นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ธรรมของพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างถูกต้องไม่มีปิดบังลี้ลับ แสดงตามความจริงที่มีอยู่ทุกอย่างไม่ว่าขั้นไหนแห่งธรรม เช่นว่า บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพานมีจริงอย่างนี้เป็นต้น จนกระทั่งเข้าถึงเรื่องราวของกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ เป็นความจริงด้วยกันหมด จึงหาที่ค้านไม่ได้ แต่ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาสำหรับพวกเรา?

ธรรมท่านแสดงไว้อย่างเปิดเผยไม่มีอะไรเป็นปัญหา ไม่มีอะไรลี้ลับเลย แสดงตามความจริงล้วนๆ ซึ่งความจริงนั้นก็มีอยู่ แสดงตามความจริงนั้นๆ ทุกขั้นแห่งความจริง แต่พวกเราก็ไม่เข้าใจ เหมือนท่านบอกว่า “นี่น่ะๆ!” ซึ่งชี้ให้คนตาบอดดู คนหูหนวกฟัง คงจะเป็นอย่างนั้น มือคลำถูกแต่ตาไม่เห็น ไปที่ไหนก็โดนกันแต่ทุกข์ ทั้งๆ ที่ท่านสอนว่าทุกข์เป็นอย่างไรก็รู้อยู่ แต่ก็โดนเอาจนได้! บอกว่าทุกข์ไม่ใช่ของดี ก็โดนแต่ทุกข์ เพราะสาเหตุ และเดินตามสาเหตุการกอบโกยทุกข์ขึ้นมาเผาตัวเองทั้งนั้น

ใน “ธรรมคุณ” ท่านแสดงว่า “สนฺทิฏฺฐิโก” สุขทุกข์เป็นสิ่งที่รู้เห็นอยู่กับตนด้วยกัน มีการตายเป็นต้น “เอหิปสฺสิโก” “โอปนยิโก” นี่เป็นหลักสำคัญมาก “เอหิปสฺสิโก” ท่านจงย้อนจิตเข้ามาดูธรรมของจริง ไม่ได้หมายถึงให้ไปเรียกคนอื่นมาดูธรรมของจริง “เอหิ” ก็คือสอนผู้นั้นแหละผู้ฟังธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมนั่นแหละ ให้ท่านจงย้อนใจเข้ามาดูที่นี่แล คือความจริงอยู่ที่นี่

ถ้าพูดแบบ “โลกๆ” ก็ว่า “ความจริง” ประกาศตนให้ทราบอยู่ตลอดเวลา หรือท้าทายอยู่ตลอดเวลาจริงขนาดที่เรียกว่า “ท้าทาย” ว่างั้นแหละ ให้ดูที่นี่ “เอหิ” ให้ดูที่นี่ไม่ได้หมายความว่าให้เรียกคนอื่นมาดู ใครจะมาดูได้! ก็เขาไม่เห็นของจริง ไม่รู้ของจริง! ของจริงอยู่กับเขาเขายังไม่เห็น เขายังไม่รู้ จะให้มาดูของจริงอยู่ที่เราได้อย่างไร “เอหิปสฺสิโก” ท่านสอนให้ดูความจริงของจริงของเจ้าของซึ่งมีอยู่นี้ต่างหาก “โอปนยิโก” เห็นอะไรได้ยินอะไร สัมผัสอะไร ให้น้อมเข้ามาเป็นประโยชน์สำหรับตน เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องสุขเรื่องทุกข์ ที่สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือปรากฏขึ้นภายในใจเกี่ยวกับเรื่องภายนอก คืออดีตอนาคต เป็นเรื่องอะไรของใครก็ตาม ให้โอปนยิโกน้อมเข้ามาสู่ใจซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ อันจะก่อเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในตน ไม่นอกเหนือไปจากจิตนี้เลย

จิตจึงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา” เท่านี้ก็กระเทือนโลกธาตุแล้ว จะเคลื่อนเล็กน้อยก็ใจเป็นต้นเหตุ ธรรมทั้งหลายจึงมีใจเป็นสำคัญ มีใจเท่านั้นจะเป็นผู้รับทราบสิ่งต่างๆ ไม่มีอันใดที่จะรับทราบได้นอกจากใจ

ธรรมทั้งหลายคืออะไร? กุศลธรรม อกุศลธรรม มีอยู่ในสถานที่ใดถ้าไม่มีอยู่ที่ใจ กุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะความฉลาดของใจ ปรับปรุงใจให้มีความเฉลียวฉลาดทันกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งออกมาจากภายในใจของตนเอง เมื่อ “อกุศลธรรม” เกิดขึ้นที่ใจ ก็ให้ “กุศลธรรม” อันเป็นเรื่องของปัญญาพินิจพิจารณาแก้ไขความโง่ของตน ความโง่ของตนที่เรียกว่า “อกุศล” นั้นให้หมดไปจากใจ

“โอปนยิโก” น้อมเข้ามาที่นี่ เห็นเรื่องโง่เรื่องฉลาด เรื่องสุขเรื่องทุกข์ของใครก็ตาม ให้น้อมเข้ามาเป็นคติเตือนใจ “เอหิปสฺสิโก” ให้ดูที่ตรงนี้ บ่อแห่งเหตุทั้งหลายคือใจ แสดงอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันเวลาหยุดยั้ง ทำงานอยู่อย่างนั้นยิ่งกว่าเครื่องจักรเครื่องยนต์ ซึ่งเขาเปิดเป็นเวล่ำเวลาและปิดไปตามกาลเวลา ใจไม่มีที่ปิด เปิดจนกระทั่งวันตายไม่มีปิด แล้วก็บ่นว่า “ทุกข์” บ่นไปเท่าไรก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่แก้ที่ต้นเหตุที่ควรแก้ ซึ่งถ้าแก้ได้แล้วทุกข์ก็ดับไปเป็นลำดับ ตามความสามารถและความเฉลียวฉลาดรอบคอบ

