เล่ห์เหลี่ยมของกิเลส

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม เล่ห์เหลี่ยมของกิเลส เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติผู้รักษาตั้งแต่ศีลอุโบสถขึ้นไปจนถึงเณรถึงพระ ไม่ให้นั่งให้นอนบนที่นอนอันสูงและใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี นั่นท่านทรงกล่าวว่าผู้ปฏิบัติธรรมจะมีความประมาท เพลินในการหลับนอนจนเกินไปยิ่งกว่าทำความพากเพียร พระองค์ทรงมีอุบายห้ามทุกแง่ทุกมุม ซึ่งจะเป็นทางเพิ่มพูนกิเลสทั้งหลาย ทรงพยายามช่วยเหลือตัดหนทางที่จะเพิ่มพูนกิเลสของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ในบรรดาที่รักษาศีลตั้งแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ขึ้นไปถึงศีล ๒๒๗ ตามขั้นตอนของผู้รักษาศีลนั้นๆ

แม้ธรรมก็ไม่มีธรรมข้อใดที่จะสอนให้ผู้ปฏิบัติมีความประมาทนอนใจ มีแต่สอนให้มีสติให้มีปัญญา ความระมัดระวัง ให้มีความพากเพียรความอุตส่าห์พยายาม ให้เป็นนักต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยปรากฏในบทใดบาทใดว่าพระองค์ทรงสอนให้ลดละความพากเพียรและอ่อนแอในการงานที่ชอบทั้งหลาย

สอนฝ่ายฆราวาสก็สอนให้มีแต่ความขยันหมั่นเพียรทั้งนั้น เราจะเห็นได้ในบทธรรมว่า อุฏฐานสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในกิจการงานที่ชอบ อารักขสัมปทา เมื่อแสวงหาทรัพย์สมบัติมาได้ด้วยความชอบธรรมแล้ว ให้พยายามเก็บหอมรอมริบ อย่าใช้สุรุ่ยสุร่าย กัลยาณมิตตตา ให้ระมัดระวังอย่าคบคนพาลสันดานชั่ว ให้คบเพื่อนที่ดีงาม ระวังพวกปาปมิตรจะเป็นเหตุให้เสียได้ เพราะคนเราเมื่อคบกันไปนานๆ ย่อมมีนิสัยกลมกลืนไปในรอยเดียวกันได้ ทั้งคนดีหรือคนชั่ว มีทางเป็นไปได้ทั้งสอง คบคนชั่วก็เป็นคนชั่วไปได้ คบคนดีก็เป็นคนดีไปได้ สมชีวิตา ให้เลี้ยงชีพพอประมาณ อย่าสุรุ่ยสุร่ายหรือฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมลืมเนื้อลืมตัว

การเก็บทรัพย์เป็นสิ่งสำคัญ ให้รู้เหตุผลที่ควรเก็บ เหตุผลที่ควรจ่าย นั่นน่าฟังไหม ท่านสอนพวกเราที่เป็นนักสุรุ่ยสุร่ายน่ะ มีจุดไหนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนมีความลืมตัว ไม่มี เพราะฉะนั้นคำว่าประหยัด มัธยัสถ์ จึงเป็นหลักประกันการครองชีพของบุคคลทั่วไปตลอดถึงผู้ปฏิบัติ ความไม่ลืมตัวคือความมีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตัวนั่นเอง สมบัติมีมากมีน้อยให้มีความประหยัดความมัธยัสถ์ ให้รู้จักใช้สอยให้เกิดความสุข บรรดาสมบัติเงินทองมีมากน้อยอย่าให้เป็นข้าศึกแก่ตน เพราะความลืมตัวนั้นเลย

นี่เทศน์สอนฆราวาสท่านสอนอย่างนี้ และเข้ากันได้ทั้งฝ่ายพระด้วย เพราะธรรมเป็นกลางๆ ใช้ได้ทั่วไป แล้วแต่จะยึดมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับตนในธรรมขั้นใด หรือจะให้เป็นไปตามจิตใจของผู้ปฏิบัติขั้นใดได้ทั้งนั้น

เวลาสอนพระยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ให้มีความประมาทอุบายวิธีที่จะกั้นความรั่วไหลเข้ามาแห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะเท่าที่มีอยู่นี้ก็มากต่อมากจนล้นหัวใจ ในบางเวลาต้องระบายออกทางกิริยา จนเป็นสิ่งน่ากลัวมาก และพยายามฉุดลากมันออกยากยิ่งกว่าสิ่งใดอยู่แล้ว ไม่มีอันใดที่จะเหนียวแน่นยิ่งกว่ากิเลสภายในจิตใจของสัตว์ วิธีถอดถอนกิเลสนี้ก็ต้องลำบากยากยิ่งกว่าถอดถอนสิ่งใด ท่านจึงสอนพยายามระมัดระวังไม่ให้กิเลสที่ยังไม่มีหลั่งไหลเข้ามา ที่มีอยู่แล้วก็ให้พยายามรื้อถอนมันออกด้วยความพากเพียรความอุตส่าห์พยายาม ด้วยความขยัน ความเฉลียวฉลาด ไม่ให้นอนใจกับกิเลสชนิดใดทั้งสิ้น ใน อปัณณกปฏิปทา ที่ท่านสอนไว้สำหรับผู้ปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งคือสอนพระ อปัณณกปฏิปทาคือการปฏิบัติไม่ผิด ปฏิบัติโดยความสม่ำเสมอ คือ

ตั้งแต่ปฐมยามไปให้ประกอบความเพียร จะเดินจงกรมก็ได้จะนั่งสมาธิภาวนาก็ได้ พอถึงมัชฌิมยามก็พักผ่อนนอนหลับ พอปัจฉิมยาม ก็ตื่นขึ้นเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเรื่อยๆ ไป ตอนกลางวันก็ทำนองเดียวกัน หากจะมีการพักผ่อนบ้างในตอนกลางวันก็พักได้ แต่ต้องระมัดระวังให้ปิดประตู รักษามารยาทในการพักนอน ท่านสอนไว้โดยละเอียด แต่อธิบายเพียงย่อๆ เท่านั้น การปฏิบัติโดยสม่ำเสมอเช่นนี้ชื่อว่า อปัณณกปฏิปทา

