้ทุกข์ที่ว่า เป็นตนเป็นของตนนั้นหายไป

นี่แหละที่แยกไม่ได้ เมื่อทุกข์เข้ามาเป็นตนแล้วมันจะแยกออกได้อย่างไร ถ้าเป็นแต่ทุกข์เป็นความจริงอันหนึ่งต่างหาก ร่างกายก็เป็นความจริงอันหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่อันเดียวกัน ต่างอันต่างมี ต่างอันต่างจริง อยู่ตามสภาพของตน เมื่อความรู้เป็นอย่างนี้จึงจะแยกได้

ถ้าเห็นทุกข์ว่าเป็น “ตน” แล้ว แยกวันยังค่ำก็ไม่ออก เพราะยึดถือว่า “อันนี้เป็นตน” แล้วจะแยกได้อย่างไร เพราะตนไม่ทำการแยกแยะด้วยปัญญานี่ ก็ต้องถือว่าเป็น “ตน” อยู่อย่างนี้ เมื่อ “ขันธ์” กับ “จิต” กลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วแยกไม่ได้ เมื่อพยายามให้สติปัญญาพิจารณาเข้าไปเห็นความจริงของมันแล้วว่า ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างจริง ของใครของเราอยู่เช่นนั้นอย่างซาบซึ้งเข้าในจิตใจ ทุกข์ค่อยๆ ระงับลงไปๆ ทั้งรู้เครื่องสืบต่อของทุกข์ที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องกับใจ เพราะมันก็ออกไปจากใจ เมื่อพิจารณาทุกข์แล้ว มันก็หดตัวเข้ามา หดตัวเข้ามาจนถึง “ใจ” เรื่องทุกขเวทนาทั้งมวล มันก็ออกไปจากใจที่ไปหมาย หรือที่เป็นทุกขเวทนา เพราะมันมีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอยู่โดยทาง“อุปาทาน” อย่างลึกลับ แต่เราไม่ทราบ

เวลาพิจารณาเห็นอย่างชัดเจนแล้ว เราจึงได้ตามทุกขเวทนาเข้ามา รู้เข้ามาๆ ทุกขเวทนาหดเข้ามา ย่นเข้ามาจนกระทั่งถึงใจ พอทราบว่าใจนี้เองเป็นตัวไปก่อ“อุปาทาน” ขึ้นมา แล้วให้จิตถือว่าเป็น “ตน” จึงเกิดความทุกข์ขึ้นมากมาย พอทราบอย่างนี้แล้ว ทุกข์ก็ระงับดับลงไป

อีกประการหนึ่ง พอทราบเช่นนี้ ทุกข์ก็จริง แต่ใจไม่ไปยึด ถึงทุกข์จะไม่ดับก็ตาม เรื่องจิตก็เป็นจิต ไม่สืบต่อกับด้วยอุปาทาน ต่างอันต่างจริง นี่เรียกว่า “จิต เป็นตัวของตัว” มีความร่มเย็นเป็นสุขและรอบคอบอยู่ภายในตัว ในท่ามกลางแห่งความทุกข์ของขันธ์ นี่ชื่อว่า “รู้จิตว่าเป็นของจริงอันหนึ่ง เช่นเดียวกับขันธ์ทั้งหลายเป็นของจริงแต่ละอย่าง

นี่สำหรับผู้กำลังดำเนินปฏิปทา กำลังดำเนินเพื่อรู้เท่าทัน “ขันธ์ห้า” มีทุกขเวทนาเป็นสำคัญ

แต่สำหรับท่านผู้เข้าใจโดยตลอดจนถึงกับเป็น “อกุปปจิต อกุปปธรรม” ไม่มีการกำเริบเป็นอื่นต่อไปแล้วนั้น” ท่านไม่มีปัญหาอะไรเลย จะเป็นทุกข์มากทุกข์น้อยไม่เป็นปัญหาทั้งสิ้น เพราะจิตท่านจริงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาไหนที่จิตของท่านซึ่งบริสุทธิ์แล้วจะกลายเป็นเศร้าหมอง จะกลายเป็นโลกขึ้นมา ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นอาการแห่งขันธ์จะแสดงขึ้นมาอย่างไร ท่านจึงทราบตามหลักธรรมชาติ ขันธ์นั้นก็ปรากฏขึ้นตามหลักธรรมชาติ ดับไปตามธรรมชาติ หรือตั้งอยู่ตามธรรมชาติ แล้วดับไปตามธรรมชาติ จิตก็รู้ตามธรรมชาติของตนโดยไม่ต้องบังคับบัญชากันแต่อย่างใด จิตของท่านผู้รู้รอบขอบชิดโดยตลอดทั่วถึงแล้วเป็นอย่างนี้

