จิตว่างเพราะวางกาย

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม จิตว่างเพราะวางกาย เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ขณะฟังเทศน์ให้จิตอยู่กับตัวไม่ต้องส่งออกไปที่ไหน ให้รู้อยู่จำเพาะตัวเท่านั้น แม้แต่ที่ผู้เทศน์ก็ไม่ให้ส่งออกมา จะเป็นทำนองคนไม่อยู่บ้าน ใครมาที่บ้านก็ไม่ทราบทั้งคนร้ายคนดี จิตส่งออกมาอยู่ข้างนอก ความรู้สึกภายในก็ด้อยลงไปไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าจิตอยู่กับที่ความรู้สึกภายในมีเต็มที่ ความสัมผัสแห่งธรรมก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลประโยชน์เกิดจากการฟังธรรมก็ต้องเกิดขึ้น ในขณะที่จิตเรามีความรู้สึกอยู่กับตัวไม่ส่งออกภายนอก มีแต่กระแสธรรมที่เข้าไปสัมผัสใจเต็มเม็ดเต็มหน่วย จิตใจก็มีความสงบเย็นในขณะฟังธรรมทุกๆ ครั้งไป

เพราะเสียงธรรมกับเสียงโลกผิดกัน เสียงธรรมเป็นเสียงที่เย็น เสียงโลกเป็นเสียงที่แผดเผาเร่าร้อน ความคิดในแง่ธรรมกับความคิดในแง่โลกก็ต่างกัน ความคิดในแง่โลกเกิดความไม่สงบทำให้วุ่นวาย ผลก็ทำให้เป็นทุกข์ ความคิดในแง่ธรรมให้เกิดความซาบซึ้งภายในใจ จิตมีความสงบเยือกเย็น ท่านจึงเรียกว่า “ธรรม” เรียกว่า “โลก” แม้อาศัยกันอยู่ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน โลกกับธรรมต้องต่างกันเสมอไป เช่นเดียวกับผู้หญิงและผู้ชายที่อยู่ด้วยกันมองดูก็รู้ว่า นั่นคือผู้หญิง นี่คือผู้ชาย อยู่ด้วยกันก็รู้ว่าเป็นคนละเพศ เพราะลักษณะอาการทุกอย่างนั้นต่างกัน เรื่องของธรรมกับเรื่องของโลกจึงต่างกันโดยลักษณะนี้เอง

วันนี้เป็นวันถวายเพลิงศพท่านอาจารย์กว่า ไปปลงอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และ เคารพศพท่าน ขณะไปถึงพอก้าวขึ้นไปสู่เมรุท่านก็ไปกราบ เพราะมีความสนิทสนมกับท่านมานาน อาจล่วงเกินท่านโดยไม่มีเจตนาก็เป็นได้ เลยต้องไปกราบขอขมาท่าน

ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด มาคิดดูเรื่องปฏิปทาการดำเนินของท่านโดยลำดับ ท่านไม่เคยมีครอบครัว ท่านเป็นพระปฏิบัติมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์ได้ชมเชยเรื่องการนวดเส้นถวายท่าน เพราะบรรดาลูกศิษย์ที่มาอยู่อุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านมีมากต่อมากเรื่อยมา ซึ่งมีนิสัยต่างๆกัน ท่านเคยพูดเสมอว่าการนวดเส้นไม่มีใครสู้ท่านอาจารย์กว่าได้เลย ท่านว่า “ท่านกว่านี้ เราทำเหมือนกับหลับ ท่านก็เหมือนกับหลับอยู่ตลอดเวลา เราไม่ทำหลับท่านก็เหมือนหลับตลอดเวลา แต่มือที่ทำงานไม่เคยลดละความหนักเบา พอให้ทราบว่าท่านกว่านี้หลับไปหรือง่วงไป”

นี่ท่านอาจารย์มั่นท่านชมท่านอาจารย์กว่า แต่ดูอาการนั้นเป็นเรื่องของคนสัปหงก “เวลานวดเส้นให้เรานี้สัปหงกงกงันเหมือนคนจะหลับ แต่มือนั้นทำงานอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่าไม่หลับ พระนอกนั้นถ้าลงมีลักษณะสัปหงกแล้ว มือมันอ่อนและตายไปกับเจ้าของแล้ว” ท่านว่า

ท่านอาจารย์มั่นท่านเป็นพระพูดตรงไปตรงมาอย่างนั้น ว่า “มือมันตาย เจ้าของกำลังสลบ” ก็คือกำลังสัปหงกนั่นเอง ว่าเจ้าของกำลังสลบแต่มือมันก็ตายไปด้วย ตายไปก่อนเจ้าของ ท่านว่า “ท่านกว่าไม่เป็นอย่างนั้น การอุปถัมภ์อุปัฏฐากเก่งมาก!”

ทำให้เราคิดย้อนหลังไปว่า เวลาท่านอุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่น ดูจะเป็นสมัยที่อยู่ทางอำเภอ “ท่าบ่อ” หรือที่ไหนบ้างออกจะลืมๆ ไปเสียแล้ว

จากนั้นจิตใจของท่านก็เขวไปบ้าง การปฏิบัติก็เขวไปในตอนหนึ่ง คือท่านคิดอยากจะสึก ตอนเหินห่างจากท่านอาจารย์มั่นไปนาน แต่แล้วท่านก็กลับตัวได้ตอนที่ท่านอาจารย์มั่นกลับมาจากเชียงใหม่ เลยกลับตัวได้เรื่อยมาและไม่สึก อยู่มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้และถึงวาระสุดท้ายของท่าน

ได้ไปดูเมรุท่านดูหีบศพท่าน กราบแล้วก็ดูพิจารณาอยู่ภายใน นี่เป็นวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงแค่นี้ เดินไปไหนก็เดิน เที่ยวไปไหนก็ไป แต่วาระสุดท้ายแล้วจำต้องยุติกัน ไม่มีความเคลื่อนไหวไปมาวาระที่ขึ้นเมรุนี้ แต่จิตจะไม่ขึ้นเมรุด้วย!