ผู้ที่จะรีบเร่งยิ่งกว่านี้ในบางกาลก็ยิ่งเป็นความชอบยิ่งขึ้นไป แต่หย่อนกว่านั้นท่านไม่ได้สอน ว่าให้หย่อนกว่านี้ได้ กินแล้วอยากหลับอยากนอนเมื่อใดก็นอนเอาตามใจชอบเถอะ อยากกินอยากขบอยากฉันอะไรก็ฉันไปเถอะเลี้ยงไปเถอะ ตถาคตได้ตรัสรู้ด้วยวิธีนี้แหละ เรื่องของธาตุขันธ์นี้เลี้ยงให้มันมีความอิ่มหนำสำราญให้มีความบริบูรณ์ แล้วเอาไปแข่งหมูตัวกำลังจะขึ้นเขียง นี่ท่านไม่ได้ว่า

สำคัญที่หล่อเลี้ยงจิตใจ นำธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความชุ่มเย็น การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยอรรถด้วยธรรมนี้มีความชุ่มเย็น จนกระทั่งร่างกายก็พลอยมีความผาสุกไปด้วยใจที่เป็นหลักใหญ่ของกาย แต่การหล่อเลี้ยงร่างกายโดยไม่เกี่ยวข้องกับธรรมเลยนั้น ไม่ผิดกับที่เขาเลี้ยงหมูไว้สำหรับขึ้นเขียง เพื่อหอมกระเทียมจะได้เป็นญาติกันสนิทดี ถ้าใครต้องการผูกญาติมิตรอันสนิทกับหอมกระเทียมละก็ให้เร่งการกินการนอนความขี้เกียจเข้าให้มาก มีหวังได้ขึ้นเวทีคลุกเคล้ากับหอมกระเทียมโดยไม่สงสัย

ศาสนธรรมที่ประทานไว้นั้นจึงหาที่แทรกหาที่คัดค้านไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นใด อุบายวิธีทรงสั่งสอนไว้เพื่อปิดกั้นกิเลส เพื่อขับไล่กิเลส ไม่มีอุบายของผู้ใดที่จะมีความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าอุบายของพระพุทธเจ้าที่ทรงนำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะการขับไล่กิเลส การหักห้ามใจที่กำลังมีกิเลสครอบงำ พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมาแล้วจนได้ผลเป็นที่พอพระทัยถึงขั้นศาสดา เมื่อได้ทรงประสบพบเห็นมาด้วยข้อปฏิบัติหรืออุบายใด พระองค์ก็ทรงนำข้อปฏิบัติหรืออุบายนั้นๆ มาสั่งสอนโลก ด้วยความถูกต้องแม่นยำไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ถ้าปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว เรียกว่าดำเนินตามหลักมัชฌิมา คือเหมาะสมอย่างยิ่งกับการแก้กิเลสทุกประเภท ด้วยอุบายวิธีต่างๆ ตามขั้นของกิเลสที่หยาบละเอียด

เพราะคำว่ามัชฌิมานั้นเหมาะสมกับการแก้กิเลส โดยทางสติปัญญาศรัทธาความเพียร ซึ่งอยู่ในองค์มรรคของมัชฌิมาที่ประทานไว้แล้ว กิเลสประเภทหนาแน่นหรือเหนียวแน่นแก่นแห่งวัฏฏะก็ต้องทำให้หนักมือ เช่นเดียวกับเขาถากไม้ ไม้ที่ตรงไหนคดงอมากก็ต้องถากให้หนักมือเพื่อให้ตรง ถ้าที่ไหนตรงอยู่แล้วก็ไม่ต้องถากมากมายนัก ที่ไหนตรงอยู่แล้วจะถากมากก็เสียไม้ ถากพอได้สัดได้ส่วนก็พอแล้ว

เรื่องกิเลสนี้ก็เช่นเดียวกัน บางขั้นบางตอนหรือบางประเภทของกิเลส หรือบางเวลาที่กิเลสแสดงออกมาอย่างผาดโผนรุนแรงมาก ต้องใช้ความเพียรอย่างแข็งแกร่งและแก้กันอย่างหนัก จะอ่อนแอท้อถอยไม่ได้ ถึงจะพอกันหรือเหนือกว่ากิเลสประเภทนั้นๆ ถึงจะยอม ถึงคราวจะทำอย่างนี้ก็ต้องทำ จะผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาว่าเช้าสายบ่ายเย็นอยู่ไม่ได้ ความเพียรชนิดเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากันเช่นนี้ท่านก็เรียกว่ามัชฌิมา สำหรับกิเลสประเภทที่แสดงขึ้นเฉพาะกาลนี้เวลานี้เกิดขึ้นลักษณะนี้ เราต้องใช้วิธีการแบบนี้ถึงจะทันกัน หรือสามารถปราบปรามกันได้ด้วยวิธีการนี้ วิธีนี้เรียกว่ามัชฌิมาของกิเลสประเภทนี้เช่นเดียวกัน

คำว่ามัชฌิมาจึงมีหลายขั้น เป็นคู่ปรับกันกับกิเลสประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับเครื่องมือทำงานของนายช่างต้องมีหลายชนิดด้วยกัน เพื่อสะดวกแก่งานและควรแก่การปลูกสร้างนั้นๆ กิเลสประเภทหยาบก็ต้องใช้มัชฌิมาแบบแผลงฤทธิ์ให้ทันกันกับกิเลสประเภทหยาบนั้นจึงเรียกว่ามัชฌิมา ส่วนหยาบ ส่วนกลางก็ใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรแห่งมัชฌิมาให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้กิเลสหลุดลอยไปด้วยข้อปฏิบัตินั้นๆ นี่ก็เรียกว่ามัชฌิมาสำหรับกิเลสขั้นนั้น ถึงขั้นละเอียดสติปัญญาก็ต้องละเอียด ความเพียรก็ต้องละเอียดลออ นั่งอยู่ที่ใด ยืนเดินอยู่ที่ใดอยู่ในอิริยาบถใด ก็เป็นความเพียรอยู่ในท่านั้นๆ