ฉะนั้นจึงไม่สอนไปที่อื่นนอกจากใจผู้ปฏิบัติ ถ้าสอนไปก็เหมือนสอนให้ตะครุบเงา โน่นๆๆ ไม่มองดูตัวจริงอันเป็นต้นเหตุ

สอนที่ต้นเหตุเป็นสำคัญ เพราะกิเลสเกิดขึ้นที่นี่ จะเอายังไง? อะไรเป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ความลำบากแก่สัตว์โลกทั้งหลาย? ตลอดถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย? นี่เป็นผลมาจากกิเลสซึ่งเป็นเชื้อเป็นตัวเหตุสำคัญ มันเกิดขึ้นอย่างไร? ถ้าไม่เกิดขึ้นจากใจ มันอยู่ที่นี่ จึงไม่ไปสอนที่อื่น เพราะเวลาพิจารณาก็เอาจริงเอาจัง เอาเหตุเอาผลให้รู้ความจริง และถอดถอนกิเลสไปได้โดยลำดับ ก็ถอดถอนที่ตรงนี้ เพราะตรงนี้เป็นผู้ผูกมัดตัวเอง เป็นผู้สั่งสมกิเลสขึ้นมาในขณะที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เรื่องรู้ราว เวลาถอดถอนด้วยอุบายของสติปัญญาที่มีความเฉลียวฉลาด พอถอดถอนได้ก็ถอดถอนกันที่ตรงนี้ สติให้มีอยู่ที่ตรงนี้ จุดนี้เป็นจุดที่ควรระวังอย่างยิ่ง เป็นจุดที่ควรบำรุงรักษาอย่างยิ่งคือใจ! บำรุงก็บำรุงที่นี่ ด้วยการภาวนาและส่งเสริมสติที่มีอยู่แล้วให้มีความเจริญขึ้นเรื่อยๆ อย่าให้เสื่อม และรักษาจิตด้วยดี อย่าให้อะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ระมัดระวังอย่าให้จิตนี่แส่ออกไปยุ่งกับเรื่องต่างๆ แล้วนำสิ่งนั้นเข้ามาเผาตน นี่ท่านเรียกว่า “รักษา”

กำจัดก็คือค้นคว้าหาเหตุผลของมัน อันใดที่มีอยู่แล้วและเป็นของไม่ดี ให้พยายามแก้ไขและค้นคว้าหาเหตุหาผล เพื่อแก้ไขถอดถอนตามจุดของมันที่เกิดขึ้น

เรื่องใหญ่โตแท้ๆ อยู่ที่จิต เรื่องเกิดก็คือจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ใน “วัฏสงสาร” จนไม่รู้ประมาณว่านานเท่าไร เพียงคนคนเดียวเท่านี้ก็เต็มโลกแล้วละซากศพที่เกิดตาย เกิดตายซ้ำๆ ซากๆ แต่เจ้าของรู้ไม่ได้ นับไม่ได้ นับไม่ถ้วน ไม่รู้จักนับ เพราะมีมากต่อมาก และความโง่ปิดบังตัวเอง ความจริงของตัวที่เป็นมาเท่าไรก็ถูกปิดบังเสียหมด ยังเหลือแต่ความหลอกลวง โลๆ เลๆ หาความจริงไม่ได้ ท่านจึงสอนให้แก้สิ่งเหล่านี้ให้หมดไป

พยายามอบรมสติให้ดีให้ทันกันกับความคิดปรุง มันปรุงขึ้นที่จิตและปลุกปั่นจิตอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีสติอยู่แล้วเพียงความกระเพื่อมของจิตปรุงแย็บออกมาเท่านั้น จะเป็นการปลุกสติปัญญาให้เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เรานั่งอยู่กับที่ เราเฝ้ามันอยู่กับที่ ที่จะเกิดขึ้นแห่งเหตุทั้งหลายได้แก่ใจ เราต้องทราบ พอกระเพื่อมตัวออกมาก็ทราบ ทราบโดยลำดับนี่แหละ

การหลอกลวงของจิตก็หลอกลวงที่นี่ จิตที่จะเข้าใจความจริงก็เข้าใจด้วยปัญญา นอกจากนั้นก็พิจารณาดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ให้เห็น จนกระทั่งฝังจิต คือมันซึ้งในจิตว่าอาการแต่ละอาการนั้นเป็นความจริงอย่างนั้น ให้พิจารณาหลายครั้งหลายหนหากซึ้งไปเอง คราวนี้ก็ทราบ คราวนั้นก็ทราบ คราวนี้ก็เข้าใจ คราวนั้นก็เข้าใจ เข้าใจหลายครั้งหลายหน เลยเป็นความซาบซึ้งแน่ใจ

รูป แน่ะ ฟังซิ! อะไรเป็นรูป รวมทั้งหมดผมก็เป็นรูป ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกก็เป็นรูป รวมเข้าไปทั้ง “อวัยวะ” ที่เป็นด้านวัตถุ ท่านเรียกว่า “กองรูป” หรือเรียกว่า “กาย”