ถ้าจิตยังไม่สิ้นจากกิเลสอาสวะ จิตจะต้องท่องเที่ยวไปอีก ที่ขึ้นสู่เมรุนี้มีเพียงร่างกายเท่านั้น ทำให้คิดไปมากมาย แม้แต่นั่งอยู่นั่นก็ยังเอามาเป็นอารมณ์คิดเรื่องนี้อีก ปกติจิตทุกวันนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน ถ้ามีอะไรมาสัมผัสแล้วใจชอบคิดหลายแง่หลายทางในธรรมทั้งหลาย จนเป็นที่เข้าใจความหมายลึกตื้นหยาบละเอียดแล้ว จึงจะหยุดคิดเรื่องนั้นๆ

ขณะนั้นพิจารณาถึงเรื่อง “วัฏวน” ที่วนไปวนมา เกิดขึ้นมาอายุสั้นอายุยาว ก็ท่องเที่ยวไปที่นั่นมาที่นี่ ไปใกล้ไปไกล ผลสุดท้ายก็มาที่จุดนี้ จะไปไหนก็มีกิเลสครอบงำเป็นนายบังคับจิตไปเรื่อยๆ จะไปสู่ภพใดก็เพราะกรรมวิบาก ซึ่งเป็นอำนาจของกิเลสพาให้เป็นไป ส่วนมากเป็นอย่างนั้น มีกรรม วิบาก และกิเลส ควบคุมไปเหมือนผู้ต้องหา ไปสู่กำเนิดนั้นไปสู่กำเนิดนี้ เกิดที่นั่นเกิดที่นี่ ก็เหมือนผู้ต้องหา ไปด้วยอำนาจกฎแห่งกรรม โดยมีกิเลสเป็นผู้บังคับบัญชาไป สัตว์โลกเป็นอย่างนี้ด้วยกัน ไม่มีใครที่จะเป็นคนพิเศษในการท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” นี้ ต้องเป็นเช่นเดียวกัน ผู้ที่เป็นคนพิเศษคือผู้ที่พ้นจากกงจักร คือเครื่องหมุนของกิเลสแล้วเท่านั้น

นอกนั้นร้อยทั้งร้อย มีเท่าไรเหมือนกันหมด เป็นเหมือนผู้ต้องหา คือไม่ได้ไปโดยอิสระของตนเอง ไปเกิดก็ไม่ได้เป็นอิสระของตนเอง อยู่ในสถานที่ใดก็ไม่เป็นอิสระของตนเอง ไม่ว่าภพน้อยภพใหญ่ภพอะไรก็ตาม ต้องมีกฎแห่งกรรมเป็นเครื่องบังคับบัญชาอยู่เสมอ ไปด้วยอำนาจของกฎแห่งกรรม เป็นผู้พัดผันพาให้ไปสู่กำเนิดสูงต่ำอะไรก็ตาม กรรมดีกรรมชั่วต้องพาให้เป็นไปอย่างนั้น ไปสู่ที่ดีมีความสุขรื่นเริง ก็เป็นอำนาจแห่งความดี แต่ที่ยังไปเกิดอยู่ก็เพราะอำนาจแห่งกิเลส ไปต่ำก็เพราะอำนาจแห่งความชั่ว และกิเลสพาให้ไป

คำว่า “กิเลส”ๆ นี้จึงแทรกอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะไปภพใด แม้ที่สุดพรหมโลก ก็ยังไม่พ้นที่กิเลสจะต้องไปปกครอง ถึงชั้น “สุทธาวาส” ก็ยังต้องปกครองอยู่ “สุทธาวาส ๕ ชั้นคือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิษฐา” เป็นชั้นๆ สุทธาวาส แปลว่าที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ถ้าแยกออกเป็นชั้นๆ อวิหา เป็นชั้นแรก ผู้ที่สำเร็จพระอนาคามีขั้นแรก อตัปปา เป็นชั้นที่สอง เมื่อบารมีแก่กล้าแล้วก็ได้เลื่อนขึ้นชั้นนี้ เลื่อนขึ้นชั้นนั้นๆ จนถึงชั้นสุทธาวาส ก็ยังไม่พ้นที่กิเลสจะไปบังคับจิตใจ เพราะเวลานั้นยังมีกิเลสอยู่ ถึงจะละเอียดเพียงใดก็เรียกว่า “กิเลส” อยู่นั่นแล จนกระทั่งพ้น เมื่อจิตเต็มภูมิแล้วในชั้นสุทธาวาส ก็ก้าวเข้าสู่อรหัตภูมิและถึงนิพพาน นั่นเรียกว่า “เป็นผู้พ้นแล้วจากโทษแห่งการจองจำ”

นี่พูดตามวิถีความเป็นไปของกิเลสที่เรียกว่า “วัฏวน” แล้วพูดไปตามวิถีแห่งกุศลที่สนับสนุนเราให้เป็นไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งผ่านพ้นไปได้ ด้วยอำนาจของบุญกุศลที่ได้สร้างไว้นี้ ส่วนอำนาจของกิเลสที่จะให้คนเป็นอย่างนั้น ไม่มีทาง มีแต่เป็นธรรมชาติที่กดถ่วงโดยถ่ายเดียว

บุญกุศลเป็นผู้ผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกช่วยตัวเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้บำเพ็ญกุศลให้มาก หากจะยังตะเกียกตะกายเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอยู่ ก็มีสิ่งที่ช่วยต้านทานความทุกข์ร้อนทั้งหลายพอให้เบาบางลงได้ เช่น เวลาหนาวมีผ้าห่ม เวลาร้อนมีน้ำสำหรับอาบสรง เวลาหิวกระหายก็มีอาหารรับประทาน มีที่อยู่อาศัย มีหยูกยาเครื่องเยียวยารักษา พอไม่ให้ทุกข์ทรมานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย บุญกุศลคอยพยุงอยู่เช่นนี้จนกว่าจะพ้นไปได้ตราบใด ตราบนั้นจึงจะหมดปัญหา แม้เช่นนั้นบุญกุศลก็ยังปล่อยไม่ได้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่บุญกุศลจะสนับสนุนได้

ที่กล่าวมาทั้งนี้เป็นคำพูดของนักปราชญ์ ผู้เฉลียวฉลาดแหลมคมในโลกทั้งสามไม่มีใครเสมอเหมือนได้ คือพระพุทธเจ้า ถ้าใครไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วก็แสดงว่า ผู้นั้นหมดคุณค่าหมดราคา ไม่มีสาระอันใดเลยพอที่จะรับความจริงไว้ได้ แสดงว่ากายก็ปลอมทั้งกาย จิตก็ปลอมทั้งจิต ไม่สามารถรับความจริงอันถูกต้องนั้นได้ เพราะความจริงกับความปลอมนั้นต่างกัน

ธรรมเป็นของจริง แต่จิตเป็นของปลอม ปลอมเต็มที่จนไม่สามารถจะรับธรรมไว้ได้ อย่างนี้มีมากมายในโลกมนุษย์เรา ส่วนใจด้านหนึ่งจริงอีกด้านหนึ่งปลอม ยังพอจะรับธรรมไว้ได้ รับธรรมขั้นสูงไม่ได้ ก็ยังรับขั้นต่ำได้ตามกำลังความสามารถของตน นี่ก็แสดงว่ายังมีขาวมีดำเจือปนอยู่บ้างภายในจิต ไม่ดำไปเสียหมดหรือไม่ปลอมไปเสียหมด คนเราถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็แสดงว่าหมดคุณค่าภายในจิตใจจริงๆ ไม่มีชิ้นดีอะไรพอที่จะรับเอาสิ่งที่ดีไว้ได้เลย ใจไม่รับธรรมไม่รับสงฆ์ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