ไม่ใช่ว่าเดินจงกรมจึงจะเรียกว่าเป็นความเพียร นั่งสมาธิจึงจะเรียกว่าเป็นความเพียร นั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม เดินอยู่ก็ตาม ไม่ว่าอิริยาบถใดๆ เว้นแต่หลับเท่านั้น ต้องเป็นความเพียรโดยตลอด ไม่มีระยะใดที่จะไม่มีความเพียร ด้วยสติปัญญาซึ่งเป็นอัตโนมัติเกิดขึ้นกับตนเพื่อแก้กิเลสซึ่งมีอยู่ภายใน นี่เรียกว่ามัชฌิมาขั้นละเอียด คือสติปัญญาไหลรินอยู่ด้วยความคิดตลอดเวลา เช่นเดียวกับน้ำซับน้ำซึมที่ไหลรินอยู่ทั้งหน้าแล้งหน้าฝนไม่มีเวลาเหือดแห้ง ไหลซึมอยู่ตลอดกาลเวลาฉะนั้น การแก้กิเลสประเภทนี้ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน สติปัญญาก็ละเอียด พินิจพิจารณากันอย่างละเอียดอยู่ภายใน นี่เรียกว่ามัชฌิมา

การปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องเหมาะสมตามวิธีการของการแก้กิเลสประเภทนั้นๆ ก็ไม่ได้ผล ขณะกิเลสกำลังหนาๆ ความขี้เกียจมันต้องมีมากขึ้น ความอ่อนแอมันก็ต้องมาก ความมากๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นกองทัพของกิเลสด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ความเพียรก็ต้องด้อยถอยกำลังแล้วมันจะเข้ากันได้อย่างไร กิเลสหนานั่นเองมันถึงทำให้คนขี้เกียจและมีทุกข์มาก ถ้ากิเลสเบาบางบ้างความทุกข์ก็น้อยลง ความพากเพียรก็ไหวตัวและตั้งหน้าทำงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยไปโดยลำดับ ไม่อยู่ด้วยความอับจนแบบคนขี้คุก

ตอนที่จะทำกิเลสที่กำลังหนาๆ ให้เบาบางลงไปจะทำด้วยวิธีใด ความเพียรเพียงจะนั่งแค่ ๑๐ นาทีก็เอาละ เท่านี้พอแล้ว ถ้าขืนทำมากกว่านี้จะผิดหลักมัชฌิมา ทำ ๑๐ นาทีนี้ถูกต้องกับมัชฌิมาแล้ว ซึ่งเป็นอุบายของกิเลสมันหลอกเราต่างหากว่าพอแล้วๆ นี่คือมัชฌิมาของกิเลสไม่ใช่มัชฌิมาของธรรม นักปฏิบัติจึงควรทราบไว้และตื่นตัวว่าถูกหลอกแล้ว เพราะอุบายแก้กิเลสไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้างไม่ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีแต่เรื่องกิเลสให้อุบายโดยถ่ายเดียว เขาจะเอาอุบายแห่งธรรมยื่นให้เรานั้นอย่าหวัง ถ้าเป็นมีดพร้าเขาก็ยื่นทางปลายมาให้เรา เขาจะจับทางด้ามไว้แล้วฟันเราโดยถ่ายเดียว

ทำความเพียรก็กิเลสเป็นคนสั่งให้ทำ ไม่ใช่ธรรมเป็นผู้สั่งให้ทำ นั่งทำสมาธิภาวนาก็ให้กิเลสเป็นผู้สั่งให้ทำ นั่งสมาธิ เอ้านั่งเสียประมาณ ๑๐ นาทีเอาละนะ เดี๋ยววันพรุ่งนี้จะเหนื่อยลำบากลำบน นั่งมากกว่านี้สุขภาพจะไม่ดีเดี๋ยวเกิดโรค จะอดนอนผ่อนอาหารบ้างก็เดี๋ยวสุขภาพทรุดโทรมนะจะว่าไม่บอก นั่นรู้ไหมเห็นไหมอุบายของกิเลสมันหลอกน่ะ อะไรๆ ก็ต้องทำตามกิเลสหลอก ทีนี้กิเลสมันจะหลุดลอยไปได้อย่างไร ก็อุบายของมันเพื่อส่งเสริมมันเอง ไม่ใช่อุบายของธรรมเพื่อกำราบปราบปรามมันให้หายซากลงไปนี่

เพราะฉะนั้นเพื่อผลกำไรชัยชนะ จึงต้องใช้อุบายของธรรมตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่เอาอุบายของกิเลสดังที่กล่าวมานี้มาใช้มาทำความพากเพียร จะเป็นการเพิ่มกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว เพราะเหตุใด ก็เพราะเวลานั่งทำความเพียรเราก็คอยนับเอาเวล่ำเวลา ว่าเรานั่งได้เท่านั้นนาทีเท่านี้นาที นี่เป็นความเพียรของเรา แล้วกิเลสมันหายไปสักกี่ตัวล่ะ พอเคลื่อนที่ขยับๆ บ้างสักตัวไหม ไม่ปรากฏเลย เราก็ได้แต่เวล่ำเวลาว่านั่งได้เท่านั้นเท่านี้ เวลาเท่านั้นนาทีเท่านี้ชั่วโมง ส่วนกิเลสเพียงหนังถลอกปอกเปิกบ้างเพราะความถูไปไถมาไม่มีเลย