ส่วนเรากำลังพิจารณาขันธ์ ก็เพื่อจะทราบและถอยเข้ามาเป็นลำดับ แม้ว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นในระยะที่กำลังดำเนิน จะยังไม่สมหวังก็ตาม แต่การพิจารณา “ทุกข์” ทั้งหลาย ก็เพื่อแยกจิตออกจากทุกข์ ไม่ไปพัวพันในทุกข์ และไม่ถือมั่นทุกข์ว่าเป็นตน ขณะที่ทุกข์เกิดขึ้นมากหรือน้อย ไม่ให้ไปกว้านเอาทุกข์นี้มาเป็นตน ซึ่งเท่ากับเอาไฟมาเผาตน ก็สบาย!

เพราะฉะนั้นทุกข์จึงเป็นหินลับปัญญาได้ดี ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อย จงกำหนดสติปัญญาจ้องอยู่ตรงนั้น แล้วย้อนคืนมาสู่จิต และ ขยายความรู้ออกไปหาเวทนาออกไปหากาย ซึ่งเป็นคนละสัดละส่วนอยู่แล้ว กายก็เป็นส่วนหนึ่ง เวทนาเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง ถอยไปถอยมา

ด้วยการพิจารณาทางปัญญา จนเป็นที่เข้าใจและทราบซึ้งใจจริงๆ ว่า “ขันธ์แต่ละอย่าง สักแต่ว่า… เท่านั้น” ไม่ปรากฏว่าเป็นอะไร เช่น เป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น เป็นเพียงความจริงแต่ละอย่างที่ปรากฏอยู่เท่านั้น เมื่อเข้าใจประจักษ์เช่นนี้ ใจย่อมเป็นตัวของตัวโดยอิสระในขณะนั้น และรู้ประจักษ์ว่าทั้งขันธ์ทั้งจิตต่างอันต่างจริง ไม่กระทบกระเทือนกัน

แม้ขณะจะตาย ใจก็จะรู้ทันเหตุการณ์จำเพาะหน้า ไม่สะทกสะท้านต่อทุกขเวทนาและความตาย เพราะจิตแน่ใจว่า “จิต เป็น จิต” คือเป็นคลังแห่งความรู้ ขันธ์แต่ละขันธ์เป็นเพียงอาการหนึ่งๆ เท่านั้น จิตจึงไม่กลัวตาย เพราะความแน่ใจตัวเองว่าจะไม่ไปล่มจมที่ไหน

แม้ยังไม่ถึงขั้นสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่จิตได้ฝึกหัดตนด้วยสติปัญญากับขันธ์ทั้งหลายจนเกรียงไกรอยู่แล้ว คือจิตอยู่กับสัจธรรม อยู่กับ “หินลับปัญญา” ปัญญาจะกระจายกำลังแผ่กว้างออกไป ใจจะผ่องใสและองอาจกล้าหาญเป็นลำดับ เพราะปัญญาเป็นเครื่องซักฟอก แม้ความดับจะมีขึ้นในขณะนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร!

ประการหนึ่ง ถ้าเรามีสติปัญญา พิจารณาทุกขเวทนาอย่างไม่ถอยหลัง จนเป็นที่เข้าใจแล้ว แม้ขณะจะตายจริงๆ ก็จะทราบว่า ทุกขเวทนานี้จะระงับดับไปก่อน แต่จิตจะไม่ดับ จะถอยตัวเข้ามา รู้ตัวอยู่ภายในตนโดยเฉพาะ แล้วผ่านไปในขณะนั้น คำว่า “เผลอสติ” ไม่มีสำหรับผู้ปฏิบัติถึงธรรมขั้นนี้ จึงเป็นที่แน่ใจว่า ผู้มีสติ แม้จะยังไม่สิ้นกิเลส ย่อมจะทราบชัดในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นเต็มที่ จนขันธ์จะทนอยู่ไม่ได้แล้ว จะสลายตัวไปจะตาย จิตถอนตัวออกจากนั้นมาสู่ความเป็นจิต คือเป็นตัวของตัวแล้วผ่านไป นี่เป็นธรรมขั้นสูงละเอียดมาก!