แต่เรานับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่เรียกว่า “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” อย่างเทิดทูนฝังไว้ในจิตใจ แสดงว่าจิตของเรามีความจริงมีหลักมีเกณฑ์ มีสาระสำคัญ จึงรับเอา “ธรรมสาระ” มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น เข้าสู่จิตใจ ฝากเป็นฝากตายมอบกายถวายตัวประพฤติปฏิบัติตามท่าน ยากลำบากเพียงไรก็ไม่ท้อถอย เพราะความเชื่อในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสำคัญ เรียกว่า “จิตนั้นมีสาระสำคัญกับธรรมตามกำลังความสามารถของตนอยู่แล้ว จึงไม่ควรตำหนิติเตียนตนว่าเป็นผู้มีวาสนาน้อย”

การติเตียนตนโดยที่ไม่พยายามพยุงตัวขึ้น และกลับเป็นการกดถ่วงตัวเองให้ท้อถอยลงไปนั้น เป็นการติเตียนที่ผิด ไม่สมกับคำว่า “รักตน” ความรักตนต้องพยุง จุดไหนที่มีความบกพร่องต้องพยายามพยุง ส่งเสริมจุดบกพร่องให้มีความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นลำดับ สมชื่อสมนามว่าเป็นผู้รักตน และสมกับว่า “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” เราถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นหลักชีวิตจิตใจ หวังท่านช่วยประคับประคอง หรือพยุงจิตใจของตนให้เป็นไปตามหลักธรรม อันเป็นธรรมมหามงคลสูงส่งที่สุดในโลกทั้งสาม

ในสากลโลกนี้ถ้าพูดถึง “สาระ” หรือสาระสำคัญแล้ว ก็มีอยู่เพียงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น สรุปแล้วมี “ธรรม” เท่านั้นเป็นธรรมฝากเป็นฝากตายได้ตลอดกาลตลอดภพตลอดชาติ จนถึงที่สุดคือวิมุตติพระนิพพาน

ใน “วัฏวน” ที่เราวกวนกันอยู่นี้ ไม่มีอันใดที่จะเป็นเครื่องยึดด้วยความแน่ใจและร่มเย็นใจเหมือนธรรมะนี้เลย “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม คำว่า “พระธรรมรักษาคืออย่างไร?” ทำไมธรรมจึงมารักษาคน ต้นเหตุเป็นมาอย่างไร?

ต้นเหตุคือคนต้องรักษาธรรมก่อน เช่นเราทั้งหลายรักษาธรรมอยู่ในเวลานี้ รักษาธรรมคือรักษาตัว ดำเนินตามหลักธรรมที่ท่านสั่งสอนไว้ ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากหลักธรรม พยายามรักษาตนให้ดีในธรรม ด้วยความประพฤติทางกายทางวาจา ตลอดถึงความคิดทางใจ อันใดที่เป็นข้าศึกต่อตนและผู้อื่นอันนั้นไม่ใช่ธรรม ท่านเรียกว่า “อธรรม” เราพยายามกำจัดสิ่งเหล่านี้ออก ดำเนินตามหลักธรรมที่ท่านสั่งสอน ดังที่เราทั้งหลายทำบุญให้ทาน รักษาศีล และอบรมสมาธิภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม นี่คือการรักษาธรรม

การปฏิบัติธรรมด้วยกำลังและเจตนาดีของตนเหล่านี้ชื่อว่ารักษาธรรม ผลต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมรักษาเราขึ้นมา คำว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว” นั้นก็คือ ผลของธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติของเรานี้แล เป็นเครื่องสนับสนุนและรักษาเรา ไม่ใช่อยู่ๆ พระธรรมท่านจะโดดมาช่วยโดยที่ผู้นั้นไม่สนใจกับธรรมเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหตุที่พระธรรมจะรักษา ก็คือเราเป็นผู้รักษาธรรมมาก่อน ด้วยการปฏิบัติตามธรรม ผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาธรรมนั้น ก็ย่อมนำเราไปในทางแคล้วคลาดปลอดภัย มีความอยู่เย็นเป็นสุข ที่ท่านเรียกว่า “ธรรมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม” การปฏิบัติธรรมมีความหนักแน่นมั่นคงละเอียดลออมากน้อยเพียงไร ผลเป็นเครื่องสนองตอบแทนที่เห็นชัดประจักษ์ใจ ก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปโดยลำดับๆ ตามเหตุที่ทำไว้นั้นๆ จนผ่านพ้นไปจากภัยทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิงที่เรียกว่า “นิยยานิกธรรม” นำผู้ปฏิบัติธรรมเต็มสติกำลังความสามารถนั้นให้ผ่านพ้นจาก “สมมุติ” อันเป็นบ่อแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือแหล่งแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ไปเสียได้อย่างหายห่วงถ่วงเวลา

พระพุทธเจ้าเป็นผู้หายห่วง พระอริยสงฆ์เป็นผู้หายห่วงได้ด้วยการปฏิบัติธรรม ธรรมรักษาท่านพยุงท่านจนถึงภูมิแห่งความหายห่วง ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์เยื่อใยเสียดาย เป็นผู้สิ้นภัย สิ้นเวรสิ้นกรรม สิ้นวิบากแห่งกรรมโดยตลอดทั่วถึง คือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกท่าน

ธรรมจึงเป็น “ธรรมจำเป็น” ต่อสัตว์โลกผู้หวังความสุขเป็นแก่นสาร ฝังนิสัยสันดานเรื่อยมาแต่กาลไหนๆ ผู้หวังความสุขความเจริญจำต้องปฏิบัติตนตามธรรมด้วยดีเพื่อความหวังดังใจหมายไม่ผิดพลาด ซึ่งเป็นการสร้างความเสียใจในภายหลังไม่มีประมาณ ซึ่งสัตว์โลกไม่พึงปรารถนากัน

อันความหวังนั้นหวังด้วยกันทุกคน แต่สิ่งที่จะมาสนองความหวังนั้น ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ เราอย่าให้มีความหวังอยู่ภายในใจอยู่อย่างเดียว ต้องสร้างเหตุอันดี ที่จะเป็นเครื่องสนองตอบแทนความหวังนั้นด้วยดี ดังเราทั้งหลายได้ปฏิบัติธรรมเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันและปฏิบัติต่อไปโดยลำดับ นี้แลคือการสร้างความหวังไว้โดยถูกทาง ความสมหวังจะไม่เป็นของใคร จะเป็นสมบัติอันพึงใจของผู้สร้างเหตุ คือกุศลธรรมไว้ดีแล้วนั่นแล ไม่มีผู้ใดจะมาแย่งไปครองได้ เพราะเป็น “อัตสมบัติ” ของแต่ละบุคคลที่บำเพ็ญไว้เฉพาะตัว ไม่เหมือนสมบัติอื่นที่โลกมีกัน ซึ่งมักพินาศฉิบหายไปด้วยเหตุต่างๆ มีจากโจรผู้ร้าย เป็นต้น ไม่ได้ครองด้วยความภูมิใจเสมอไป ทั้งเสี่ยงต่อภัยอยู่ตลอดเวลา