หลังจากนั่งนับเวลานาทีแล้วก็เอะอะขึ้นมาว่า เอ๊ นั่งเวลานานขนาดนี้ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไรนี่ จิตใจไม่เห็นสงบ จะนั่งไปทำไม นี่ก็เป็นอุบายของกิเลสหลอกย้ำเข้าไปอีก ส่วนอุบายของธรรมที่จะทำลายกิเลสเลยไม่มี นี่แหละที่เราเสียเปรียบกิเลสน่ะ เสียเปรียบอย่างนี้เอง อุบายที่คิดในแง่ใดก็ตามถ้าสติปัญญาไม่ทันกลมายาของกิเลสต้องถูกต้มถูกตุ๋นอยู่ร่ำไป

การพูดทั้งนี้ไม่ได้พูดด้วยเจตนาจะตำหนิติเตียนท่านผู้หนึ่งผู้ใด มิได้ตำหนิศาสนาหรือตำหนิอรรถตำหนิธรรมแต่อย่างใด แต่เรื่องของกิเลสต้องตำหนิอรรถตำหนิธรรม เพราะกิเลสกับธรรมเป็นข้าศึกกัน สำหรับบุคคลนั้นไม่มีความรู้สึกว่ากิเลสพาตำหนิธรรม เช่นว่า นั่งเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้นาทีไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไรเลย ทำไปเสียเวล่ำเวลาเปล่าๆ ทำไปทำไม หยุดเสียดีกว่า นั่นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด ทีนี้ตัวเองก็อยู่ในกรอบของกิเลสหาทางออกไม่ได้ เพราะอุบายไม่ทันมัน เนื่องจากกิเลสมีเล่ห์เหลี่ยมร้อยสันพันคมไม่ยอมล่มจมเพราะเราง่ายๆ ถ้าไม่เอาจริงๆ จังๆ กับมัน ให้เราทราบไว้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นอุบายของกิเลสที่จะพอกพูนใจเราและทำลายเรา โดยการเพิ่มกำลังของตนตามลำดับ ด้วยอุบายหลอกเราให้หลงเชื่ออย่างสนิทติดจม

ผู้ปฏิบัติพึงคำนึงศาสนธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เฉพาะอย่างยิ่งพึงคำนึงถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมศาสดา ท่านเป็นบรมศาสดาได้เพราะเหตุใด ได้เพราะความนับเวล่ำเวลา ได้เพราะความท้อถอยอ่อนแอ ได้เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา หรือได้เพราะความขยันหมั่นเพียร ได้เพราะความอดความทน ได้เพราะความฉลาดแหลมคม พระพุทธเจ้าได้เป็นศาสดาด้วยการฆ่ากิเลสตายไปโดยลำดับๆ จนไม่มีเหลือในพระทัย ท่านฆ่าได้โดยวิธีใด ท่านปราบกิเลสด้วยวิธีใด ด้วยความเพียรนั่นเอง

ฟังแต่ว่าความเพียรเถิด เพียรอย่างไม่ถอย ติดตามเรื่อยๆ กิเลสออกช่องไหนตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ ความโลภเกิดขึ้น ติดตามความโลภให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุไร ที่มันไปโลภไปโลภอยากได้อะไร อยากได้ไปทำไม เท่าที่มีอยู่เพราะความโลภไปเที่ยวกว้านเอามาก็หนักเหลือกำลังอยู่แล้ว ยังหาที่ปลงวางไม่ได้นี่ ในใจเต็มไปด้วยความโลภคือความหิวโหยไม่มีเวลาอิ่มพอ เมื่อคิดค้นย้อนกลับไปกลับมาก็จะมาถึงตัวคือใจซึ่งเป็นผู้ดิ้นรนหิวโหย

ความโกรธเกิดขึ้นก็เหมือนกัน ไม่เพ่งเล็งผู้ที่ถูกเราโกรธ ต้องย้อนเข้ามาดูตัวโกรธซึ่งแสดงอยู่ที่ใจและออกจากใจ ว่าไม่มีอันใดที่จะรุนแรง ไม่มีอันใดที่จะให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายยิ่งกว่าความโกรธที่เกิดขึ้นภายในใจเรา ทำลายเราก่อนแล้วถึงไปทำลายคนอื่น เพราะไฟเกิดที่นี่และร้อนที่นี่แล้วจึงไปทำผู้อื่นให้ร้อนไปตามๆ กัน เมื่อพิจารณาอย่างนี้ไม่ลดละต้นเหตุของผู้ก่อเหตุ ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ย่อมระงับดับลง เพราะการย้อนเข้ามาพิจารณาดับที่ต้นตอของมัน ซึ่งเป็นจุดที่ถูกต้องและเป็นจุดที่สำคัญที่ควรทำลายกิเลสประเภทต่างๆ ได้

พระพุทธเจ้าท่านเคยทรงชำระอย่างนี้มาแล้ว เรื่องเป็นเรื่องตาย เรื่องกลัวอย่างโน้นกลัวอย่างนี้ท่านไม่เคยคิดและส่งเสริมให้คิด เพราะนั่นเป็นเรื่องของกิเลส ท่านเคยมีท่านเคยรู้และเห็นพิษของมันมาเป็นเวลานาน ท่านจึงทรงพยายามละเต็มความสามารถทุกวิถีทาง กระทั่งละได้และได้เป็นศาสดาขึ้นมาด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความอดทน ด้วยความเป็นนักรบ โดยอุบายสติปัญญาอันแหลมคมทันกับการแก้กิเลส หรือปราบปรามกิเลสทั้งหลายให้หลุดลอยไปจากพระทัย กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาล้วนๆ

พวกเราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสคือเป็นพุทธบริษัท เรียกว่าเป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ดำเนินตามรอยของพระพุทธเจ้าจะดำเนินอย่างไร ถึงจะสมชื่อสมนามว่าเป็นศากยบุตรเป็นพุทธชิโนรสที่ปรากฏตัวว่าเป็นพุทธบริษัท จำต้องดำเนินแบบลูกศิษย์มีครูสอนและเดินตามครูรู้ตามครูหลุดพ้นตามครู เพราะกิเลสก็เป็นประเภทเดียวกันซึ่งจะต้องดำเนินแบบเดียวกัน เป็นแต่ว่ามีมากมีน้อยต่างกัน ความเพียรเพื่อละกิเลสก็จะต้องดำเนินไปตามกำลังหรือสติปัญญาของตน เท่าที่กิเลสประเภทนั้นๆ จะสงบตัวลงไปและขาดกระเด็นออกไปจากใจ ด้วยความพากเพียรของศิษย์ที่มีครูฝึกสอนวิชารบ ใครจะนำไปปฏิบัติก็นำไปปฏิบัติเถิด

ตามที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นสวากขาตธรรม แน่นอนต่อความพ้นทุกข์ไม่มีทางสงสัย การดำเนินตามธรรมนี้จะไม่หนีจากร่องรอยของพระพุทธเจ้า จะไม่หนีจากร่องรอยของพระสาวก ที่ท่านแก้กิเลสได้ด้วยอุบายใด เราก็จะแก้ได้ด้วยอุบายนั้น ท่านถึงไหนเราก็จะถึงนั้น ต่างกันเพียงช้าหรือเร็วเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น และสมนามว่าสวากขาตธรรมแท้ ผู้ปฏิบัติตามสวากขาตธรรม ไม่ปลีกจากร่องรอยแห่งธรรม กิเลสต้องหลุดลอยจากใจโดยลำดับด้วยอำนาจแห่งธรรมนี้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะนี่เป็นธรรมตายตัว การปฏิบัติจะแยกแยะธรรมเป็นอย่างอื่นตามชอบใจของตนไม่ได้

เพราะความชอบใจคนเรา ร้อยทั้งร้อยมักเป็นความชอบใจของกิเลสผลักดันให้เป็นไป โดยที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นกิเลสและความคิดของเราเป็นกิเลส ความอยากของเราเป็นกิเลส ความต้องการของเราเป็นกิเลส ความจริงมันเป็นกิเลสด้วยกันทั้งนั้น นอกจากจะเลือกเฟ้นด้วยวิจารณปัญญาค้นหาเหตุผล แม้จะไม่ชอบและฝืนใจอยู่ก็ตาม เมื่อเห็นว่านั้นเป็นธรรมแล้ว นั้นเป็นเครื่องแก้กิเลสได้โดยตรงแล้ว จะต้องยึดนั้นเป็นหลัก แล้วฟาดฟันเปลือกกระพี้ที่หุ้มห่อธรรมลงไป ให้เห็นเหตุเห็นผลกันจริงๆ แบบนี้กิเลสกลัวมาก

ผู้ดำเนินอย่างนี้กิเลสกลัว ผู้มีเครื่องมืออย่างนี้กิเลสกลัว เพราะเครื่องมือนี้เป็นธรรมเพชฌฆาต ธรรมนี้เคยปราบปรามกิเลสมาแล้วนับแต่พระพุทธเจ้าองค์ไหนๆ มา เพราะอย่างนั้นกิเลสจึงกลัวและยอมทั้งสิ้น เหตุที่ยอมก็เพราะกิเลสเห็นอำนาจของธรรมแล้วว่าไม่สามารถจะต้านทานหรือต่อสู้ได้ ต้องถูกทลายลงไปด้วยอำนาจของธรรมนั้นๆ ไม่สงสัย ผู้ปฏิบัติที่ต้องการเรืองอำนาจเหนือกิเลสต้องทำแบบนี้ คือเป็นก็เป็นตายก็ตายในท่าต่อสู้ ไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้

นอกจากนี้มักเป็นเรื่องของกิเลสเรืองอำนาจ ทั้งที่ผู้ปฏิบัตินั้นๆ เข้าใจว่าตนมีความเพียรดี ผู้มีความเพียรที่กิเลสกลัวบ้างไม่กลัวบ้างนั้น คือขณะที่กิเลสกลัวนิ่งหรือหมอบ ใจก็สงบเย็นเป็นสมาธิ ขณะมันสู้เราไม่ได้มันก็วิ่งหนีหาที่หลบซ่อน ขณะเราสู้มันไม่ได้เราก็วิ่งหนีเช่นกันจะว่ายังไง เราวิ่งหนีคืออย่างไร วิ่งหนีจากทางจงกรมบ้าง วิ่งหนีจากการนั่งสมาธิภาวนาบ้าง วิ่งหนีจากความความพากความเพียรท่าต่างๆ บ้าง คือความเพียรลดน้อยถอยกำลังลงเป็นลำดับๆ นี่แลที่เรียกว่าวิ่งหนี ความไม่สู้ ความอ่อนแอหมดกำลังเป็นการวิ่งหนีทั้งนั้นแหละ

สู้มันไม่ได้ก็ถอยๆ ถอยเท่าไรมันยิ่งตามเหยียบย่ำทำลายลงไปเป็นลำดับๆ เราอย่าเข้าใจว่าถอยแล้วจะพ้น การถอยกิเลสไม่มีทางพ้น นอกจากจะสู้เท่านั้นจึงจะพ้นจากอำนาจของกิเลส กลัวอย่างอื่นวิ่งหนียังพอเอาตัวรอดได้ แต่การวิ่งหนีกิเลสนั้นนั้นแลคือการเอาคอเข้าไปสวมให้กิเลสฟันเอาๆ ฟันเอาแหลกไปหมด เราจะหาอุบายใดเป็นทางออก

วัฏวนนี้เคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติแล้วแม้จะจำไม่ได้ก็ตาม เราถือหลักปัจจุบันอัตภาพปัจจุบันนี้ก็พอจะทราบได้แล้วว่า เบื้องหลังที่เคยผ่านมาแล้วเคยมี อดีตเคยมีมาแล้วจึงต้องมีอย่างนี้ได้ ฉะนั้นกาลข้างหน้ามันจะต้องมีอย่างนี้ได้ เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้มีแล้ววันนี้ทำไมจะมีไม่ได้ แล้ววันพรุ่งนี้เดือนนี้ปีหน้าทำไมจะมีไม่ได้ เพราะมันสืบเนื่องไปจากอันเดียวกันนี้