ฉะนั้นนักปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญเพื่อรู้ธรรมทุกขั้น จึงมักพิจารณาทุกขเวทนาอย่างเอาจริงเอาจัง บทเวลารู้ก็รู้อย่างถึงใจ และถือทุกขเวทนาเป็นต้น เป็นสัจธรรม เช่นเดียวกับที่ท่านสอนว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน” ฉะนั้น

ด้วยเหตุนี้การพิจารณาขันธ์เพื่อรู้ตามความเป็นจริง จึงไม่ควรหักห้ามต้านทานความจริง เช่น ร่างกายทนไม่ไหวก็ปล่อยไป ไม่ควรหวงไว้ เวทนามันก็ไปของมันเอง นี่เรียกว่า “สุคโต”

นี่แหละการพิจารณาจิต การปฏิบัติต่อใจที่ได้ผลประจักษ์ สำหรับผู้ปฏิบัติท่านปฏิบัติดังกล่าวมา เมื่อถึงคราวจวนตัวจริงๆ แล้วไม่หวังพึ่งใครทั้งนั้น ไม่ว่าพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร เพื่อนฝูง ใครต่อใคร ไม่พึ่งทั้งนั้น ต้องถอยจิตออกมาจากสิ่งที่เกี่ยวข้องพัวพันทั้งหลาย เข้ามาสู่จุดสำคัญที่กำลังตะลุมบอนกันอยู่

เวลานี้ให้ถือ “เวทนา” นี่แหละสำคัญ ในการพิจารณาในขณะที่จะแตกจะดับ ไม่ยอมถอย เป็นอย่างไรเป็นกัน! ขอให้รู้ ให้เข้าใจเรื่องนี้เท่านั้น ไม่ต้องไปคิดว่า การพิจารณา “ทุกขเวทนา” อย่างชุลมุนวุ่นวายนี้ แล้วเวลาตายทั้งที่จิตกำลังยุ่งอยู่อย่างนี้ จะไม่ไปสู่ “ทุคติ” หรือ?

จะไปทุคติที่ไหน! วุ่นก็วุ่นกับงานอันดีอันชอบธรรมนี่ วุ่นโดยที่รู้ หรือวุ่นเพื่อรู้ ด้วยความรู้นี่ ไม่ใช่วุ่นเพราะหลงนี้ ใจจดจ้องพิจารณาค้นคว้าอยู่ที่ทุกขเวทนานั่น เวลาจะไปจริงๆ ใจรู้นี่ ผู้มีสติท่านรู้ ใจถอยปั๊บเข้ามาทันที คือปล่อยงานที่กำลังทำนั้นทันที แล้วถอยพับเข้ามาสู่ตัวของตัว เป็นตัวของตัว คือจิตล้วนๆ แล้วผ่านไปเลยแบบ “สุคโต” เต็มภูมิของผู้ปฏิบัติ แม้จะยังไม่สิ้นกิเลสก็ตาม ก็เรียกว่า “มีกำลังเต็มตัว เต็มภูมิของตัว ตามขั้นของจิตของธรรม” การพิจารณา จิตตภาวนาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และพึ่งเป็นพึ่งตายตัวเองได้จริงๆ ไม่ต้องหวังพึ่งใครทั้งนั้น เป็นที่แน่ใจภายในตัวเอง สติปัญญามีกำลังเพียงใด ใจรู้ภายในตัวเอง ไม่ต้องไปถามใคร

ถ้าใจสามารถพิจารณาจนกระทั่งผ่านได้ในขณะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างหายสงสัยไม่มีปัญหาอะไรเลย เราจะมัวคิดว่าเราเป็นผู้หญิง เราเป็นฆราวาส เราไม่สามารถจะทำพระนิพพานให้แจ้งได้ นั้นเป็นความสำคัญผิดของเรา ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสประเภทหนึ่งหลอกเราเหมือนกัน