เอ้า! ดูนี่ เวลาท่องเที่ยวให้สติตามความรู้ที่เดินไปในอวัยวะส่วนใดอาการใดของร่างกาย ให้สติเป็นผู้คุมงาน ปัญญาเป็นผู้ตรองไป ความรู้ รู้ไปตามอาการนั้นๆปัญญาตรองไปให้ซึ้งๆ สติรับทราบไปทุกระยะ นี่คืองานของเราแท้

ส่วนงานเร่ๆ ร่อนๆ งานคิดปรุงโดยไม่มีสตินั้นเราเคยทำมาพอแล้ว และเคยเป็นโทษ เกิดโทษ กระทบกระเทือนจิตใจเรามามากแล้วเพราะความคิดปรุงนั้นๆ

งานเช่นนี้เป็นงาน เป็นงานรื้อถอนทุกข์ภัยออกจากใจโดยตรง เป็นงานจำเป็น งานคือการกำหนดด้วยความมีสติ ประกอบด้วยปัญญา ไตร่ตรองใน “ขันธ์”โดยสม่ำเสมอไม่ลดละ ความรู้เดินไปตามอาการนั้นๆ และถืออาการนั้นๆ เป็นเหมือน “เส้นบรรทัด” ให้ใจเดินไปตามนั้น สติปัญญาแนบไปตามไม่ลดละ เหมือนกับเขียนหนังสือไปตามเส้นบรรทัด ให้ใจเดินไปตามนั้น สติปัญญาแนบไปตามไม่ลดละ เหมือนกับเขียนหนังสือไปตามเส้นบรรทัด สติประคองไปด้วย ดูไปด้วย นี่เรียกว่า “เที่ยวกรรมฐานตามป่าช้าซึ่งมีอยู่กับตัว”

ความอยากรู้อยากเห็นอย่างรวดเร็วตามใจนั้น อย่าเอาเข้ามาเกี่ยวข้องให้เหนือความจริงที่กำลังพิจารณา รู้อย่างไรให้เข้าใจตามความรู้นั้น แล้วกำหนดตามไปเรื่อยๆ แยกดูความเป็นอยู่ของขันธ์ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร มีหนังหุ้มอยู่ภายนอกบางๆ เท่านั้นแลที่หลอกลวงตาโลก ลวงตาท่านลวงตาเรา ไม่ได้หนาเท่าใบลานเลย นั่นคือผิวหนัง

เราจะพิจารณาในแง่หนึ่งแง่ใด ก็เป็นการพิจารณาเพื่อถอดถอนความหลงของตัว เวลาพิจารณาอย่างนี้ทำให้เพลินดี เอ้า! ดูขึ้นไปข้างบน ดูลงไปข้างล่าง ดูออกไปข้างนอกข้างในกายเรานี้แล เป็นการท่องเที่ยวให้เพลินอยู่ในนี้ สติตามอย่าให้ “สักแต่ว่าไป” ให้สติตามไปด้วย ปัญญาตรองไปตามความรู้ที่รู้กับอาการนั้นๆ ไปด้วย ขึ้นข้างบนลงข้างล่างที่ไหนถูก “สัจธรรม” ทั้งนั้น

งานนี้เรียกว่า “งานรื้องานถอนพิษภัย” ที่ “อุปาทาน” เข้าไปแทรกสิง ไปยึดไปถือทุกชิ้นทุกอันภายในร่างกายนี้ออก จนไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในใจอีกต่อไป เพราะฉะนั้นทุกข์จึงมีอยู่ทุกแห่งทุกหน เพราะ “อุปาทาน” เป็นตัวการสำคัญ คำว่า “ทุกข์ มีอยู่ทุกแห่งทุกหน” หมายถึงทุกข์เพราะความยึดถือ ทำให้ไปเป็นทุกข์ที่ใจ ไม่ใช่เป็นทุกข์ที่อื่น

เพียงร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเป็นทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าก็เป็นได้ พระสาวกก็เป็นได้ เพราะขันธ์นี้อยู่ในกฎของ “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” อยู่แล้ว จะต้องแสดงตามกฎของมัน แต่สำหรับจิตผู้พ้นจาก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และมีฐานะที่จะพ้นจาก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ ให้พิจารณาสิ่งที่ว่านี้ อย่าให้กระทบกระเทือนตัวเองได้ด้วยความเผอเรอใดๆ เพราะการวาดภาพของตัวเอง เพื่อพิจารณารู้ความจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้มากระทบกระเทือนใจได้ คือไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นภายใน เพราะความเสกสรรว่า “กายเป็นเรา เป็นของเรา” เป็นต้น

พิจารณาลงไป ดูลงไป จนกว่าจะเห็นชัดด้วยปัญญาจริงๆ เอ้า! หนังเป็นอย่างไร หนังสัตว์ที่เขาใช้ทำเป็นกระเป๋านั้นเป็นอย่างไร หนังรองเท้าเป็นอย่างไร ดูกันให้หมด ตลอดเนื้อ เอ็น กระดูก เอ้า!ดูเนื้อสัตว์ ดูเนื้อบุคคล มันก็เหมือนกัน ดูเข้าไป กระดูกเป็นอย่างไร กระดูกสัตว์ กระดูกคน ต่างกันที่ตรงไหน ดูเข้าไปให้เต็มความจริงที่มีอยู่กับตัว ดูเข้าไป ดูภายในร่างกายนี้แหละ เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่แล้วตามความจริงของเขา