เฉพาะในชาติปัจจุบันยังดีอยู่เราเป็นมนุษย์ มีสิทธิมีอำนาจยิ่งกว่าบรรดาสัตว์ จึงพอมีความสุขความสบายบ้าง นี้เราก็ทราบว่าอยู่ในโลกอนิจจัง เป็นของแน่นอนเมื่อไร แต่ก่อนเราอาจเป็นภพเป็นชาติอะไรมาก็ได้ มาปัจจุบันนี้เรามาเป็นมนุษย์ แม้ในอัตภาพนี้มันยังมีความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นอยู่ ตั้งแต่วันแรกเกิดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ มันคงเส้นคงวาเมื่อไร สังขารร่างกายกำลังวังชาสติปัญญาอะไรมันก็ทรุดโทรมเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อยๆ ต่อจากนี้ก็เปลี่ยนไปจนถึงที่สุดของมัน สุดท้ายก็ลงธาตุเดิม แล้วจิตนี่มีกำลังมากน้อยเพียงใด ที่จะสามารถทรงตัวไว้ได้ให้อยู่ในภูมินี้หรือภูมิสูงยิ่งกว่านี้ ก็เป็นเรื่องของเราจะคิดหาอุบายช่วยตัวเองในทางดีต่อไปไม่นิ่งนอนใจ ที่เรียกว่าเตรียมพร้อมเพื่อตัวเองทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่ให้อับจนในสถานที่และกาลใดๆ

จงทำการส่งเสริมกำลังในทางดีของเราให้มากขึ้น อย่างน้อยเพื่อรับอนาคต หากจะยังเป็นไปอยู่ในวัฎสงสาร ซึ่งเปรียบเหมือนห้องขังนักโทษที่มีกิเลสย่ำยีนี้ พอได้อยู่ในฐานะที่ดีบ้าง หากว่าพอจะผ่านพ้นไปได้เพราะมีกำลังสติปัญญาพอตัว เหยียบย่ำทำลายกิเลสอันเป็นกงจักรให้ท่องเที่ยวในวัฏวนนี้ไปได้ ก็ทำลายให้สิ้นซากไปในชาติปัจจุบันนี้ อย่าเข้าใจว่าสติปัญญาเราจะไม่มี มีอยู่ด้วยกันทุกคนถ้าทำให้มี ความเพียรอย่าเข้าใจว่าไม่มี ถ้าเราจะทำให้มีมีได้ทั้งนั้น นอกจากมีกิเลสเป็นผู้กั้นกางกีดขวางไม่ให้มีความเพียร ไม่ให้มีสติปัญญา ให้มีแต่ความท้อแท้อ่อนแอเป็นเจ้าเรือน ความดีทั้งหลายจึงหาทางเกิดขึ้นไม่ได้

เรื่องความดีทั้งหลายหาทางเดินไม่ค่อยได้นั้น มักขึ้นอยู่กับกิเลสเป็นเครื่องกีดกันไม่ใช่อันใด ไม่ใช่อำนาจไม่ใช่วาสนา ไม่ใช่มื้อวันเดือนปี ไม่ใช่กาลสถานที่ แต่เป็นเรื่องของกิเลสโดยตรงเป็นผู้กีดกันและหักห้าม อย่างลึกลับบ้าง อย่างเปิดเผยบ้าง แต่เรามันตาบอดมองไม่เห็นความลึกลับ ความเปิดเผยของกิเลสที่แสดงตัวกีดกันหวงห้ามอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวจะพ้นจากเขา เขาเป็นเจ้าอำนาจครองใจมานาน พอขยับออกมาอีกนิดหนึ่ง แสดงกิริยาจะออกจากเขานิดหนึ่งเขาก็ห้าม เราก็เชื่อ เชื่อมันเสียแล้ว มันไม่ต้องยกบทบาทคาถาบาลีอะไรมาแสดงเลย

กิเลสสอนมนุษย์น่ะสอนง่ายจะตายไป แต่มนุษย์จะสอนมันบ้าง เดี๋ยวเดียวถูกมันเอาคัมภีร์วัฏจักรฟาดหัวเอาหมอบและหลับครอกๆ ไม่มีทางสู้ นอกจากหมอบบนหมอน ฉะนั้นศาสตราจารย์ของวัฏจักรก็คือกิเลสบนหัวใจสัตว์นั้นแล การเรียนรู้มากรู้น้อยจะต้องถูกกล่อมมันทั้งนั้นแหละ นอกจากวิชาธรรมดังที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตามที่ทรงดำเนินมาและสาวกท่านดำเนินมา ท่านเอาจริงเอาจังลงถึงเหตุถึงผลถึงความสัตย์ความจริง

ไม่เพียงแต่จำชื่อของกิเลสได้แล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ หาเป็นเช่นนั้นไม่ การจำชื่อจำได้กันทั้งนั้นแหละ เช่นเดียวกับเราจำชื่อของเสือนั้นเสือนี้ มีกี่ร้อยกี่พันเสือก็ตามที่มันก่อความวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง เราจำชื่อของมันได้เท่านั้นยังไม่พอ จำได้กระทั่งโคตรแซ่มันก็ตาม ถ้ายังจับตัวเสือนั้นๆ ไม่ได้เมื่อไรบ้านเมืองจะหาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ เสือตัวที่จำชื่อมันได้นั้นแลก่อความวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง นอกจากเราจับมันได้แล้วจะทำอะไรกับมันก็ทำได้ ทีนี้บ้านเมืองก็ได้รับความสุขสงบร่มเย็น ไม่มีเสือร้ายมาก่อกวนลวนลามเขย่าขวัญประชาชนดังที่เคยเป็นมา