ธรรมเป็นของจริง และเป็นสมบัติกลางเสมอกัน ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่านักบวช ฆราวาส สติปัญญามีได้ด้วยกัน แก้กิเลสได้ด้วยกัน เมื่อพอใจจะแก้กิเลสได้ด้วยวิธีใด ของหญิงใด ชายใด ฆราวาสใด พระองค์ใดก็ตาม สามารถแก้ได้ด้วยกัน และพ้นไปได้ด้วยกัน ไม่ต้องไปสร้างปัญหากวนใจให้เสียเวล่ำเวลา เรามีอำนาจวาสนามาจากไหน นั่นอย่าไปคิด เรากำลังสร้างบุญวาสนาอยู่นี่ มากหรือน้อย ก็เห็นอยู่กับจิตนี่แหละ

จงพิจารณาดูตัวเรา มันโง่ที่ตรงไหน พยายามสั่งสมความฉลาด คือสติปัญญาขึ้นมา จึงเป็นความถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแท้

ที่นำมาตำหนิตนว่า เขาอยู่ในชั้นนั้นชั้นนี้ ส่วนเราไม่มีชั้นมีภูมิกับเขา ไปที่ไหนคนนั้นแซงขึ้นหน้าเรา คนนี้แซงขึ้นหน้าเรา ใครจะมาแซงหน้าเรา นอกจากกิเลสมันแซงหน้าหลอกเรา ให้น้อยเนื้อต่ำใจวาสนาน้อยต่างหาก นั่นเป็นความสำคัญผิดไปต่างหากให้เราเกิดท้อถอยน้อยใจตัวเอง เพราะกิเลสหาอุบายฆ่าโดยไม่รู้สึกตัว

เราอย่าไปคิดอย่างนั้น เรามีวาสนาเต็มตัวทุกคน ทำไมจะไม่เต็มตัว เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักบำเพ็ญบุญสุนทานอยู่ด้วยกัน วาสนาไม่ได้เป็นสิ่งของออกมาวางตลาดร้านค้าพอจะประกาศแข่งขันกัน วาสนามีอยู่กับตัวด้วยกันทุกคน ท่านไม่ให้ประมาทกันด้วยเรื่องอำนาจวาสนา แม้แต่สัตว์ท่านก็ยังไม่ให้ประมาทเขา คิดดูซี เพราะวาสนามีอยู่ภายในจิตใจของสัตว์ของคนด้วยกัน

การแก้กิเลส ก็ไม่ต้องไปคิดให้เสียเวล่ำเวลา เป็นการทำลายกำลังใจของตัว ความมุ่งมั่นของตัวให้ด้อยลงไป ด้วยความคิดว่า “เราเป็นผู้หญิง” เปล่าๆ เราเป็นผู้ชายเปล่าๆ เราเป็นนักบวชเปล่าๆ หรือเป็นฆราวาสเปล่าๆ ไม่มีมรรคผลติดตัวบ้างเลย คนอื่นเขามีกัน แต่เราไม่มี อายเขา ดังนี้ นั่นเป็นความคิดผิด ซึ่งจะทำให้เราเองเสียกำลังใจในการบำเพ็ญกุศลต่างๆ

ส่วนความคิดที่ถูกต้องคือ เวลานี้เรากำลังทำความเพียรด้วยสติ ด้วยปัญญา เพื่อแก้กิเลส และเพื่อพอกพูนกุศลผลบุญให้มากมูนขึ้นไปโดยลำดับ ซึ่งเป็นการสร้างบารมีโดยตรงอยู่แล้ว เรามีวาสนาเกิดมาในท่ามกลางแห่งพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญวาสนาบารมีเต็มความสามารถเรื่อยมาจนบัดนี้ ดังนี้

ผู้หญิงก็มีสติปัญญาได้เช่นเดียวกับผู้ชาย เพราะผู้หญิงผู้ชายมีกิเลสด้วยกัน การแก้กิเลสก็แก้ด้วยสติด้วยปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนด้วยกัน กิเลสมีอยู่ที่ไหน ก็มีอยู่ที่ใจด้วยกัน