ทำไมใจเราจึงไม่รู้ ไม่อาจหาญ เพียงเห็นตามความจริงนั้นแล้ว ก็เริ่มท้าทายของปลอมได้ด้วยความจริงที่ตนรู้ตนเห็น ความจริงที่รู้เห็นด้วยปัญญานี้มีอำนาจมาก สามารถลบล้างความเห็นอันจอมปลอมได้โดยลำดับ จนความปลอมหมดสิ้นไป

ความจริงที่เกิดขึ้นกับใจย่อมเกิดได้ด้วยสติปัญญา คำว่า “ความจริง” นั้นถูกทั้งสองเงื่อน เงื่อนหนึ่งความจริงทั้งหลาย ไม่ว่าฝ่ายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นความจริง เป็นของมีอยู่ ท้าทายอยู่ด้วยความมีอยู่ของตน และปัญญาก็หยั่งทราบตามความจริงของเขา จนปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาภายในใจ นี่คือวิธีการถอดถอนกิเลสเป็นอย่างนี้

นี่แหละความจริงกับความจริงเข้าถึงกันแล้วไม่เป็นภัย นอกจากถอดถอนพิษภัยทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น

ตอนที่พิจารณาเดินกรรมฐาน เที่ยวกรรมฐานตามที่ว่านี้ เที่ยวไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ตรวจไปตรองไป ออกจากกรรมฐานตอนนั้นแล้ว ก็เที่ยวกรรมฐานให้ถึงที่สุดว่าร่างกายนี้จะสลายแปรสภาพไปอย่างไรบ้าง กำหนดลงไป มันจะเปื่อยจะผุจะพังอย่างไร? ให้กำหนดลงไปๆ จนสลายจากกันไปหมดไม่มีเหลืออยู่เลย เพราะร่างกายนี้จะต้องเป็นเช่นนั้นแน่นอน

แต่การกำหนดนั้น ต่างๆ กันตามความถนัดใจ สมมุติว่าจะกำหนดอาการนั้นให้เห็นชัดภายในจิต เราจะจับอาการใด เช่น หนัง เป็นต้น ให้จับอาการนั้นไว้ให้แน่ ให้ภาพนั้นปรากฏอยู่ภายในจิต สติจับหรือจดจ้องอยู่ที่ตรงนั้น

ภาพนั้นจะปรากฏสูงต่ำไปไหนก็ตาม เราอย่าไปคาดไปหมาย ความสูง ความต่ำสถานที่ที่เราจะพิจารณานั้น ให้ถือเอาเป้าหมายของการทำงาน ให้ความรู้ติดแนบกันอยู่นั้น ด้วยสติเป็นผู้ควบคุม อย่าเผลอตัวคิดไปที่อื่น

อาการนี้จะขยายตัวมากน้อยก็ให้เห็นประจักษ์ใจในปัจจุบัน คือขณะที่ทำ จะสูงจะต่ำก็ให้รู้อยู่อย่างนั้น อย่าไปคาดว่านี้สูงเกินไป นี่ต่ำเกินไป นี่นอกจากกายไปแล้ว

ทีแรกเรานึกว่าเราพิจารณาอยู่ภายในกาย อาการนี้อยู่ในกาย ทำไมจึงกลายเป็นนอกกายไป เราอย่าไปคิดอย่างนั้น แม้จะสูงจะต่ำ จะออกนอกออกในก็ตาม ถ้าเราไม่ปล่อยความรู้ในเป้าหมายที่เรากำลังพิจารณานั้น นั่นแหละจะเห็นความแปลกประหลาด และจะเห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาจากอาการนั้นแหละ เช่นเรากำหนดเนื้อ จะเป็นเนื้ออวัยวะส่วนใดก็ตาม กำหนดลงตรงนั้น ให้เห็นชัดอยู่ภายในนั้น แล้วจะค่อยกระจายไป กระจายไปเอง

เมื่อสติตั้งมั่นอยู่ด้วยดี คือรู้สึกตัวจำเพาะหน้า จิตก็รู้ว่าทำงาน ปัญญาก็ตรองตามนั้น สักประเดี๋ยวอาการนั้นก็จะค่อยกระจายลงไป คือหมายความว่า มันเปื่อยลงไปๆ อันนั้นก็พัง อันนี้ก็พัง

ดูให้มันชัดเจนลงไป เราไม่ต้องกลัวตาย จะกลัวอะไรเราดูความจริงนี่ ไม่ใช่ดูว่าเราจะตายนี่นา! เอ้า! สลายลงไปๆ นี่เราเคยพิจารณาอย่างนั้น อันนั้นขาดลงไปอันนี้ขาดลงไป มันเพลินขณะที่พิจารณา พิจารณาร่างกายตัวเรานี้เองแหละ แต่ในขณะที่พิจารณาด้วยความเพลินนั้น ร่างกายปรากฏว่าหายไปหมดไม่รู้สึกตัวเลย ทั้งๆ ที่เรากำหนดพิจารณากายอยู่นั้นแล

เอ้า! ร่างกายพังลงไปๆ หัวขาดลงไป แขนขาดลงไป ตกลงไปต่อหน้าต่อตาแขนท่อนนั้นกระดูกท่อนนั้นขาดลงไป กระดูกท่อนนี้ขาดลงไป ภายในกายนี้ทะลักออกไป เอ้า! ดูไปเรื่อยๆ เพลิน ดูเรื่อยๆ แตกลงไปๆ