ไปกราบที่เมรุท่านวันนี้ ก็เห็นประชาชนมากมาย และเกิดความสงสาร ทำให้คิดถึงเรื่องความเป็นความตาย เฉพาะอย่างยิ่งคิดถึงองค์ท่านที่ประพฤติปฏิบัติมาก็เป็นวาระสุดท้าย ร่างกายทุกส่วนมอบไว้ที่เมรุ เป็นอันว่าหมดความหมายทุกสิ่งทุกประการภายในร่างกาย จิตใจเรายังจะต้องก้าวไปอีก ก้าวไปตามกรรม ตามวิบากแห่งกรรมไม่หยุดยั้ง ไม่มาสุดสิ้นอยู่ที่เมรุเหมือนร่างกาย แต่จะอยู่ด้วยกรรมและวิบากแห่งกรรมเท่านั้น เป็นผู้ควบคุมและส่งเสริม

กรรมและวิบากแห่งกรรมอยู่ที่ไหนเล่า? ก็อยู่ที่จิตนั่นแหละจะเป็นเครื่องพาให้เป็นไป ที่ไปดูไปปลงอนิจจังธรรมสังเวชกันที่นั่น ก็ด้วยความระลึกรู้สึกตัวว่าเราทุกคนจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจงพยายามสร้างความดีไว้ให้เต็มที่ จนเพียงพอแก่ความต้องการเสียแต่บัดนี้ จะเป็นที่ภูมิใจทั้งเวลาปกติและเวลาจวนตัว

ใครก็ตามที่พูดและกระทำไม่ถูกต้องตามอรรถตามธรรม อย่าถือมาเป็นอารมณ์ให้เป็นเครื่องก่อกวนใจโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากเกิดโทษขึ้นมากับตัวเอง เพราะความคิดไปพูดไปกับอารมณ์ไม่เป็นประโยชน์นั้น

ผู้ใดจะเป็นสรณะของเรา ผู้ใดจะเป็นที่พึ่งที่ยึดที่เหนี่ยวของเรา เป็นคติเครื่องสอนใจเราในขณะที่เราได้เห็นได้ยินได้ฟัง ผู้นั้นแลคือกัลยาณมิตร ถ้าเป็นเพื่อนด้วยกันนับแต่พระสงฆ์ลงมาโดยลำดับ จะเป็นเด็กก็ตาม ธรรมนั้นไม่ใช่เด็ก คติอันดีงามนั้นยึดได้ทุกแห่งทุกหนทุกบุคคล ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่าเด็กว่าผู้ใหญ่ยึดได้ แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน ตัวใดมีอัธยาศัยใจคอดีก็น่ายึดเอามาเทียบเคียง ถือเอาประโยชน์จากเขาได้

ผู้ที่เป็นคนรกโลก อย่านำเข้ามาคิดให้รกรุงรังภายในจิตใจเลย รกโลกให้มันรกอยู่เฉพาะเขา โลกของเขาเอง รกในหัวใจของเขาเอง อย่าไปนำอารมณ์ของเขามารกโลกคือหัวใจเรา นั้นเป็นความโง่ไม่ใช่ความฉลาด เราสร้างความฉลาดทุกวัน พยายามเสาะแสวงหาความฉลาด ทำไมเราจะไปโง่กับอารมณ์เหล่านี้ ปฏิบัติไปอย่ามีความหวั่นไหวต่อสิ่งใด ไม่มีใครรับผิดชอบเรายิ่งกว่าเราจะรับผิดชอบตัวเองในขณะนี้โดยธรรม จนถึงวาระสุดท้ายปลายแดนแห่งชีวิตของเราหาไม่ เราจะต้องรับ รับผิดชอบตัวเราเองอยู่ตลอดสาย จะเป็นภพหน้าหรือภพไหนก็ตาม ความรับผิดชอบตนนี้จะต้องติดแนบไปกับตัว แล้วเราจะสร้างอะไรไว้เพื่อสนองความรับผิดชอบของเราให้เป็นที่พึงพอใจ นอกจากคุณงามความดีนี้ไม่มี!

เราไม่ได้ตำหนิเรื่องโลก เราเกิดมากับโลกธาตุขันธ์ทั้ง ๕ ร่างกายนี้ก็เป็นโลกทั้งนั้น พ่อแม่เราก็เป็นโลก ทุกสิ่งทุกอย่างที่มารักษาเยียวยาก็เป็นโลก เราเกิดมากับโลกทำไมจะดูถูกโลกว่าไม่สำคัญ? ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนตนว่า จะไม่อาจยึดเป็นหลักเป็นฐานเป็นกฎเกณฑ์ได้ตลอดไป การหวังพึ่งเป็นพึ่งตายกับสิ่งนั้นจริงๆ มันพึ่งไม่ได้! เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความสำคัญของมันในขณะปัจจุบันที่เป็นเครื่องมือ ที่จะใช้ทำงานให้เป็นผลเป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่เราอย่าถือว่าเป็นสาระสำคัญจนกระทั่งลืมเนื้อลืมตัวและหลงไปตามโลก ไม่คิดถึงอนาคตของตนว่าจะเป็นอย่างไรภายในใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ว่าจะได้รับผลอะไรบ้าง

ถ้ามีแต่ความเพลิดเพลินจนไม่รู้สึกตัว มัวยึดแต่ร่างกายนี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็จะเป็นความเสียหายสำหรับเราเองที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบต่อธาตุขันธ์อันนี้ เราทุกคนเป็นโลก พึ่งพาอาศัยกันไปตามกำลังของมันไม่ปฏิเสธ โลกอยู่ด้วยกันต้องสร้างอยู่สร้างกิน เพราะร่างกายนี้มีความบกพร่องต้องการอยู่ตลอดเวลาจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องพานั่ง พานอน พายืน พาเดิน พาขับถ่าย พารับประทาน อะไรทุกสิ่งทุกประการล้วนแต่จะนำมาเยียวยารักษาความบกพร่องของร่างกายซึ่งเป็นโลกนี้เอง

เมื่อเป็นเช่นนั้นไม่ทำงานได้หรือคนเรา อยู่เฉยๆ อยู่ไม่ได้ ต้องทำงานเพื่อธาตุขันธ์ นี่เป็นความจำเป็นสำหรับเราทุกคน ในขณะเดียวกันก็เป็นความจำเป็นสำหรับจิตที่ต้องเรียกหาความสุขความเย็นใจ ร้องเรียกหาความหวัง หาความสมหวัง ร้องเรียกหาความช่วยเหลือจากเราเช่นเดียวกับธาตุขันธ์นั้นแล เราอย่าลืมความรู้สึกอันนี้ซึ่งมีอยู่ภายในใจของโลกที่ยังปรารถนากัน