เมื่อสติปัญญาสมบูรณ์พร้อมเมื่อใด เป็นผ่านไปได้ด้วยกัน ไม่มีปัญหาว่าจะต้องเป็นนักบวช นี่คือความจริงแห่ง “สัจธรรม” ที่ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ บรรดาที่เป็นมนุษย์แล้วไม่เลือกเพศหญิงเพศชาย ขอให้บำเพ็ญไปเถิด เพราะธรรมเป็นกลางๆ ฟังได้เข้าใจได้ด้วยกันทั้งผู้หญิงผู้ชายทั้งนักบวชและฆราวาส ปฏิบัติได้ แก้กิเลสได้ กิเลสจะไม่นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย คนเรามีกิเลสด้วยกัน แม้แต่พระที่เป็นนักบวชก็มีกิเลสจะว่ายังไง! ท่านจึงต้องแก้ของท่าน ถ้าไม่แก้ก็นอนจมอยู่กับกิเลส เช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไปที่ไม่สนใจ “ธรรม” นั้นแล หรือยิ่งกว่าคนทั่วไปก็ได้

ธรรมจึงไม่สำคัญว่าต้องเป็นนักบวชถ่ายเดียว มันสำคัญที่จะแก้กิเลสด้วยความพากเพียรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะต้องสนใจในจุดนี้ให้มาก

ส่วนความพ้นทุกข์ พ้นที่ไหน พ้นในที่ที่มีทุกข์นั้นแล แก้กิเลสได้ก็พ้นทุกข์ ถ้าแก้ไม่ได้ จะเป็นเพศไหนก็ต้องเป็นทุกข์อยู่ด้วยกัน

นี่แหละพระศาสนาอยู่ที่จิตใจ ไม่ได้อยู่ที่อื่นๆ ถ้าทำให้อาภัพก็อาภัพได้ ที่จิตเรานั้นแหละ จะเป็นนักบวชหรือฆราวาส ก็อาภัพได้ทั้งนั้นถ้าทำตัวเป็นผู้อาภัพ จะทำให้ศาสนารุ่งเรืองภายในใจก็ทำได้ ศาสนาเจริญ เจริญที่ไหน ก็เจริญที่ใจไม่ได้เจริญที่อื่น สำคัญที่ใจ สำคัญที่การปฏิบัติของคนเรา กิริยามารยาทที่แสดงออก เมื่อใจเจริญแล้ว อาการนั้นๆ ก็เจริญไปด้วยความสวยงามน่าดูน่าชม เฉพาะอย่างยิ่งจิตใจ มีความเจริญรุ่งเรืองภายในตัว มีสติ มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตัวอยู่เสมอแล้ว เรียกว่า “ใจมีความเจริญ” กิเลสไม่ค่อยจะมาทำลายได้ นี่แหละ “ศาสนาเจริญ”

เราพยายามพิจารณาแก้ไปโดยลำดับ คำว่า “กิเลสๆ” น่ะ ไม่มีกว้างไม่มีแคบ ไม่มีมากมีน้อยเกินขอบเขตแห่งการแก้การถอดถอนของเรา มีอยู่ในดวงใจนี้เท่านั้น จงพิจารณาลงไปที่นี่ ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย นักบวชหรือฆราวาส กิเลสตัวเศร้าหมองมีอยู่ในใจด้วยกัน หนาแน่นขนาดไหน คิดดูก็รู้ได้ เช่นความมืด มันเคยมืดมาตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ตาม พอเปิดไฟขึ้นเท่านั้นความมืดก็หายไปหมด ความมืดไม่เห็นเอาอะไรมาอวดว่า “ข้าเคยมืดมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้วนี่ เพียงไฟนี้จะมาเปิดไล่ความมืดของข้าออกไปนั้น มันเป็นไปไม่ได้” ไม่มีทาง ดังนี้ แต่เมื่อเหตุผลพร้อมแล้วความมืดต้องหายไปหมด ความสว่างเกิดขึ้นแทนที่ แม้ความมืดจะเคยมืดมาตั้งกัปตั้งกัลป์ ก็หายไปหมดในขณะนั้น