ส่วนน้ำก็ซึมลงไปในดิน และเป็นไอไปในอากาศ ฉะนั้นเวลาปรากฏน้ำซึมซาบลงไปในดินและออกเป็นอากาศไปหมดแล้ว ส่วนต่างๆ ก็แห้ง อวัยวะส่วนนี้แห้ง แห้งแล้วกรอบเข้าๆ แห้งเข้าไปจนกลายเป็นดินไป ดินกับกระดูกของอวัยวะเลยกลมกลืนเป็นอันเดียวกันไป! นี่เห็นชัด

ส่วนที่แข็งคือกระดูก กำหนดเห็นเป็นลำดับ และกำหนดเป็นไฟเผาบ้าง กำหนดให้ค่อยผุพังลงไปบ้าง กระจายลงไปตามลำดับบ้าง จนกลืนเข้าเป็นอันเดียวกับดินอย่างเห็นได้ชัด

ที่ชัดที่สุดเกี่ยวกับการพิจารณานี้ คือธาตุดินกับธาตุน้ำ สิ่งที่ติดใจซึ่งภายในใจก็คือธาตุดิน ส่วนน้ำนั้นก็ปรากฏเป็นอย่างนั้น ลม ไฟ ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรนัก ไม่เป็นข้อหนักแน่นสำหรับการพิจารณา และไม่เป็นสิ่งที่จะซึ้งภายในใจเหมือนอย่างเราพิจารณาร่างกายซึ่งเป็นอวัยวะหยาบ

พออันนี้กระจายลงไป กลายเป็น “ดิน” หมด จิตก็เวิ้งว้างละซิ! ขณะนั้นเวิ้งว้างไปหมด! อย่างนี้ก็มี

แต่เวลาพิจารณากรุณาอย่าได้คาดได้หมาย ให้เอาความจริงในตน เป็นสมบัติของตน เป็นสักขีพยานของตน อย่าเอาความคาดคะเนมาเป็นสักขีพยาน มาเป็นข้อดำเนิน จะไม่ใช่สมบัติของเรา นั่นเป็นสมบัติของท่าน สมบัติของเราคือเรารู้เอง เราเป็นอย่างไรให้เป็นขึ้นภายในตัวเราเอง นั้นแลคือความรู้ของเรา ความเห็นของเราแล เป็นสมบัติของเราแท้! ควรกำหนดอย่างนี้

บางครั้งไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป หากเป็นไปของมันเองโดยหลักธรรมชาติ พอการสลายลงไปเป็นดินเช่นนั้นแล้ว บางทีกระดูกมันค่อยผุพังลงไปๆ ยังไม่หมด แต่อันหนึ่งมันปรากฏขึ้นภายในจิตใจว่า “ที่มันยังไม่หมด ส่วนที่เหลือจะต้องเป็นดินเช่นเดียวกันอีก” มันมีความปรุงขึ้นในจิต ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นไม่มีกายเลยในความรู้สึก แต่จิตหากปรุงขึ้นอย่างนั้น

สักประเดี๋ยวไม่ทราบว่าแผ่นดินมาจากไหน มาทับกระดูกที่ยังเหลืออยู่ พรึบเดียว คือมาทับส่วนที่ยังผุพังไม่หมดให้กลายเป็นดินไปหมดด้วยกัน พอกระดูกส่วนที่เหลือกลายเป็นดินไปหมดแล้ว จิตไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร มันพลิกตัวของมันอีกแง่หนึ่ง ขณะที่จิตพลิกกลับอีกทีเลยหมด! แผ่นดินก็ไม่มี ทั้งๆ ที่แผ่นดินมันไหลมาทับกันอย่างรวดเร็ว พลิกมาทับกองกระดูกของเราที่ยังละลายไม่หมดลงเป็นดิน

ทีนี้ก็รู้ขึ้นมาพับ! อีกว่า “อื่อ! ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นดินหมด ในร่างกายอันนี้ที่มันลงไปก็เป็นดินหมด!” หลังจากนั้นครู่หนึ่งจิตก็พลิกตัวอีกที และพลิกอย่างไรไม่ทราบความสมมุติได้ ดินเลยหายไปหมด อะไรๆ หายไปหมด เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ โล่งไปหมดเลย เกิดความอัศจรรย์ขึ้นมาอย่างพูดไม่ถูก ซึ่งการพิจารณาเช่นนี้เราไม่เคยเป็น! มันเป็นขึ้นมาให้รู้ให้เห็นอย่างชัดเจน จิตเลยอยู่นั้นเสีย คืออยู่อันเดียวเท่านั้น จะมีขณะใดขณะหนึ่งของจิตว่าเป็นสองไม่มีเลย! เพราะมันตายตัวด้วยความเป็นหนึ่งแท้ๆ

พอขยับจิตขึ้นมาก็แสดงว่าเป็นสองกับความปรุง แต่นี่ไม่มีความปรุงอะไรทั้งสิ้น เหลือแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้ และเป็นของอัศจรรย์อยู่ในความรู้นั้น ขณะนั้นมันเวิ้งว้างไปหมดเลยโลกธาตุนี้ ต้นไม้ ภูเขา อะไรไม่มีในความรู้สึกตอนนั้น จะว่าเป็นอากาศไปหมด แต่ผู้นั้นก็ไม่สำคัญว่าเป็นอากาศอีกเหมือนกัน มีอยู่เฉพาะความรู้นั้นเท่านั้น!

