สร้างธรรมให้จิต ให้พอ ก่อนตาย

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม สร้างธรรมให้จิตให้พอก่อนตาย เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

พระวัชชีบุตร ท่านเป็นบุตรแห่งชาว “วัชชี” สกุลนั้นมีลูกชายคนเดียวของพ่อแม่ บวชแล้วไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ป่าช้า ท่านเคยมีเพื่อนฝูงที่เป็นชาววัชชีมากมายในคราวที่ท่านเป็นฆราวาส คืนนั้นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ในป่าช้าคนเดียว คืนวันนั้นมีงานนักษัตร ประชาชนและหนุ่มสาวชาววัชชีพากันเดินมาที่ข้างป่าช้าที่ท่านพักอยู่ เขาส่งเสียงเอ็ดตะโรได้ยินไปถึงในป่าช้า

ขณะนั้นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ จึงเกิดความวิตกและน้อยใจว่าโลกเขามีความสุขรื่นเริงกัน แต่เรามาอยู่ในป่าช้าซึ่งมีแต่ผีตายทั้งนั้น จึงเป็นผู้ที่ไร้ค่าหาราคามิได้ เราอยู่ในป่าช้าคนเดียวราวกับผีดิบอยู่กับผีที่ตายแล้ว เรามาอยู่กับคนที่ตายแล้วทั้งนั้น โลกเขามีความสุขรื่นเริงกัน แต่เรามาอยู่กับคนตาย หาความสุขความรื่นเริงมิได้ ราวกับคนตายทั้งเป็นในป่าช้า ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของคนที่หมดความหมายแล้วทั้งนั้น เราเป็นคนหาค่าหาราคามิได้ ท่านตำหนิตัวเองด้วยความโศกเศร้าเหงาหงอย และน้อยใจในขณะนั้น

ขณะที่กำลังถูกกิเลส คือความน้อยเนื้อต่ำใจครอบงำอยู่ ก็ปรากฏเสียงเทวดาที่ชาติปางก่อนเคยเป็นสหายกันมา ประกาศเตือนท่านอยู่บนอากาศว่า “เราไม่เห็นมีบุคคลใดซึ่งมีคุณค่ามากยิ่งกว่าท่าน ที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าช้าเวลานี้เลย พวกเหล่านั้นเขาส่งเสียงเป็นท่ารื่นเริงบันเทิงไปตามความโง่เขลาเบาปัญญา เพราะกิเลสครอบงำเขาต่างหาก เขาไม่ได้ไปด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยความรู้ความฉลาด ที่จะยังตนให้พ้นจากทุกข์เหมือนท่าน ซึ่งกำลังจะเป็นปราชญ์อยู่แล้วด้วยการสิ้นกิเลส เพราะความพากเพียรตามธรรมของพระพุทธเจ้า ขอท่านจงภาคภูมิใจในความเป็นอยู่ และความพากเพียรของท่านเถิด เราอนุโมทนากับท่านเป็นอย่างยิ่งที่เป็นมนุษย์ฉลาด สามารถปลีกตนออกจากโลกอันเต็มไปด้วยความเกลื่อนกล่นวุ่นวาย มาบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคน พ้นทุกข์ไปแต่ผู้เดียว

การสั่งสม “วัฏฏะ ความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับเรื่องความเกิด ความตาย ซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีวันเลิกแล้วนั้น เป็นทางเดินของคนโง่ซึ่งหาทางไปไม่ได้ เดินกันต่างหาก ซึ่งมิใช่ทางอันประเสริฐเลิศเลออะไรเลย ส่วนท่านกำลังดำเนินตามเส้นทางของท่านผู้เห็นภัยในความทุกข์ ทำไมท่านจึงไปชมเชยผู้กำลังหลงอยู่ในความทุกข์อย่างนั้นเล่า” “การทำความเพียร เพื่อสมณธรรมให้จิตใจได้รับความสงบ เห็นโทษเห็นภัยในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความชอบธรรมแล้ว ที่ท่านกำลังดำเนินอยู่เวลานี้ จะมีใครเล่าเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง เสาะแสวงหาความหลุดพ้นอย่างท่านนี้ ท่านควรจะยินดีในการบำเพ็ญของท่าน เพราะทำให้ท่านเป็นผู้มีคุณค่ามากในการที่ท่านบำเพ็ญอยู่เช่นนี้”