เรื่องกิเลสท่านว่ากิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด อย่าว่าแต่ร้อยแปด พันแปด หมื่นแปดก็ตามเถิด ถ้าเราตามจับตัวมันไม่ได้ ปราบมันไม่ได้ ทำลายมันไม่ได้แล้ว เราจำได้แต่ชื่อมัน จำได้สักเท่าไรก็ไม่มีปัญหาพอสะเทือนขนมันเลย คือไม่มีผลดีอะไรเกิดขึ้นเพราะการจำได้นั้นเลย เพราะฉะนั้นเราต้องทำลายมันด้วยความพากเพียรจนให้ถึงความจริงของกิเลส ถึงความจริงของธรรม จะชื่อว่าจับตัวเสือร้ายมาประหารได้ จากนั้นก็นอนหลับเต็มตา อ้าปากพูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

คำว่ากิเลสแต่ละประเภทนี้มันแสดงอาการอย่างไร ก่อนที่มันจะแสดงผลขึ้นมามันแสดงเหตุขึ้นมาอย่างไรบ้าง จงตามรู้และฆ่ามันด้วยสติปัญญา ส่วนมากก็แสดงขึ้นในขันธ์นี่แหละไม่ได้แสดงขึ้นที่ไหน ออกทางตาก็เกี่ยวกับรูป ออกทางเสียงก็เกี่ยวกับหู จมูก ลิ้น กาย มันสืบเนื่องกับจิตและเครื่องสัมผัส ผลสุดท้ายก็เกี่ยวกับเบญจขันธ์ของเราเอง รูปก็แสดงขึ้นอย่างหนึ่ง เวทนาก็แสดงอย่างหนึ่ง สัญญาแสดงขึ้นอย่างหนึ่ง สังขารแสดงขึ้นอย่างหนึ่ง วิญญาณแสดงขึ้นอย่างหนึ่งจากกิเลสเป็นผู้บัญชาออกมา เราก็คล้อยตามหลงตาม หลงตามมันอยู่เรื่อยๆ หลงตามมันมาเท่าไรแล้ว ล้วนแล้วแต่กลมายาของกิเลสทั้งนั้น ทุกข์ทั้งมวลเรายังไม่ทราบว่ามันเป็นพิษของกิเลส จะให้มีความฉลาดแหลมคมได้อย่างไร แล้วยังเข้าใจว่าตนมีความฉลาดแหลมหลักนักปราชญ์ชาติกวีอยู่หรือ ไม่อับอายกิเลสที่คอยหัวเราะเยาะเย้ยอยู่เบื้องหลังบ้างหรือ มันน่าอับอายจริงๆ นี่

การที่จะฉลาดแหลมคมพอรู้ทันกิเลสก็ต้องค้นดูกิเลสให้ดี ทุกขเวทนาเกิดขึ้นที่ไหน เอ้า ค้นลงไป เอาให้เห็นฐานเกิดของมันว่าเกิดเพราะเหตุไร คนตายแล้วมีเวทนาไหม เอ้าดูซิ ถ้าทุกขเวทนาเกิดขึ้นภายในร่างกาย และกายเป็นตัวทราบเวทนาจริงๆ เวลาคนตายแล้วทุกขเวทนามีไหม เอาไปเผาไฟกายว่าอย่างไร เอาไปฝังดินกายว่ายังไง มันไม่ว่ายังไง แล้วทำไมถือมันเป็นตัวทุกข์อยู่ล่ะเมื่อยังเป็นอยู่ ก็เพราะจิตนั่นแลเป็นผู้รับรู้และทรงไว้ ความยึดมั่นสำคัญว่าขันธ์ ๕ เป็นตนก็เพราะกิเลสนั้นแลเป็นผู้กระซิบ เป็นผู้หลอกลวงให้ยึดมั่นถือมั่น ให้สำคัญว่าเวทนาเป็นตนเป็นของตน ให้ถือว่ากายนี้เป็นเราเป็นของเรา เมื่อมันมีอะไรมากระทบกระเทือนสิ่งที่เรารักเราสงวนและปักปันเขตแดนเอาไว้ ก็เกิดความกระทบกระเทือนทุกข์ร้อนขึ้นภายในใจ เพราะกิเลสมันหลอกอย่างนี้

เมื่อแยกแยะพิจารณาให้ถึงฐานของความจริงด้วยสติปัญญาจริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็หมดปัญหาไปเอง ใจก็หายสงสัย ความเป็นข้าศึกต่อกันระหว่างขันธ์กับจิตก็ไม่มี เพราะสติปัญญาเป็นผู้พิพากษาวินิจฉัยตัดสินโดยถูกต้องให้เลิกแล้วกันไป รูปก็รู้กันแล้วว่ารูปซึ่งเป็นความจริงของร่างกายทุกส่วน เวทนาที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเราส่วนใด นั่นก็ทราบว่าเป็นความจริงของตนๆ สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างก็เป็นความจริงแต่ละอย่างของมันอยู่แล้ว จิตจะมีความกระทบกระเทือนเพราะอะไรกันอีก เพราะจิตเป็นผู้รู้และรู้ด้วยปัญญาอย่างประจักษ์แล้ว นั่นแหละท่านเรียกว่าเห็นความจริงคือสัจธรรมที่มีอยู่กับตัว จะไปรู้เห็นที่ไหน เห็นในแบบก็เป็นแบบ เห็นในคัมภีร์ก็เป็นคัมภีร์ เห็นในหนังสือก็เป็นตัวหนังสือไม่ใช่ตัวกิเลส มันไม่ใช่สัจธรรมที่แท้จริง