แต่จิตสงบตัวอยู่เป็นเวลาชั่วโมงๆ! พอจิตถอนออกมาแล้วแม้จะกำหนดอะไรก็เวิ้งว้างไปอีกเหมือนกัน นี่อาจเป็นได้คนละครั้งเท่านั้น นี้ก็เคยเป็นมาเพียงครั้งเดียวไม่เคยซ้ำอีกเลย! ส่วนการพิจารณาลงไปโดยเฉพาะๆ มันเป็นได้ตามความชำนาญของจิต จนกระทั่งเป็นไปทุกครั้งที่เราพิจารณา

การพิจารณาความแปรสภาพเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ยังชัดเจนอยู่ทุกเวลาที่เราพิจารณา ความที่เป็นเช่นนี้แลเป็นความสามารถ ที่จะทำจิตเราให้มีกำลังและความเคยชินกับความจริงคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แท้ สามารถถอดถอนความเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” ออกได้โดยลำดับ เพราะตามความจริงแล้ว ร่างกายนี้ถ้าว่าธาตุมันก็ธาตุ ถ้าว่า “ธาตุดิน” มันก็ธาตุดินเราดีๆ นี่เอง ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราตามคำเสกสรรมั่นหมายต่างๆ

การพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ รู้ไม่หยุดยั้ง รู้เรื่อยๆ เพราะการพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ย่อมจะเพิ่มความซาบซึ้งโดยลำดับจนเข้าใจชัด แล้วถอดตัวออกจากคำที่ว่า “กายเป็นเราเป็นของเรา” ก็เลยกายสักแต่ว่ากาย ถ้าให้ชื่อว่ากายก็สักแต่ว่ากาย ถ้าจะให้ชื่อว่ากายสักแต่ว่าปรากฏสภาพเท่านั้นก็พูดได้ เมื่อจิตรู้อย่างพอตัวแล้วไม่มีอะไรเป็นปัญหา ใจจะว่าเขาเป็นอะไรเขาไม่มีปัญหา เพราะเป็นปัญหาอยู่กับใจดวงเดียว

ฉะนั้นจำต้องแก้ปัญหาเราเองออกจากความลุ่มหลง ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ ให้เข้าสู่ความจริงแห่งธรรม คือ รู้ล้วนๆ นั้นก็ธาตุล้วนๆ แม้จะสมมุติว่า “กาย” ก็คือ ธาตุล้วนๆ ย้อนเข้ามาในจิตก็จิตล้วนๆ ทั้งสอง “ล้วนๆ”นี้ต่างก็เป็นความจริงล้วนๆ เมื่อทราบความจริงชัดอย่างนี้แล้ว เอ้า! เวทนาจะเกิดขึ้นก็เกิด เพราะเวทนาก็เป็นธาตุอันหนึ่ง หรือเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเช่นเดียวกับร่างกาย มันวิ่งถึงกันอย่างนั้น

“สัญญา” ความหมาย พอปรุงแผล็บเราก็ทราบเสียว่า มันออกไปจากจิตนี้ไปปรุงอย่างนั้นไปสำคัญอย่างนี้ เมื่อทราบแล้วจิตก็ถอนตัว สัญญาก็ดับไปทันที ถ้าเราไม่ทราบมันก็ต่ออันนี้ดับอันนั้น ต่อสืบต่อกันไปเรื่อยๆ เหมือน “ลูกโซ่” พอทราบมันก็ดับของมัน ดับในขณะที่สติรู้ทัน และไม่ปรุงเป็นเรื่องเป็นราวอะไรขึ้นมาได้ นี่เรียกว่า “สติทัน”ถ้าไม่ทันเรื่องก็ต่อเรื่อยๆ การพิจารณาความจริงในร่างกายจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน “สติปัฏฐานสี่” ซึ่งมีอยู่ในร่างกายจิตใจนี้ทั้งนั้น สัจธรรมก็มีอยู่ที่นี่ ท่านจึงสอนลงที่นี่ สรุปแล้วลงที่จิต การที่ว่าพิจารณาไปทั้งหมดนั้นพิจารณาเพื่ออะไร? ก็พิจารณาเพื่อให้จิตรู้ตามความเป็นจริง แล้วจะได้ปล่อยวางความงมงายในการยึดถือ เข้ามาสู่ความเป็นตน

เอ้า! เมื่อหมดความงมงายในธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่แล้ว เลยหมดความงมงายในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเกี่ยวกับขันธ์ห้านี้ แล้วก็เข้ามาพิจารณาความงมงายของจิตอีก แน่ะ! มันยังมีเรื่องของมันอีก!

ความงมงายตามขั้นของกิเลสที่ละเอียดนี้ เรียกว่า “เป็นความละเอียดของกิเลส”เป็นความงมงายอันละเอียดของจิต ย้อนเข้ามาพิจารณาเข้ามาอีก จะเอาอะไรเป็นหลักเกณฑ์ที่นี่?

ก็เราพิจารณาจิต จิตเป็นนามธรรม เวทนาก็เป็นนามธรรม กิเลสก็เป็นนามธรรม ปัญญาก็เป็นนามธรรม ไม่ว่าแต่เพียงจิตจะเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็น“นามธรรม” กับสิ่งที่เป็น “นามธรรม” มันอยู่ด้วยกันได้ ติดกันได้ กิเลสกับจิตต่างก็เป็นนามธรรมด้วยกันจึงติดกันได้

เอ้า! ปัญญาค้นลงไปเพราะเป็นนามธรรมด้วยกัน จะพิจารณาเช่นเดียวกับเราพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกแยะให้เห็นตามความจริงของมัน แล้วจับจิตนี้ขึ้นมาเป็นตัวผู้ต้องหา เป็นตัวนักโทษทีเดียว ฟาดฟันหั่นแหลกลงในตัวผู้ต้องหาหรือนักโทษนี้