แม้จะมีวัตถุสมบัติอะไรมากมาย ความหิวโหยของจิต ความเรียกร้องของจิต จะแสดงอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นเครื่องสนองตอบแทนกันให้เหมาะสมทั้งภายนอกและภายใน จำต้องขวนขวายไปพร้อมๆ กันด้วยความไม่ประมาท ภายนอกได้แก่ร่างกาย ภายในได้แก่จิตใจ เราจึงต้องสร้างสิ่งเยียวยารักษา เป็นเครื่องบำรุงไว้ให้พร้อมมูลทั้ง ๒ ประการ

ส่วนร่างกายก็เสาะแสวงหาทรัพย์สมบัติเงินทองมาไว้สำหรับเวลาจำเป็น คุณงามความดีก็เสาะแสวงหาเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาจิตใจ หรือพยุงส่งเสริมจิตใจให้มีอาหารเครื่องหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกับส่วนร่างกายจนมีความสุขสบาย เฉพาะอย่างยิ่งสร้างสติสร้างปัญญาขึ้นให้รอบตัว เราเกิดมาไม่ได้เกิดมาเพื่อความจนตรอกจนมุม เราเกิดมาเป็นคนทั้งคน เฉพาะอย่างยิ่งหลักวิชาทุกแขนงสอนให้คนฉลาดทั้งนั้น ทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดีสอนแบบเดียวกัน

เฉพาะทางธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งฉลาดแหลมคมที่สุด ทรงสั่งสอนวิชาชนิดที่มนุษย์ไม่สามารถสอนกันได้ รู้อย่างที่มนุษย์ไม่สามารถรู้กันได้ ถอดถอนสิ่งที่มนุษย์หึงหวงที่สุด ไม่สามารถจะถอดถอนกันได้ แต่พระพุทธเจ้าถอดถอนได้ทั้งสิ้น เวลามาสอนโลกไม่มีใครที่จะสอนแบบพระองค์ได้ ผู้นี้เป็นผู้ที่น่ายึดถือกราบไหว้อย่างยิ่ง ผลที่ปรากฏจากความฉลาดแหลมคมของพระพุทธเจ้าก็คือ ได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลก สั่งสอนโลกจนสะเทือนกระทั่งวันปรินิพพาน แม้นิพพานแล้วยังประทาน “ธรรม” ไว้เพื่อสัตว์โลกได้ปฏิบัติตามเพื่อความเกษมสำราญแก่ตน ไม่มีอะไรบกพร่องสำหรับพระองค์เลย ท่านผู้นี้แลสมพระนามว่า“เป็น สรณํ คจฺฉามิ” โดยสมบูรณ์ของมวลสัตว์ในไตรภพไปตลอดอนันตกาล

เราพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวคือจิตใจ ให้มีความสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยคุณงามความดี ความฉลาดภายในอย่าให้จนตรอกจนมุม พระพุทธเจ้าไม่พาจนตรอก ไม่เคยทราบว่าพระพุทธเจ้าจนตรอก ไปไม่ได้และติดอยู่ที่ตรงไหนเลย ติดตรงไหนท่านก็ฟันตรงนั้น ขุดตรงนั้นจนทะลุไปได้ไม่จนมุม ไม่ใช่ติดอยู่แล้วนอนอยู่นั่นเสีย จมอยู่นั่นเสีย อย่างสัตว์โลกทั้งหลายที่จนตรอกจนมุมแล้วท้อถอยอ่อนแอถอนกำลังออกไปเสีย อย่างนี้ใช้ไม่ได้! สุดท้ายก็ยิ่งจมใหญ่ ยิ่งกว่าคนตกน้ำท่ามกลางมหาสมุทรทะเลหลวง

ที่ถูกติดตรงไหน ขัดข้องตรงไหน นั้นแลคือคติธรรมอันหนึ่ง เป็นเครื่องพร่ำสอนเราให้พินิจพิจารณา สติปัญญาจงผลิตขึ้นมาให้ทันกับเหตุการณ์ที่ขัดข้อง แม้จะประสบเหตุการณ์อันใดก็ตาม อย่าเอาความจนตรอกจนมุมมาขวางหน้าเรา จงเอาสติปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิก อะไรมันขวางบุกเบิกเข้าไปเรื่อยๆ คนเราไม่ใช่จะโง่ไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่จะฉลาดมาตั้งแต่วันเกิด ต้องอาศัยการศึกษาอบรม อาศัยการพินิจพิจารณา อาศัยการอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ อาศัยการค้นคว้า ความฉลาดจะเกิดขึ้นโดยลำดับๆ และไม่มีประมาณ ในน้ำมหาสมุทรจะว่ากว้างแคบอะไรก็ตาม ปัญญายังแทรกไปได้หมด และกว้างลึกยิ่งกว่าแม่น้ำมหาสมุทร!

ความโง่ อะไรจะโง่ยิ่งกว่าจิตไม่มี ถ้าทำให้โง่ โง่จนตั้งกัปตั้งกัลป์ เกิดด้วยความโง่ ตายด้วยความโง่ อยู่ด้วยความโง่ โง่ตลอดไปถ้าจะให้โง่ ใจต้องโง่อย่างนั้น! ถ้าจะให้ฉลาด ฉลาดที่สุดก็ที่ใจดวงนี้! ฉะนั้นจงพยายาม เราต้องการอะไรเวลานี้นอกจากความฉลาด? เพราะความฉลาดพาให้คนดี พาคนให้พ้นทุกข์ ไม่ว่าทางโลกทางธรรมพาคนผ่านพ้นไปได้ทั้งนั้นไม่จนตรอกจนมุมถ้ามีความฉลาด นี่เรากำลังสร้างความฉลาดให้กับเรา จงผลิตความฉลาดให้มากให้พอ เฉพาะอย่างยิ่งเราแบกหามเบญจขันธ์อันนี้มานาน เราฉลาดกับมันแล้วหรือยัง?

ส่วนมากมีแต่บ่นให้มันโดยที่มันไม่รู้สึกตัวกับเราเลย บ่นให้แข้งให้ขาอวัยวะส่วนต่างๆ ปวดนั้นปวดนี้บ่นกันไป มันออกมาจากใจนะความบ่นน่ะ ความไม่พอใจน่ะ การบ่นนั้นเหมือนกับเป็นการระบายทุกข์ ความจริงไม่ใช่การระบายทุกข์ มันกลับเพิ่มทุกข์ แต่เราไม่รู้สึกตัวว่ามันเป็นทุกข์สองชั้นขึ้นมาแล้ว ขณะนี้รู้หรือยัง? ถ้ายังขณะต่อไป วันเวลาเดือนปีต่อไป จะเจอกับปัญหาเพิ่มทุกข์สองชั้นอีก ชนิดไม่มีทางสิ้นสุดยุติลงได้