พระวัชชีบุตร กลับได้สติทันที เมื่อถูกเทวดาเตือนเช่นนั้น แล้วบำเพ็ญธรรมต่อไปด้วยความห้าวหาญตลอดคืน ปรากฏว่าท่านได้บรรลุถึงที่สุดแห่งธรรมในคืนวันนั้น

นี่ก็แสดงว่า จิตของท่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว เรื่องท่านเป็นอย่างนี้เอง ที่กิเลสมันมากระซิบหลอกท่านว่า การทำอย่างนั้นดี การทำอย่างนี้ไม่ดี แต่ฝ่ายธรรมที่เป็นวาสนาบารมีของท่าน หากช่วยบันดาลให้มีเทวดามาเตือนสติให้รู้สึกตัว กลับบำเพ็ญเพียรอย่างกล้าหาญ จนได้บรรลุธรรมในคืนนั้น

นี่เรื่องของพระวัชชีบุตร เป็นลูกชายคนเดียวของเศรษฐีสกุลนั้น ซึ่งมีสมบัติเงินทองมากมาย เวลากิเลสมันกล่อม มันก็กล่อมได้อย่างสนิท ดังที่รู้ๆ กันอยู่นั่นแล เรื่องของกิเลสต้องเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาไม่เคยเป็นอื่น คือ เซ่อๆ ซ่าๆ เหมือนพวกเราเลยมันฉลาดแหลมคมมาก ท่านต้องอาศัยคติธรรมที่เทวดามาช่วยชี้แจงให้เห็นโทษเห็นภัย เห็นคุณเห็นประโยชน์ทั้งสองด้านด้วยความเข้าใจซาบซึ้ง และบำเพ็ญธรรมต่อไปจนได้บรรลุถึงธรรมสุดยอด

รู้สึกว่าท่านเป็นประเภท “ขิปปาภิญญา รู้ได้อย่างรวดเร็ว” นี่ถ้าจิตของท่านมีภูมิธรรมสูงละเอียดมาก่อนเหตุการณ์นี้อยู่แล้ว และสมควรจะได้บรรลุธรรมในคืนวันนั้นโดยลำพัง ท่านก็ไม่ควรจะวิตกวิจารณ์ไปในทางต่ำอย่างนั้น จึงแน่ใจว่า ภูมิธรรมในจิตตภาวนาท่านยังไม่มีในเวลานั้น มีแต่ภูมิวาสนาบารมีที่เคยบำเพ็ญมาแต่อดีตชาติ

ความวิตกวิจารณ์อย่างนั้น หมายถึงจิตที่ยังไม่มีภูมิรู้ ยังไม่พ้นจากสิ่งเหล่านี้ไป ท่านจึงต้องตำหนิตนซึ่งกำลังบำเพ็ญในทางที่ชอบ แต่เมื่อได้สติแล้ว ท่านก็จะพิจารณาเห็นโทษแห่งความเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จึงคิดว่าท่านมีนิสัยวาสนามาดั้งเดิมที่ควรแก่การบรรลุธรรม ยังไม่ใช่ภูมิธรรมที่ท่านบำเพ็ญได้ในขณะที่เป็นเพศสมณะ จึงมีวิตกในทางโลกๆ ได้เป็นธรรมดา