นี่แหละคือผู้ต้องหาหรือนักโทษ มันเป็น “โทษ” เข้ามารวมไว้ในตัวนี้หมด ถือว่าตัวเก่งตัวรู้ตัวฉลาด สิ่งนั้นสิ่งนี้รู้ไปหมดแล้วในโลกธาตุนี้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส รู้หมด! รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณภายในร่างกาย ที่เป็นขันธ์ห้านี้ก็รู้หมด! แต่ไม่ยอมรู้ตัวเอง! นั่นนะซี! มาติดตรงนี้ มาโง่ตรงนี้! พร้อมทั้งย้อนปัญญาเข้าภายในจิตนี้อีก ฝ่าฟันตรงนี้ออกให้ทะลุไป แทงเข้าไปตรงนี้ เข้าไปหาความรู้นี้ ความรู้ที่ว่าเก่งๆ นั่นแหละคือ “ตัวงมงายของจิต” แท้!

เมื่อพิจารณาคลี่คลายโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว สภาพที่แทรกอยู่กับจิตก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้น จิตจะคงตัวอยู่ไม่ฉิบหายเพราะการพิจารณาหาความจริง ก็ให้ฉิบหายไป ไม่ต้องอาลัยเสียดาย ถ้าจิตมั่นคงต่อความจริงแล้ว! จิตคงอยู่ไม่ฉิบหาย!ถ้าจิตทรงความจริงไว้ตามธรรมชาติของตัวเองซึ่งเป็นความจริงจริงๆ แล้ว ก็จิตนี้แลจะพ้นโทษ ถึงความบริสุทธิ์ จิตจะสูญหรือไม่สูญก็ให้รู้กัน!

ค้นลงไปไม่ต้องเสียดายอะไรทั้งสิ้น จิตก็ไม่ต้องเสียดาย ไม่ต้องกลัวว่าจิตจะต้องถูกทำลายจะสลาย จิตจะฉิบหายไป จิตจะสูญสิ้นไปไหน!

เมื่อถูกปัญญาทำลายสิ่งแทรกซึมหมดแล้ว กิเลสทุกประเภทสูญสิ้นไปเองเพราะเป็นสิ่งจอมปลอมอยู่ภายในจิต เมื่อกำหนดพิจารณาลงไปจริงๆ แล้ว ไอ้สิ่งที่ควรสูญสิ้นไปยังไงก็ทนอยู่ไม่ได้ มันต้องสูญ ส่วนธรรมชาติที่สูญไม่ได้ ทำยังไงก็ต้องอยู่ คงตัวอยู่ คือจิตนี้จะสูญไปไหน! นั่นแหละผู้ที่ถูกกิเลสนี้ครอบงำอยู่ก็คือจิต ปัญญาฟาดฟันกิเลสแหลกละเอียดลงไปจากจิตแล้ว จิตนี่ก็เลยกลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมา ผู้นี้แลคือผู้บริสุทธิ์แท้ จะเอาอะไรไปสูญ! สูญแล้วจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร? อันนั้นตาย อันนี้ฉิบหาย แต่อันนี้เป็น “อมตํ แท้” อมตํ ด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ อมตํ ที่กลิ้งไปมาตาม “วัฏวน” ทั้งหลายที่เคยเห็นมา อันนั้นก็ไม่ตาย แต่มันกลิ้งไปอยู่อย่างนั้นตามกฎ “วัฏจักร”

แต่ “อมตํ” นี้ไม่ตายด้วยไม่กลิ้งด้วย นั้นเป็น “วิวัฏฏะ” คือไม่ตายและไม่หมุน นี่ตัวจริงอยู่ภายในท่ามกลางขันธ์ของเรา อันนี้แหละตัวสำคัญ!

เจ้าตัวยุแหย่ก่อกวนมันเข้าไปกลุ้มรุมจิตนี่ให้หลงไปตามโลก ตามธาตุตามขันธ์ตามทุกขเวทนา ความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ วุ่นวายไปหมด ความจริงเขาไม่ได้ว่าอะไรนี่ร่างกายมีอะไรก็มีอยู่อย่างนั้น เวทนาเกิดขึ้นก็เกิดตามเรื่องของมัน มันไม่ทราบว่าตนเป็นเวทนา ไม่ทราบว่าตนเป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นเฉยๆ อะไรเลย ก็จิตนี้เป็นผู้ไปให้ความหมาย แล้วก็ไปหลงความหมายของตัวเองโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากเกิดโทษแก่ตัวถ่ายเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาด้วยปัญญา ให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน แล้วอะไรจะฉิบหาย เราจะขาดทุนเพราะอะไร ร่างกายแตกก็แตกไปซี ก็ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ท่านบอกไว้แล้วว่าธรรมเหล่านี้ครอบโลกธาตุ จะไม่ครอบขันธ์อย่างไร ไตรลักษณ์เคยครอบโลกธาตุอยู่แล้วทำไมจะไม่ครอบขันธ์เราได้ นี่เมื่อมันเป็นไปตามกฎ อนิจฺจํทุกฺขํ อนตฺตา เราจะไปขัดขวางได้อย่างไร

เอ้า! ปล่อยมันไป อะไรไม่ทน เอ้อ! แตกไป มันมีแต่สิ่งที่แตกที่สลายทั้งนั้นอยู่ในโลกธาตุนี้ เป็นแต่เพียงว่าช้าหรือเร็วต่างกัน มีเท่านั้น แล้วขันธ์ของเราจะทนไปได้อย่างไรตั้งกัปตั้งกัลป์ เพราะอยู่ในกรอบอันเดียวกัน เอ้า! พิจารณาให้เห็นตามความจริงไว้ก่อนที่ยังไม่แตกซึ่งเป็นความรอบคอบของปัญญา ให้เห็นชัดเมื่อถึงเวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้น เอ้า! ขึ้นเวทีกันวันนี้ ว่างั้นเลย!