เรื่องของทุกข์น่ะเรียนให้รู้ตลอดทั่วถึง ขันธ์อยู่กับเรา สมบัติเงินทองมีอยู่ในบ้านเรา มีมากน้อยเพียงไรเรายังมีทะเบียนบัญชี เรายังรู้ว่าของนั้นมีเท่านั้น ของนี้มีเท่านี้ เก็บไว้ที่นั่นเท่านั้น เก็บไว้ที่นี่เท่านี้ เรายังรู้เรื่องของมันจำนวนของมัน เก็บไว้ในสถานที่ใด ยังรู้ได้ตลอดทั่วถึง

แต่สกลกายนี้ ธาตุขันธ์ของเรานี้ เราแบกหามมาตั้งแต่วันเกิด เรารู้บ้างไหมว่ามันเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ที่ไหน มันมีดีมีชั่ว มีความสกปรกโสมม หรือมีความสะอาดสะอ้านที่ตรงไหน มีสาระสำคัญอยู่ที่ตรงไหน ไม่เป็นสาระสำคัญมีอยู่ที่ตรงไหน มี อนิจฺจํ หรือ นิจฺจํ ที่ตรงไหนบ้าง มีทุกฺขํ หรือ สุขํ ที่ตรงไหนบ้าง มีอนตฺตา หรือ อตฺตา อยู่ที่ตรงไหนบ้าง ควรค้นให้เห็นเหตุผล เพราะมีอยู่กับตัวด้วยกันทุกคน

ในธาตุในขันธ์ จงใช้สติปัญญาขุดค้นลงไป พระพุทธเจ้าทรงสอนส่วนมากอยากจะว่าร้อยทั้งร้อยว่า “รูปํ อนตฺตา” นั่น! ฟังซิ “รูปํ อนิจฺจํ” คำว่า “อนิจฺจํ” คืออะไร? มันเตือนเราอยู่ตลอดเวลา ความ อนิจฺจํ มันเตือน ถ้าหากจะพูดแบบนักธรรมกันจริงละก็ มันเตือนเราอยู่ตลอดเวลา“อย่าประมาท อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่าไปถือไฟ รู้ไหม? อนตฺตา มันเป็นไฟ ถือแล้วร้อนนะ ปล่อยๆ ซิถือไว้ทำไมไฟน่ะ”

รูปํ แยกออกไป รูปมันมีกี่อาการ อาการอะไรบ้าง ดูทั้งข้างนอกข้างใน ดูให้เห็นตลอดทั่วถึง พระพุทธเจ้าท่านดูและรู้ตลอดทั่วถึง ปัญญาไม่มีจนตรอก รู้ทั่วถึงไปหมดถ้าจะพาให้ทั่วถึง ถ้าจะให้ติดตันอยู่ตลอดเวลาก็ติด เพราะไม่ได้คิดได้ค้น

สำคัญจริงๆ ก็คือร่างกายมันมีหนังหุ้มดูให้ดี สอนมูลกรรมฐาน ท่านว่า “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” พอมาถึง “ตโจ” เท่านั้นหยุด! ท่านเรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” แปลว่า กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า นี่แปลตามศัพท์นะ พอมาถึง “ตโจ” แล้วทำไมถึงหยุดเสีย? ท่านสอนพระสงฆ์ผู้บวชใหม่ ก็เป็นเช่นเดียวกัน และอนุโลมปฏิโลม คือว่าถอยหลังย้อนกลับ

พอถึง “หนัง” แล้วหยุด เพราะเหตุใดท่านถึงหยุด มีความหมายอย่างไร? หนังนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากของสัตว์โลก ที่ติดกันก็มาติดที่ตรง “หนัง” ที่คลุมกายไว้ก็คือหนังผิวพรรณวรรณะข้างนอกน่าดู แต่ไม่ได้หนาเท่าใบลานเลยส่วนที่หุ้มนั้น ทีนี้ลองถลกหนังออกดูซิ เราดูกันได้ไหม เป็นสัตว์ก็ดูไม่ได้ เป็นคนก็ดูไม่ได้ เป็นหญิงเป็นชายดูกันไม่ได้ทั้งนั้น เมื่อถลกเอาหนังออกแล้วเป็นอย่างไร นี่แหละพอมาถึง “ตโจ” ท่านจึงหยุด เพราะอันนี้มันครอบสกลกายแล้ว เรียกว่า “ครอบโลกธาตุ” แล้ว

พิจารณาตรงนั้น คลี่คลายออกดูทั้งข้างนอกข้างในของหนังเป็นอย่างไรบ้าง หนังรองเท้ามันไม่สกปรก มันไม่เหมือนหนังคนหนังสัตว์ที่ยังสดๆ ร้อนๆ อยู่ ดูนี่แหละกรรมฐาน ดูทั้งข้างล่างข้างบน คนทั้งคนถลกหนังให้หมด ทั้งเราทั้งเขาดูได้ไหม อยู่กันได้ไหม เรายังไม่เห็นหรือความจริงที่แสดงอยู่ภายในตัวของเรา เรายังยึดยังถือว่าเป็นเราอยู่ได้เหรอ? ไม่อายต่อความจริงบ้างเหรอ? นี้ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่เราฝืนความจริงเฉยๆ เพราะอะไร?

เพราะกิเลสตัณหาความมืดดำต่างๆ มันพาดื้อด้าน เราต้องทนด้านกับมันที่ทำให้ฝืน ไม่อายพระพุทธเจ้าบ้างหรือ พระพุทธเจ้ามีพระเมตตาสั่งสอนสัตว์โลกให้ปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ แต่พวกเรายึดถือไปเรื่อย บางคนแทบจะตายยังตายไปไม่ได้ เวลานี้ยังมีธุระอยู่อย่างนั้นๆ จะตายไปไม่ได้ ฟังดูซีมันขบขันดีไหม?

จะตายไปไม่ได้ยังไง? ตั้งแต่เป็นมันยังเป็นอยู่ได้ เจ็บมันยังเจ็บได้ ทำไมมันจะตายไม่ได้! ไม่คิดบ้างหรือ นี่แหละความโง่ ความโง่เขลาของพวกเราเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องแจงออกให้เห็นความโง่ของตัวเอง เพื่อสติปัญญาจะกลายเป็นความฉลาดแหลมคมขึ้นมา “กรรมฐานห้า” ท่านสอนถึง “ตโจ” เป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว

เอ้า ดูเข้าไปเนื้อ เอ็น กระดูก เข้าไปดูข้างใน ดูได้พิจารณาดู นี่เรียกว่า “เที่ยวกรรมฐาน” เที่ยวอย่างนี้ ให้ดูข้างบนข้างล่าง ให้เพลินอยู่กับความจริง แล้ว “อุปาทานความกอดรัดไว้มั่น” มันจะค่อยๆ คลายออก คลายออกเรื่อยๆ พอความรู้ความเข้าใจซึมซาบเข้าไปถึงไหน ความผ่อนคลายของใจก็เบาลงๆ เบาไปโดยลำดับเหมือนคนจะสร่างจากไข้นั่นแล