การอยู่ในสถานที่อันเหมาะสมแก่การบำเพ็ญธรรมนั้น เป็นความชอบยิ่ง

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ไปอยู่ในป่าช้า เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ และเทียบกันระหว่างคนที่ตายแล้วกับคนที่กำลังเป็นอยู่ได้ดี เช่นเทียบว่าเราที่ยังไม่ตายกับเขาที่ตายแล้วเป็นอย่างไร เป็นต้น

จิตเมื่อได้อยู่ในสถานที่เช่นนั้น ย่อมไม่เกิดความเพลิดเพลิน ทั้งจะเป็นความสลดสังเวชในความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเขาของเราได้ดี จิตจะมีทางออกจากกองทุกข์ได้เร็วผิดกับที่ธรรมดาทั่วไป และมีความยับยั้งชั่งตวง และใคร่ครวญในธรรมทั้งหลายโดยสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นทางออกโดยชอบธรรม ท่านจึงสอนให้อยู่ในป่าช้า เนื่องจากจิตเวลาไปอยู่สถานที่หนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง ไปอยู่อีกที่หนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งแวดล้อมต่างกัน

การไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยวๆ ก็ไม่ทราบจะไปคิดหากิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเปรียบเหมือนยักษ์เหมือนผีกันทำไม ในป่าเปลี่ยวๆ มีสิ่งบังคับให้ระมัดระวังตัวหลายด้านอยู่ตลอดเวลา แล้วใครจะไปมีโอกาสคิดสั่งสมกิเลสขึ้นมาเล่า นอกจากจะพิจารณาโดยธรรมเพื่อถอดถอนกิเลสของตัวออกไปโดยลำดับเท่านั้น ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ที่เช่นนั้นเพื่อเป็นความไม่ประมาทนอนใจ ประคองความเพียรดี จิตใจก้าวหน้า ทั้งนี้จะเห็นได้ด้วยตัวเราเองที่บำเพ็ญสมณธรรมอยู่กับหมู่เพื่อน ในที่ที่มีเพื่อนฝูงหรือในที่ที่ไม่น่ากลัว ถึงจะมีความเพียรดีจิตมีพื้นฐานอยู่แล้วก็ตาม ความเพียรก็ไม่คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยวๆ ใจรู้สึกมีความอืดอาดเนือยนายพิกล

ขณะที่อยู่กับเพื่อนฝูงมากๆ ในสถานที่ที่ไม่ต้องระมัดระวังอะไร เป็นสถานที่ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายต่างๆ มีเสือ เป็นต้น การบำเพ็ญก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่พอก้าวเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ต้องระมัดระวังทั้งวันทั้งคืน ใจเป็นความเพียรประจำอยู่ตลอดเวลา แม้กลางวันก็มีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ยิ่งกลางคืนด้วยแล้ว จิตยิ่งตั้งท่าตั้งทางระมัดระวังมาก คือระวังอยู่ภายในตัวในใจ ไม่ให้จิตเผลอไปคิดเรื่องอะไรๆ แม้คิดเรื่องเสือ ทั้งๆ ที่เสือไม่มีในเวลานั้น ความคิดเช่นนี้ก็เป็นภัยแก่ตัวแล้ว คือความคิดนั้นเขย่าเราให้สะดุ้งหวาดกลัวขึ้นมาให้เป็นทุกข์ และเป็นการสั่งสมกิเลส คือความกลัวขึ้นมา แล้วก็เป็นผลให้เกิดความทุกข์อันเนื่องมาจากความกลัวนั้น เพราะฉะนั้นความคิดในแง่ต่างๆ ที่เป็นภัยแก่ตัว จึงต้องรีบแก้ไขในขณะนั้นๆ ไม่ปล่อยให้ใจเร่ร่อนไปตามความคิดที่เห็นว่าเป็นภัย ซึ่งเป็นเหตุให้ก่อความวุ่นวายให้แก่ใจตัวเองจนหาทางสงบสุขไม่ได้