วันนี้เราจะขึ้นเวทีเพื่อเห็นความจริง รู้ความจริงตามหลักธรรม ไม่ใช่ขึ้นเวทีเพื่อล่มจม ทุกขเวทนาเกิดขึ้นเป็นเรื่องของทุกขเวทนา การพิจารณาเรื่องของทุกขเวทนาซึ่งมีอยู่ในขันธ์นี้ เป็นเรื่องของสติปัญญา เราต้องการทราบความจริงจากการพิจารณา มันจะล่มจมไปไหน เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อความล่มจม เราไม่ได้ทำเพื่อความฉิบหายใส่ตัวเรา เราทำเพื่อชัยชนะ เพื่อความรู้ตามสัดส่วนของความจริง ที่มีอยู่ที่เป็นอยู่ให้รอบภายในใจต่างหาก แล้วรอดพ้นไปได้จากสิ่งนี้ นั่นเป็นมงคลอันสูงสุด!

ที่ท่านว่า “เป็นมงคลอันสูงสุด” “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” นี่แหละ การทำพระนิพพานให้แจ้งทำอย่างนี้แหละ พระนิพพานถูกปิดบัง ก็คือจิตนั้นแหละถูกปิดบัง ด้วยกิเลสตัณหาอวิชชา มันปิดบังให้มืดมิดปิดตา จึงแก้ไขกันด้วยวิธีนี้คือพิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความจริง เป็นการเปิดสิ่งที่ปิดบังทั้งหลายออก ที่เรียกว่า “ทำพระนิพพานให้แจ้ง” ให้แจ้งชัดภายในใจ เมื่อแจ้งชัดหมดแล้วก็ “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” เป็นมงคลอันสูงสุด!

อะไรจะสูงยิ่งกว่า “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ” อันนี้เป็นสูงสุด

นอกจากนั้นก็ “ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํเอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” จิตนี้อะไรมาสัมผัสก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวพรั่นพรึง สิ่งทั้งหลายเข้ามาแตะต้องสัมผัสไม่ได้ ที่เข้าไม่ได้เพราะมันหมดสิทธิ์

“เขมํ” ท่านว่าเป็นจิตดวงเกษม “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” มงคลสองข้อที่กล่าวมานี้อยู่ที่ใจนี่นะไม่ได้อยู่ที่ไหน ใจนี่แหละเป็นตัวมงคลและเป็นอัปมงคล ก็อยู่ในฉากเดียวกัน

เวลานี้เราแก้อัปมงคล เพราะมันมีติดใจเราอยู่ ให้เป็น “มงคล” ขึ้นมา “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ” เอ้า! แก้เปิดเผยลงไป “ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ อริยสจฺจาน ทสฺสนํ” นี่ ตโป คือความแผดเผากิเลส กิเลสเป็นของร้อน จึงเผากิเลสด้วย “ตปธรรม” คือสติปัญญา ซึ่งเป็นของร้อนสำหรับกิเลส และแผดเผากิเลสลงไป

“อริยสจฺจาน ทสฺสนํ” คือรู้เห็นอริยสัจ ทุกข์ก็รู้เต็มจิต สมุทัยก็ละได้เต็มใจมรรคก็บำเพ็ญได้เต็มภูมิของมหาสติ มหาปัญญา แน่ะ! จะว่าอย่างไรอีก นิโรธก็แสดงความดับทุกข์เต็มภูมิ

คำว่า “เห็นสัจธรรม” ท่านเห็นอย่างนั้น ผู้เห็นผู้รู้ “สัจธรรม” โดยสมบูรณ์นั้นแลคือผู้ทำพระนิพพานให้แจ้ง และผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายคือจิตนี้แล อยู่ที่นี่!

นี่พวกเราน่าจะเอาสาระสำคัญนี้ให้ได้! จิตเป็นตัวสำคัญ ส่วนร่างกายอะไรๆในขันธ์ห้าก็อย่างว่า! อย่างที่เราเห็นเราพิจารณาแล้วแล! ขอให้ได้ตัวนี้ซึ่งเป็นตัวสำคัญ!

เอ้า! อะไรจะขาดก็ขาดไปเถอะ โลกนี้มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มันเป็นมาแต่ไหนแต่ไร เราก็เคยเป็นมาแล้ว กี่กัปกี่กัลป์เกิดตายๆ นี่แหละ คราวนี้ก็เดินตามทางหลวงที่เคยเดินนั่นแล

“ทางหลวง” คือคติธรรมดาใครห้ามไม่ได้ ต้องเดินไปตามนี้ เราก็รู้ความจริงของคติธรรมดาอยู่บ้างแล้วนี่จะว่าอย่างไรต่อไปอีก ความรู้ในการแสดงก็มีเท่านี้ กรุณานำไปพิจารณาอย่าได้ประมาทนอนใจ

คำว่า “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การทำพระนิพพานให้แจ้งเป็นมงคลอันสูงสูด” ย่อมจะเป็นสมบัติของท่านพุทธบริษัทผู้พยายามไม่ลดละ ในวันหนึ่งแน่นอน

จึงขอยุติการแสดงเพียงเท่านี้ฯ