ที่แท้จริงมันอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ตัวของเรานี่เท่านั้น ความทุกข์ทั้งมวลที่เกี่ยวกับกายก็แสดงขึ้นที่นี่ การที่พิจารณาทุกข์ก็พิจารณากันที่นี่ รู้เท่าเรื่องทุกข์เรื่องสมุทัยทั้งหลายก็รู้เท่ากันอย่างเปิดเผยที่นี่ รู้แจ้งแทงตลอดก็รู้กันที่นี่ พ้นทุกข์กันที่นี่ นี่ท่านเรียกว่ารู้สัจธรรมแท้รู้อย่างนี้ ไม่ต้องรู้ที่ไหน ไม่ว่าครั้งพุทธกาลหรือครั้งไหนๆ สัจธรรมมีอยู่ที่กายที่ใจของสัตว์โลกเท่านั้น การเรียนจึงเรียนย้อนเข้ามาที่นี่ ปฏิบัติให้รู้วิถีจิตที่เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสอาสวะอันเป็นตัวสมุทัย เมื่อรู้อันนี้แล้วจะไปสงสัยอะไรที่ไหนกันอีก โลกวิทูรู้แจ้งโลก ก็คือรู้แจ้งธาตุแจ้งขันธ์รู้แจ้งจิตใจของตนเป็นสำคัญ

นี่แลอุบายวิธีแก้กิเลสปราบปรามกิเลส ปราบปรามลงที่ตรงนี้ อย่าไปลูบไปคลำที่อื่นให้เสียเวลาเปล่าประโยชน์ รวมลงที่นี่หมด พระไตรปิฎกก็อยู่ที่นี่ ไตรจักรก็อยู่ที่นี่ วัฏจักรไตรจักรมันอยู่ที่นี่แล เวลาธรรมไม่เกิดสติปัญญาไม่สามารถ จิตก็เป็นไตรจักรไตรภพ และหมุนไปใน ๓ ภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ พอสติปัญญาเพียงพอแก้ไขไตรจักรนี้ออกได้หมดก็เป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมา หรือเป็นธรรมจักรหมุนรอบตัวขึ้นมาภายในจิต ทั้งวัฏจักร ธรรมจักรและวิวัฏจักร มีอยู่ที่ใจนี้ไม่อยู่ไหน จงพิจารณากันที่นี่ ปฏิบัติให้เข้าใจ

เรียนอะไรก็ไม่ยากเหมือนเรียนเรื่องของจิตเลย จิตนี้สลับซับซ้อนละเอียดลออมาก ต้องใช้ความพินิจพิจารณา ต้องใช้สติปัญญา ใช้ความพากเพียร ความอดความทนเต็มสติกำลังความสามารถ บางครั้งแทบจะตายเราก็ยอมเสียสละชีวิต เพราะความอยากรู้อยากเข้าใจความจริงทั้งหลาย ดังที่พระพุทธเจ้าได้รู้ได้เข้าใจแล้ว เป็นความประเสริฐอย่างยิ่ง เราอยากเห็นความจริงเป็นสมบัติสำหรับเราเอง ไม่เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณท่านว่าประเสริฐ ท่านหลุดพ้นอย่างนั้นท่านประเสริฐอย่างนี้เท่านั้น เรายังไม่พอใจ ยังอยากทราบทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็นด้วยจิตใจของเราเอง เมื่ออยากทราบและดำเนินตามท่านเราก็ต้องทราบ ทั้งธรรมฝ่ายต่ำฝ่ายสูง ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว

ในวงสัจธรรมนี้ทุกข์ สมุทัย เป็นฝ่ายต่ำ นิโรธคือความดับทุกข์เป็นฝ่ายสูง มรรคคือข้อปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสเป็นฝ่ายสูง เราอยากทราบความจริงของสัจธรรมทั้งสี่นี้ประจักษ์ใจเราเอง และการพ้นจากกิเลสอาสวะเพราะรู้รอบในสัจธรรมนั้น เราก็อยากจะพ้นด้วยความประจักษ์ใจเราเอง ไม่อยากทราบอย่างอื่นให้มากไปกว่าอยากจะทราบเรื่องของเรา

เพราะเราเป็นกองทุกข์ เราเป็นกงจักร เราเป็นผู้มืดหนาสาโหด เราต้องการความฉลาด เราต้องการความแหลมคมภายในจิตใจ เราต้องการความหลุดพ้น เราจึงพยายามเต็มความสามารถในทางความเพียร เพื่อรู้และละสัจธรรม ใจถูกบีบถูกบังคับถูกผูกถูกมัดถูกจำจองอยู่ที่ตรงไหน จงแก้มันด้วยสติปัญญา ฟาดฟันลงไปที่ตรงนั้นจนแหลกแตกกระจายไม่มีชิ้นใดเหลือ ใจถึงความจริงล้วนๆ นั้นแลท่านเรียกว่าหลุดพ้น หลุดพ้นแล้วจากกิเลสซึ่งเคยเป็นนายเรามากี่กัปกี่กัลป์ หรือเคยเป็นศาสตราจารย์พร่ำสอนเรามาเป็นเวลานาน ได้เห็นโทษของมันและถอดถอนมันออกไปหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ใจเป็นอิสระเต็มภูมิ นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งธรรม ที่สุดแห่งวัฏจักร สิ้นสุดที่ใจนี้เองไม่สิ้นสุดในที่อื่นใด เพราะกิเลสและธรรมไม่มีอยู่ที่อื่น จึงขอให้ย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในกายในใจด้วยดี ความสมหวังที่เคยหวังมานานจะสมบูรณ์ในใจที่ชำระถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว

ขอย้ำอีกครั้ง จงเรียนจิตให้รู้ เรียนจิตรู้ทั่วถึงแล้วไม่มีอะไรสงสัยในโลกนี้ กว้างแคบไม่สำคัญ สำคัญที่เรียนจิตให้รู้เรื่องของจิต รู้กิเลสชนิดต่างๆ ที่แทรกอยู่ภายในจิตจริงๆ เป็นพอกับความต้องการ พระพุทธเจ้าเมื่อถึงนี่แล้วไม่ต้องการอะไรอีก สาวกทั้งหลายพอ ใครๆ ก็พอ เมื่อถึงขั้นเพียงพอแล้วพอ พอทั้งนั้น เพราะเป็นจิตเป็นธรรมที่สมบูรณ์เต็มที่แล้วตลอดอนันตกาล

จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้