ส่วนมากผู้ไปอยู่ในป่าในเขาเช่นนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้พิจารณาตัวเองพอสมควรว่าจะไม่ถอยหลัง ถ้ายังมีความขยาดครั่นคร้ามต่อภัยอยู่ก็ไม่กล้าไป ต้องเป็นผู้ตัดสินใจตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่า “เป็นก็เป็น ตายก็ตาย” แล้วตัดสินใจลงไปอย่างเด็ดขาดไม่ลังเลสงสัย เมื่อไปแล้วเจตนาเดิมกับการที่อยู่นั้นต้องเป็นอันเดียวกัน คือคงเส้นคงวาไม่หวั่นไหว โดยทำความเข้าใจกับตัวเองว่า “ก็เรามาแล้วด้วยความเสียสละ ทำไมไม่อยู่ด้วยความเสียสละ จะหวงอะไร? จะเสียดายอะไร เวลาอยู่โน้นก็ได้พิจารณาแล้วว่าร่างกายอันนี้ ชีวิตอันนี้ เป็นของไม่มีค่าสาระแก่นสารใดๆ กล้าเสียสละได้ จนถึงเข้ามาอยู่ในสถานที่นี้ เมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในสถานที่นี้แล้วร่างกายจิตใจนี้กลับมีคุณค่ามากเชียวหรือ ถึงต้องรักต้องสงวนไม่ยอมเสียสละเล่า ความจริงคือร่างกายและจิตใจอันเก่านี้แล เหตุใดจึงเสียสละไม่ได้ อยู่โน้นก็มีความตาย อยู่นี้ก็มีความตาย ไปอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็มีความตายเท่ากัน จะคิดกลัวตายเพื่ออะไรอีก นี่คืออุบายสอนตัวเอง “อะไรอยากกิน ก็กินไปซี เพราะเขากินก็อิ่มท้องเขาไปวันหนึ่ง แล้วก็ตายในวันต่อไป เราตายในวันนี้ เขาก็จะตายในวันหน้า ความตายมีเสมอกัน ขอให้ตายอยู่ในสนามรบ คือสงครามระหว่างกิเลสกับธรรมเถิด ให้ได้ชัยชนะ อย่าได้พลั้งพลาดท้อถอยเลย ตายก็ตายอย่างนักรบ คือตายในสงครามไม่หวั่นไหว”

เมื่อได้พร่ำสอนจิตเราอยู่ทุกระยะที่จะคิดออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เกิดความกลัวขึ้นมาอยู่แล้ว จิตก็ไม่กล้าจะคิด เพราะสติคอยบังคับบัญชาอยู่เสมอ นั่นแลคือความเพียร

เมื่อความเพียรเป็นอยู่ด้วยสติ ด้วยปัญญา ระมัดระวังตัวอยู่ จิตของผู้นั้นย่อมก้าวไปสู่ความสงบได้ทั้งๆ ที่ไม่เคยสงบก็สงบได้อย่างประจักษ์ใจ ซึ่งไม่ต้องไปถามใครเลย เพราะขณะจิตสงบนั้นเป็นความไม่ก่อกวนตัวเอง เรื่องอะไรก็หายหมด เรื่องกลัวก็หาย มีแต่ความรู้ล้วนๆ ที่เด่นอยู่ด้วยความเที่ยงตรงของจิต ขณะนั้นเป็นความสุขความสบายปราศจากความวุ่นวาย และสิ่งก่อกวนต่างๆ โดยสิ้นเชิง เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ที่เด่นอยู่ด้วยความเที่ยงตรงของจิต ขณะนั้นเป็นความสุขความสบาย ปราศจากความวุ่นวายและสิ่งก่อกวนต่างๆ โดยสิ้นเชิง เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ กับความสบาย นี่คือ ผลแห่งความระมัดระวังความคิดปรุงที่ออกไปนอกลู่นอกทาง ด้วยสติปัญญาที่คิดอ่านไตร่ตรองหักห้ามใจ ทำความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ด้วยสติ คิดออกมาประเภทใด สติคอยรับรู้ ปัญญาก็คอยตัดฟันคอยหักห้ามด้วยเหตุผล จิตจะเหนือเหตุผลไปไม่ได้ ย่อมจะก้าวเข้าสู่ความสงบได้อย่างสบายๆ หายห่วง

เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ความสงบด้วยเหตุผลอันเหมาะสมแล้ว จะอยู่ในที่เช่นไร ก็อยู่ได้ทั้งนั้น ไม่ได้ถือว่าที่นี่เป็นภัย ที่นี่มีเสือมีช้าง ที่ว่ามีอะไรหรือสัตว์ร้ายต่างๆ นั้น ก็คือความคิดปรุงของตัวที่คอยหลอกตัวเท่านั้น แม้จะเป็นความจริงที่จะมีอันตรายก็ตายไปซี อยู่เฉยๆ เราก็จะตายอยู่แล้วเมื่อถึงกาลเวลา มันจะตายเวลานี้ก็ถึงกาลของมันที่เหมาะสมกันอยู่แล้ว เราจะไปกั้นกางหักห้ามมันทำไม เรื่องความตายเป็นคติธรรมดา จะตายในทางจงกรมนี้ก็ตายซิเมื่อถึงกาลแล้ว เมื่อยังไม่ถึงกาลมันก็ยังไม่ตาย จะตายอยู่ในร่มไม้ชายเขาที่ไหนก็ตายเถิด เมื่อถึงกาลแล้วไม่ต้องกลัว จะไปคัดค้านคติธรรมดาที่เคยมีมาดั้งเดิมอย่างไรอีก จะรอตายวันพรุ่งนี้ เมื่อถึงวันพรุ่งนี้ขึ้นมาแล้ว จะเอาอะไรมาคัดค้านก็ค้านไม่ได้ มันก็ต้องตายอยู่นั่นเอง เพราะตัวเรามันเป็น “ก้อนตาย” นี่เป็นอุบายวิธีหักห้าม ปราบปรามใจของตน ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เพื่อสั่งสมกิเลสขึ้นมา เวลาไปเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาในป่า เราก็ไปเพื่อถอดถอนกิเลส ไม่ใช่ไปสั่งสมกิเลส คือความหวาดกลัวเป็นต้น ขึ้นมาเผาลนจิตใจ ซึ่งผิดความหมายของธรรมที่สอนเพื่อแก้กิเลส

พระธุดงคกรรมฐานที่มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ ท่านปฏิบัติเพื่อเห็นคุณค่าแห่งการชำระแห่งการดัดแปลง แห่งการฝึกฝนทรมานตนจริงๆ ท่านจึงไม่สะทกสะท้านในการที่จะไปอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ขอให้เป็นที่เหมาะสมต่อการประกอบความเพียรเท่านั้น เป็นที่พอใจท่าน ความสุข ความอดอยาก ขาดแคลนทางร่างกาย ท่านไม่ถือเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าการบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสะดวกสบายใจ ธรรมจึงมีความเจริญขึ้นภายในใจเรื่อยๆ

คำว่า “ธรรม” ส่วนผล ก็คือความสงบร่มเย็น เป็นต้น ส่วนเหตุ คืออุบายแยบคายตางๆ ที่เป็นเครื่องประหัตประหารกิเลส ได้แก่ สติ ปัญญา นี้แล ซึ่งทำงานแก้กิเลสฆ่ากิเลสไปเรื่อยๆ ทำให้รู้เห็นสิ่งต่างๆ ภายในใจที่ไม่เคยรู้เคยเห็นมาแต่ก่อน