ความสำคัญนี้เป็นเครื่องทำให้หนักอยู่ภายในใจเรา พอมีความเข้าใจในอันนี้แล้วจึงปล่อยวางได้โดยลำดับ แล้วก็มีความเบาภายในใจ นี่เป็นประโยชน์ในการพิจารณากรรมฐานมาก

ไม่ว่าเป็นชิ้นเป็นอันใด กำหนดให้เปื่อยพังไปเรื่อยๆ มันเปื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา จนอยู่ไม่ได้ อะไรที่จะเกิดความขยะแขยงซึ่งมีอยู่ในร่างกายจะปรากฏขึ้นมา ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่ขยะแขยง ทำให้เกิดให้มีด้วยสติปัญญาของเรา พิจารณาให้เห็นชัดตามความจริงเป็นอย่างนี้

ความปลอมมันเกิดขึ้นได้ ใครก็เกิดได้ด้วยกันทั้งนั้น ความปลอมมันเกิดง่ายติดง่ายแท้จริงมันไม่ค่อยอยากเกิด แต่เราไม่ค่อยพิจารณา ไม่ค่อยสนใจไม่ค่อยชอบ ไปชอบสิ่งที่ไม่น่าชอบ แล้วมันก็ทุกข์ในสิ่งที่เราไม่ชอบอีกนั่นแล

ความทุกข์ไม่มีใครชอบแต่ก็เจออยู่ด้วยกัน เพราะมันปีนเกลียวกับความจริง เรากำหนดให้เปื่อยลงโดยลำดับๆ ก็ได้ จะกำหนดแยกออก เฉือนออก เฉือนออกเป็นกองๆกองเนื้อกองหนัง อะไรๆ เอาออกไป เหลือแต่กระดูกก็ได้ กระดูกก็มีชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก มันติดต่อกับที่ตรงไหน กำหนดออกไป ดึงออกไปกอง เอาไฟเผาเข้าไป นี่คืออุบายแห่ง“มรรค” ได้แก่ปัญญา ความติดพันในสิ่งเหล่านี้จนถึงกับเป็นอุปาทานยึดมั่นถือมั่น หนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูกๆ ก็เพราะ “ความสำคัญ ความปรุงความแต่งของใจ” ความสำคัญมั่นหมายของใจซึ่งเป็นตัวจอมปลอมนั้นแล เรายังพอใจติดใจได้ เรายังพอใจคิดพอใจสำคัญมั่นหมายได้ และพอใจอยู่ได้

ปัญญาหรืออุบายวิธีดังที่ได้อธิบายมานี้ คือการคลี่คลายออกให้เห็นตามความจริงของมัน นี่เป็นความคิดความปรุงที่ถูกต้องเพื่อการถอดถอนตัวเอง ทำไมจะถือว่าเป็นความคิดเฉยๆ สิ่งที่เป็นความคิดเฉยๆ เราคิดนั่นเป็นเรื่องของ “สมุทัย” เรายังยอมคิด สิ่งที่เป็นมรรคเพื่อจะถอดถอนความผิดประเภทนั้น “สังขารแก้สังขาร ปัญญาแก้ความโง่ ทำไมเราจะทำไม่ได้ มันจะขัดกันที่ตรงไหน นี่แหละท่านเรียกว่า “ปัญญา”

เอ้า กำหนดเผาไฟลงไป ได้กี่ครั้งกี่หนไม่ต้องไปนับครั้งนับหน ทำจนชำนาญเป็นของสำคัญ ชำนาญจนกระทั่งมันปล่อยวางได้ จากนั้นก็เป็น สุญญากาศ ว่างเปล่า

ร่างกายของเรานี้ทีแรกมันก็เป็นปฏิกูล ทีแรกไม่ได้พิจารณาเลยมันก็สวยก็งามพอพิจารณาตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเข้าไปที่เรียกว่า “ปฏิกูล” มันก็เห็นชัดคล้อยตามซึ้งเข้าไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย มีความขยะแขยง เกิดความสลดสังเวช น้ำตาร่วงพรูๆ ในขณะที่พิจารณาเห็นประจักษ์ภายในใจจริงๆ โอ้โห! เห็นกันแล้วหรือวันนี้ แต่ก่อนไปอยู่ที่ไหน ร่างกายทั้งร่างอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิด ทำไมไม่เห็นทำไมไม่เกิดความสลดสังเวช วันนี้ทำไมจึงเห็น อยู่ที่ไหนถึงมาเจอกันวันนี้ ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกันมา นั่น! รำพึงรำพันกับตัวเอง พอเห็นชัดเข้าจริงแล้วเกิดความขยะแขยง เกิดความสลดสังเวชแล้วใจเบา ไม่มีอะไรจะบอกให้ถูกได้ เพราะความหนักก็ได้แก่ความยึดความถือพอเข้าใจสิ่งเหล่านี้ชัดเจนประจักษ์ใจในขณะนั้น จิตมันก็ถอนออกมา จิตเบาโล่งไปหมดจากนั้นกำหนดลงไปทลายลงไปจนแหลกเหลวไปหมด กลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ

จิตปรากฏเป็นเหมือนกับอากาศ อะไรๆ เป็นอากาศธาตุไปหมด จิตว่างไปหมด! นี่เป็นอุบายของสติปัญญาทำให้คนเป็นอย่างนี้ ทำความรู้ความเห็นให้เป็นอย่างนี้ทำผลให้เกิดเป็นความสุขความสบาย ความเบาจิตเบาใจอย่างนี้!

เมื่อกำหนดเข้าไปนานๆ จะมีความชำนาญละเอียดยิ่งไปกว่านี้ แม้ที่สุดร่างกายที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อนี้มันหายไปหมด จากภาพทางรูป กลายเป็นอากาศธาตุ ว่างไปหมดเลย ดูต้นไม้ก็มองเห็นเพียงเป็นรางๆ เหมือนกับเงาๆ ดูภูเขาทั้งลูกก็เหมือนกับเงา ไม่ได้เป็นภูเขาจริงจังเหมือนแต่ก่อน เพราะจิตมันแทงทะลุไปหมด ร่างกายทั้งร่างก็เป็นเหมือนเงาๆ เท่านั้นเอง ปัญญาแทงทะลุไปหมด จิตว่าง ว่างเพราะวางกายด้วย เพราะจิตทะลุร่างกายทั้งหมดด้วย ความเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นท่อนเป็นก้อน เป็นอะไรอย่างนี้ ทะลุไปหมดหาชิ้นหาก้อนไม่มี กลายเป็นอากาศธาตุไปทีเดียว นี่หมายถึงร่างกาย!