กิเลสมันจะหนาแน่นเพียรไร และเคยเป็นเจ้าครองใจมานานก็ตาม ขอให้พิจารณาทางด้านสติปัญญาด้วยดี เมื่อสติปัญญาสามารถแล้วก็รอบตัวทันที กิเลสแม้จะเคยอยู่ในจิตใจเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์ ก็สลายตัวลงไปทันที เช่นเดียวกับความมืดที่เคยมีอยู่นั้นแล พอตามไฟขึ้น ความมืดก็หายไป ความสว่างก็เกิดขึ้นแทนที่ด้วยอำนาจของสติปัญญาภายในจิต ก็สว่างจ้าด้วย “ธมฺโม ปทีโป” เป็นธรรมประทีปในขณะนั้น

มีเท่านี้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องพิจารณา เอาให้เห็น ศาสนาอัศจรรย์ อัศจรรย์ที่ไหน? ศาสนาเจริญ เจริญที่ไหน? ที่ท่านว่า “พ้นทุกข์” พ้นที่ไหน? ก็มีอยู่ที่ใจนี้เท่านั้น! ขยายออกมาก็เป็นสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

(๑) ทุกข์ เราก็ทราบว่าทุกข์ เพราะเราไม่ใช่คนตาย

(๒) สมุทัย เป็นสิ่งที่จะส่งเสริม หรือผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้น มีอะไรบ้าง? ท่านก็สอนว่า “นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี, เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา.” เป็นต้น เราก็ทราบ อะไรที่มันรักมันใคร่ รักใคร่ในสิ่งใดบ้าง เราพยายามแก้ไขมัน รักใคร่ในขันธ์ห้า เฉพาะอย่างยิ่งในขันธ์ห้าว่าเป็น “ตัวเรา” นี้แล จงพยายามรู้เท่าทันมันโดยลำดับ แล้วยังมีรักใคร่อะไรอีก รักใคร่ในจิต ติดในจิต สงวนในจิต ก็แก้ในจิต มันรักที่ตรงไหน นั่นแหละคือตัวกิเลสมันอยู่ตรงนั้น แก้เข้าไปๆ จนกระทั่งถึงความจริงแล้ว ใจก็ไม่รักไม่ชัง เพราะหมดแล้ว! กิเลสหมดไปแล้ว ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ มันไม่มี ใจเป็นหลักธรรมชาติภายในตัวล้วนๆ นั่นแหละเป็นธรรมชาติที่ต้องการแท้!

(๓) การพิจารณาเพื่อธรรมนี้ ก็คือ มรรค มี สติ ปัญญา เป็นสำคัญ

(๔) นิโรธ ก็คือ ความดับทุกข์นั่นเอง ดับไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่ง “มรรค” มี ความสามารถเต็มที่แล้ว นิโรธ ก็ดับทุกข์ทั้งมวลภายในใจไม่มีเหลือ ขณะที่นิโรธทำการดับทุกข์สิ้นสุดลง อะไรที่รู้ว่าทุกข์ดับไป กิเลสดับไป อะไรที่รู้รู้นั้นแล คือผู้บริสุทธิ์ ผู้บริสุทธิ์นี้แลที่นอกจาก “สัจธรรม” ไป เป็นธรรมวิเศษอัศจรรย์! “สัจธรรม” นั้นเป็นกิริยา เป็นอาการ เป็นสมมุติ “นิโรธ” ก็เป็นสมมุติ และเป็นกิริยาที่ดับทุกข์ เป็นสมมุติ ทุกข์ดับไปหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้ที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นไม่ใช่ “สัจธรรม” นั่นคือความบริสุทธิ์ของจิต ถ้าจะเรียก “นิพพาน” ก็เรียกได้ เรียกอะไรก็ไม่ขัดทั้งนั้น เมื่อถึงขั้นไม่ขัดแล้ว ไม่ขัดไม่แย้งใครทั้งหมด ตัวเองก็ไม่แย้ง อะไรก็ไม่แย้ง รู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่าง พูดไปได้ทั้งนั้นไม่มีปัญหาอะไรเลย ขอให้รู้ธรรมวิเศษอัศจรรย์นี้เถิด ความเลิศ หากเป็นเองไม่ต้องเสกสรร