การภาวนาอยู่ในสถานที่ธรรมดาเป็นอย่างหนึ่ง จิตใจมักเฉื่อยชา ไม่ค่อยมีความตื่นเต้นและกระตือรือร้นในธรรมทั้งหลาย พอก้าวเข้าไปอยู่ในที่เช่นนั้น ความรู้ความเห็นที่แปลกประหลาดมักปรากฏขึ้นเรื่อยๆ อุบายต่างๆ ของปัญญาที่จะเกิดขึ้นมาส่งเสริมให้ทันกับกลมายาของกิเลสก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ สติก็ต่อเนื่องกันเป็นลำดับลำดา กิเลสค่อยๆ หมอบลงไปเป็นลำดับ พอกิเลสหมอบเท่านั้นใจก็เย็น พอกิเลสออกพลุกพล่านใจต้องรุ่มร้อน เพราะพลุกพล่านหาเหตุเพื่อทำลายใจนี่แล

คำว่า “กิเลส” กิเลสมันต้องหาเหตุ นำความทุกข์ร้อนเข้ามาใส่ใจเสมอ ถ้าปล่อยให้กิเลสพลุกพล่านมากเพียงใด ก็แสดงว่าปล่อยให้กิเลสออกไปกอบโกยเอาความทุกข์เข้ามาเผาลนตนเองให้ร้อนมากขึ้นเพียงนั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีกองไฟอยู่ในหัวใจ แต่ใจก็ร้อนยิ่งกว่าไฟ เพราะไฟของกิเลสร้อนยิ่งกว่าไฟใดๆ ทั้งสิ้น

ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีไฟ คือกิเลสลุกลามขึ้นมา เมื่อฝึกฝนทรมานใจไม่ลดละท้อถอยโดยสม่ำเสมอ ใจก็กลายเป็นความเคยชินขึ้นมา สติสตังก็มีขึ้น ไปอยู่ในที่เช่นไรสติก็มีไปเรื่อยๆ ความเย็นใจนั้น ไม่มีอะไรที่จะเย็นยิ่งกว่าใจสงบ

ใจสงบในขณะใด ย่อมแสดงความเย็นให้เห็นประจักษ์ ใจที่เย็นตามฐานะของตนที่มีพื้นเพอันดีอยู่แล้ว เพราะอำนาจแห่งสมาธิที่สงบหลายครั้งหลายหน จนกลายเป็นการสร้างฐานมั่นคงขึ้นมานั้น ย่อมเป็นความสุขอันละเอียดอ่อนอยู่ประจำใจ ทั้งที่ใจไม่ได้รวมลงเป็นสมาธิด้วยการภาวนาเหมือนขั้นเริ่มแรก

เมื่อถอยออกพิจารณาทางด้านปัญญา ก็สามารถแยกแยะส่วนต่างๆ ของร่างกายลงในกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ได้ ตลอดสิ่งภายนอก เช่น ต้นไม้ ภูเขา ก็แยกแยะออกให้เห็นเป็น “ไตรลักษณ์” ได้เช่นเดียวกับส่วนภายใน พิจารณาประสานกันไปทั้งภายในภายนอก เช่น จำพวกสัตว์ พวกเสือ เป็นต้น ก็เป็นธาตุเป็นขันธ์ เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับธาตุขันธ์ของเราจะไปกลัวไปเกรงกันหาอะไรไม่เข้าเรื่อง หาเหตุหาผลไม่ได้ ไร้สารคุณของผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ น่าอับอายสัตว์ป่าเขาที่อยู่กันได้ไม่กลัวแบบพระกรรมฐานปลอม

เหล่านี้คืออุบายสติปัญญาของผู้แสวงธรรมฆ่ากิเลส ไม่ใช่อุบายกิเลสสังหารธรรม สังหารพระธุดงคกรรมฐานปลอม เพราะหลงกลมายาของกิเลส เช่น ความกลัวเสือ กลัวตาย เป็นต้น

พระพุทธองค์ทรงสอนพระผู้เริ่มบวชว่า “รุกฺขมูลเสนาสนํ” เป็นต้น ท่านไล่เข้าไปอยู่บำเพ็ญธรรมในป่าในเขา อยู่ตามร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ที่ไหนก็ได้ ที่เป็นความสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม อันเป็นสถานที่ฆ่ากิเลสภายในใจ กระทั่งไม่มีกิเลสตัวใดเหลือหลออยู่ภายในใจเลย เพราะสถานที่เช่นนั้น