เวทนา มันก็เพียงยิบยับๆ นิดๆ เกิดในร่างกาย มันก็ว่างของมันอีกเหมือนกันเวทนาเกิดขึ้นก็ทราบว่าเกิด แต่ก่อนเวทนานี้ที่มันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาก็ไม่มี เพราะอำนาจแห่งปัญญานี้เองแทงทะลุไปอีก มีลักษณะเป็นเงาๆ ของเวทนา

สัญญาก็เป็นเงาๆ สังขาร ก็เป็นเพียงเงาๆ นี่เวลาปัญญามันครอบเข้าไป ครอบเข้าไปละเอียดเข้าไป อะไรก็กลายเป็นเงาๆ ไปทั้งนั้น

จากนั้นก็ทะลุถึงจิต มันเป็นก้อนอีก คือ “ก้อนอวิชชา” ก้อนสมมุติ ก้อนภพก้อนชาติ มันอยู่ที่จิต ปัญญาฟาดฟันลงไปที่นั่น คำที่ว่า “เงาๆ หมดไป ก้อนสมมุติทั้งก้อนหมดภายในจิต” ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ความรู้ล้วนๆ อันนี้คือความรู้บริสุทธิ์

อันใดที่เป็นรางๆ หรือเป็นเงาๆ ซึ่งเป็นเรื่องของสมมุติเป็นเรื่องของกิเลส ต้องถูกชำระออกหมดด้วยปัญญา ไม่มีอะไรปิดบังจิตใจดวงที่บริสุทธิ์นี้ได้เลย! นั่นคือที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งภพแห่งชาติ ที่สุดแห่ง “วัฏจักร” ทั้งหลาย สิ้นสุดลงที่จุดนี้ หมดปัญหา การปฏิบัติธรรมเมื่อถึงขั้นนี้แล้วอยู่ที่ไหนก็อยู่เถอะ!

พระพุทธเจ้ากับธรรมชาตินี้เป็นอันเดียวกัน พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกันกับธรรมชาตินี้ ผู้ใดเห็นธรรม “ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต” หมายถึงธรรมชาติอันนี้แลพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนานเพียงใดก็ตามไม่สำคัญเลย เพราะนั้นเป็นกาลเป็นสถานที่เป็นพระกายคือเรือนร่างแห่งพุทธะเท่านั้น พุทธะอันแท้จริงคือความบริสุทธิ์นี้ อันนี้เป็นฉันใดอันนั้นเป็นฉันนั้น พระพุทธเจ้าจะสูญไปไหน เมื่อธรรมชาตินี้ตนผู้บริสุทธิ์ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สูญ แล้วพระพุทธเจ้าจะสูญไปได้อย่างไร คำว่า “พระธรรมๆ” นั้นสูญไปได้อย่างไร รู้อะไรถ้าไม่รู้ธรรม! แล้วธรรมไม่มีจะรู้ได้อย่างไร ถ้าว่าธรรมสูญจะรู้ได้อย่างไรลงที่จุดนี้!

อยู่ที่ไหนก็เหมือนอยู่กับพระพุทธเจ้า กับพระธรรม กับพระสงฆ์ ไม่ว่า “เหมือนอยู่” นะ คืออยู่กับพระพุทธเจ้า ว่ายังงั้นเลย ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามความรู้สึกของจิตนั้น เราจะเชื่อพระพุทธเจ้าว่าสูญหรือไม่สูญได้ ก็เมื่อธรรมชาตินี้เป็นเครื่องยืนยันเทียบเคียงหรือเป็นสักขีพยาน พุทธะของพระองค์ กับธรรมะ สังฆะทั้งหลาย เป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว เราจะปฏิเสธพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างไร เมื่อเราปฏิเสธธรรมชาตินี้ไม่ได้ เมื่อรับรองธรรมชาตินี้ ก็รับรองพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าอันเดียวกัน

ถ้าจะปฏิเสธพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าไม่มีในโลก ก็ปฏิเสธอันนี้เสียว่าไม่มี แล้วปฏิเสธได้หรือทั้งๆ ที่รู้ๆ อยู่ ยังจะว่าไม่มีได้หรือ นี่ยอมรับกันตรงนี้

บรรดาพระสาวกทั้งหลายเมื่อรู้ธรรมโดยทั่วถึงแล้ว จะไม่มีอะไรสงสัยพระพุทธเจ้าเลย แม้จะไม่ได้เคยพบเห็นพระพุทธเจ้าก็ตาม พระพุทธเจ้าแท้จริงไม่ใช่เรือนร่าง ไม่ใช่ร่างกาย เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ดังที่ตัวได้รู้ได้เห็นอยู่แล้วนี้แล นี่คือธรรมชาติที่อัศจรรย์

เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังไม่ยุติ ร่างกายขึ้นบนเมรุแล้วมันยังขยันหาเอาซากศพอื่นอยู่เรื่อย เรื่องจิตเป็นคลังกิเลสนี้สำคัญมากทีเดียว ศพบางศพไม่ได้ขึ้นเมรุ ถ้าเป็นศพเป็ดศพไก่มันขึ้นเตาไฟเผากันที่นั่น แต่เราไม่ได้เห็นว่าเป็นป่าช้า ถ้าเป็นมนุษย์เอาไปเผาไปฝังตรงไหน นั่นเป็นป่าช้า กลัวผีกันจะตายไป สัตว์ต่างๆ ถูกขนเข้าเตาไฟไม่เห็นกลัวว่าเป็นป่าช้า ยิ่งสนุกสนานกันไปใหญ่ นี่เพราะความสำคัญมันผิดกันนั่นเอง และจิตมันก็ชอบ ขึ้นเมรุแล้วร่างนี้มันไปกว้านหาใหม่ๆ เอาไปขึ้นเมรุเรื่อยๆ ที่ไหนก็ไม่รู้ละ ถ้าธรรมชาตินี้ไม่ได้หลุดพ้นจากกิเลสอย่างเต็มใจแล้ว ความขึ้นเมรุไม่ต้องสงสัย ความจับจองป่าช้าก็ไม่ต้องสงสัย ภพใดก็ตามก็คือภพอันเป็นป่าช้านี้เอง ป่าช้าเป็นวาระสุดท้ายแห่งกองทุกข์ในชาตินั้น

เราขยันนักหรือในการเกิดการตายโดยหาหลักฐานไม่ได้ หากฎเกณฑ์ไม่ได้ หาความแน่นอนไม่ได้ ถ้าเรามีความแน่นอนในการเกิด จะเกิดเป็นนั้นเป็นนี้ก็ยังพอทำเนาเพราะภพที่เราต้องการนั้นเป็นความสุข แต่นี่จะปรารถนาอะไรได้สมหวัง ถ้าเราไม่เร่งสร้างเหตุให้เป็นความสมหวังเสียแต่บัดนี้ คือ

สร้างจิตสร้างใจ สร้างคุณงามความดี ของเราไว้เสียแต่บัดนี้! นี่คือสร้างความสมหวังไว้สำหรับตน แล้วจะเป็นผู้สมหวังเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งถึงแดนสมหวังในวาระสุดท้ายอันเป็นที่พึงพอใจ ได้แก่ “วิมุตติ” หลุดพ้น คือพระนิพพานในอวสาน

ก็เห็นว่าสมควร เอาละ ยุติ