นี่แหละศาสนาแท้ จงค้นที่ตรงนี้ ค้นลงไป การปฏิบัติศาสนา เวลารู้ก็มารู้อยู่ที่ตรงนี้ ศาสนาเจริญ เจริญที่นี่ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สัตว์โลกพ้นจากทุกข์ ท่านก็สอนลงที่นี่ และพ้นที่นี่ไม่ได้พ้นที่ไหน เราก็เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง และอยู่ในข่ายแห่งโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ในหมู่แห่งพุทธบริษัท เป็นผู้มีสิทธิ์ด้วยกันในการปฏิบัติการถอดถอนกิเลสให้พ้นจากทุกข์ ในบริษัท ๔ นี้มีสิทธิ์ด้วยกันทั้งนั้น ที่จะทำตนให้แจ้งถึงพระนิพพานได้

ขอให้พินิจพิจารณาทำความกล้าหาญต่อสู้กับสิ่งที่ควรต่อสู้ภายในจิตใจของตน สั่งสมความกล้าหาญ สั่งสมสติปัญญาขึ้นให้เพียงพอ และหาอุบายคิดค้นต่างๆ ให้เกิดขึ้นจากตัวเอง การคิดค้นเองนี้แลเป็นที่ชอบธรรม เป็นสมบัติของตนแท้ ครูบาอาจารย์ท่านหยิบยื่นให้เป็นชิ้นเป็นอัน นี้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก พอเป็นเงื่อนหรือพอเป็นแนวทาง นำไปพินิจพิจารณาให้แตกแขนงกว้างขวางออกไป กลายเป็นสมบัติของเราขึ้นมา

อันธรรมใดที่เป็นสมบัติซึ่งเกิดขึ้นมาด้วยอุบายของเรานั้น เป็นสมบัติของตนแท้ กินไม่หมด หากคิดหากค้นไปได้ร้อยสันพันคม ในการถอนถอดกิเลสชนิดต่างๆ กระทั่งกิเลสหลุดลอยไปเพราะอุบายของเราเอง โดยอาศัยอุบายแง่ต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้นั้นเป็นต้นทุน นี้แลเป็นธรรมของเราแท้ เกิดขึ้นมามากน้อยเป็นธรรมของเราทั้งสิ้น เรียนจากตำรับตำราก็เป็นของพระพุทธเจ้า เราหยิบยืมท่านมาจากครูบาอาจารย์ ก็หยิบยืมท่านมา เว้นแต่ในขณะที่ท่านแสดงธรรม เราเข้าใจในธรรมนั้น แก้กิเลสไปในขณะนั้น ก็เป็นสมบัติของเราในขณะที่ฟัง ต่อจากนั้นเราก็นำอุบายของท่านไปพิจารณาใคร่ครวญ แตกแขนงออกด้วยปัญญาของเราเอง เป็นสมบัติของเรา ทั้งฝ่ายเหตุ คือ การพินิจพิจารณา ทั้งฝ่ายผล คือที่เราได้รับเป็นที่พึงพอใจโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ นั่นเป็นผลของเราล้วนๆ มีอยู่กับเรา ไม่มีผู้ใดมาแบ่งสันปันส่วนเราได้เลย

นี่แหละความเลิศ เลิศขึ้นที่นี่ ไม่ได้เลิศที่ไหน เพราะฉะนั้นจงพยายามหาความเลิศ ความประเสริฐ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา ด้วยการขวนขวายบำเพ็ญ ความรู้นี้แล ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่จะเป็นความเลิศประเสริฐ

แต่เวลานี้ใจถูกสิ่งสกปรกโสมมหาคุณค่าไม่ได้ปกคลุมอยู่ จึงกลายเป็นของไม่มีคุณค่าเท่าที่ควรจะเป็น เวลานี้เรากำลังสำรอกปอกกิเลสประเภทต่างๆ ออกโดยลำดับๆ เมื่อปอกเต็มกำลังจนหมดไม่มีในดวงใจแล้ว ใจก็บริสุทธิ์เต็มภูมิ ความเลิศปรากฏขึ้นมาในใจดวงนี้แล ความเลิศจึงเลิศที่ตรงนี้แหละ ไม่ต้องไปหาอะไรที่ไหนอีก เพราะถึง “เมืองพอ” อย่างเต็มภูมิแล้ว

เอาละ ขอยุติ