แต่ระวัง! แต่อย่าไปอยู่แบบผู้ขึ้นเขียงให้กิเลส คือความสะดุ้งกลัวตัวสั่น ไม่เป็นอันภาวนาสับยำแหลกก็แล้วกัน! อุบายแห่งธรรมต่างๆ ที่ท่านสอนสอนเพื่อฆ่ากิเลสทำลายกิเลสภายในใจให้สิ้นไปทั้งนั้น ไม่ได้สอนเพื่อให้กิเลสฆ่าคน ฆ่าพระ ในสถานที่และอิริยาบถต่างๆ ไว้เลย แต่พวกเรามักจะเป็นกันทำนองนี้ โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเป็น

“ธรรม” แทนที่จะเป็นเครื่องแก้กิเลส จึงมักกลายมาเป็นเครื่องมือของกิเลสและสั่งสมกิเลสไปเสีย เพราะหัวใจมีกิเลส กิเลสจึงมีอำนาจที่จะฉุดลากธรรมเข้ามาเป็นกิเลสได้

ฉะนั้นจึงขอเน้นความจริงให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบไว้อย่างถึงใจว่า ไม่ว่าสมัยโน้นสมัยนี้ “ธรรม” คือ “ธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์” อยู่เรื่อยมาและเรื่อยไป ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมจึงสามารถแก้กิเลสได้โดยลำดับๆ ไม่สงสัย นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบันไม่เป็นอื่น กิเลสทุกประเภทยอมหรือกลัวแต่ธรรมเท่านั้น นอกจากธรรมแล้วกิเลสไม่กลัวอะไร กิเลสครอบโลกธาตุอย่างสง่าผ่าเผย ไม่กลัวอะไร! กลัวแต่ธรรมอย่างเดียว

“ธรรม” คืออะไร? คือ วิริยธรรม ขันติธรรม วิริยะ คือความเพียร ขันติ คือ ความอดทน สติธรรม ปัญญาธรรมหนุนกันเข้าไป กิเลสอยู่ที่ตรงไหน จงนำเครื่องมือเหล่านี้ หรือธรรมเหล่านี้หมุนตัวเข้าไปตรงนั้น กิเลสขยับขยายออกไป ธรรมไล่ส่งออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีกิเลสตัวใดเหลืออยู่ แม้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายของกิเลส ที่เคยเข้ามาตั้งรากตั้งฐาน ตั้งโคตรตั้งแซ่ อยู่ในหัวใจเรามากมายเพียงไร ก็สู้วิริยธรรม ขันติธรรม สติธรรม ปัญญาธรรมไปไม่ได้ ธรรมเหล่านี้กวาดล้างไปหมด คือกวาดล้างผู้ก่อการร้ายซึ่งมีอยู่ภายในใจ และก่อกวนความสงบอยู่ตลอดเวลา

ผู้ก่อการร้าย ยุนั้น ยั่วนี้ แหย่นั้น หลอกหลอนเราให้หลงกลของมันอยู่ตลอดเวลา ถ้าธรรมชาตินี้มีอยู่ในหัวใจใด หัวใจนั้นจะหาความสงบร่มเย็นไม่ได้เลย เหมือนเชื้อโรคที่ชอนไชร่างกายให้หาความปกติสุขไม่ได้นั่นเอง ปราชญ์ท่านจึงถือว่า กิเลสทุกประเภทเป็นภัยต่อจิตใจมาแต่ไหนแต่ไร

นักปราชญ์ที่กล้าหาญไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่เข้าท่าเข้าที ไม่รู้จักเป็นจักตาย ก็คือพวกเรา จึงต้องแบกหามโทษทุกข์อยู่ตลอดเวลา แล้วยังพากันอาจหาญต่อกิเลส ส่งเสริมกิเลสอย่างออกหน้าออกตาไม่ละอายปราชญ์ท่านบ้างเลย ไปอยู่ที่ไหนก็บ่นว่าทุกข์ จะไม่บ่นยังไง ก็เราเป็นผู้เสาะแสวงหาทุกข์กันทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยการสั่งสมกิเลส อันเป็นตัวเหตุต้นเพลิงกันทั้งนั้น

เมื่อกิเลสเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น และสร้างบ้านเรือนบนหัวใจเรา จนเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างเด่นชัดแทบยกไม่ไหวแล้ว ก็บ่นกันว่าเป็นทุกข์เป็นร้อน แม้บ่นมันก็ไม่กลัวถ้าไม่ทำลายมัน ถ้ากิเลสเป็นเหมือนด้านวัตถุแล้ว โลกนี้โลกไหนก็ไม่มีที่เหยียบย่างไปได้เลย เพราะมันอัดแน่นไปด้วยกิเลสของคนและสัตว์

พระอรหันต์ท่านบำเพ็ญเพียรเพื่อความเป็นพระอรหันต์น่ะ ท่านมีความเพียรแก่กล้าสามารถขนาดไหน ท่านจึงเอื้อมถึงภูมินั้นได้ ทั้งนี้ท่านต้องเป็นนักรบจริงๆ เหนือคนธรรมดาอยู่มาก ต่างองค์ก็มีความเพียรสมเหตุสมผล ความเพียรมีมาก กิเลสก็ตายไปเรื่อยๆ ตามทางจงกรม สถานที่นั่งที่นอนมีแต่ป่าช้าของกิเลส ที่ท่านฟาดฟันหั่นแหลกกันอยู่เป็นลำดับไม่ลดละความเพียร เพราะสติอันเป็นความพากเพียรนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ยืนอยู่ท่านก็ทำ เดินอยู่ท่านก็ทำ นั่งอยู่ท่านก็ทำ เข้าไปเดินจงกรมอยู่ท่านก็ฆ่ากิเลส นอนอยู่ท่านก็ฆ่ากิเลส เว้นแต่เวลาหลับเท่านั้น แม้แต่เวลาขบฉันอยู่ท่านก็ฆ่ากิเลสด้วยสติปัญญาซึ่งทำงานอยู่ตลอดเวลา ในอิริยาบถต่างๆ เป็นอิริยาบถของนักรบเพื่อฆ่าแต่กิเลสอาสวะทั้งนั้น ไม่ได้นั่งสั่งสมกิเลส ยืนสั่งสมกิเลส นอนสั่งสมกิเลส แม้ขณะกำลังเดินจงกรมอยู่ ก็สั่งสมกิเลสเหมือนอย่างพวกเรา เพราะความไม่มีสติมันผิดกันอย่างนี้!

เดินจงกรม แย็บๆ สามสี่ก้าวเพลียแล้ว ง่วงนอนแล้วนี่ นอนเสียดีกว่า มันดีกว่ายังไง? ก็เคยดีกว่าด้วยการนอนแบบตายแต่หัวค่ำ ตลอดตะวันโผล่เป็นเวลานานแล้วถึงฟื้นตัวขึ้นมา ก็ไม่เห็นเป็นท่าเป็นทาง นี่แหละ “ดีกว่า” ไม่เป็นท่าเป็นทาง คือพวกเรานี่แล นั่งภาวนาไม่กี่นาที “โอ๊ย เหนื่อยแล้วนอนดีกว่า” มันดีกว่าอะไร? แปลไม่ออก มันศัพท์ลึกลับ นี่คือ “พวกดีกว่า” แต่ไม่เห็นดีอะไรพอได้ชมเชยบ้างเลย นี้ได้แก่พวกเรามันดีแต่ชื่อ ดีแต่เรื่องของกิเลส เรื่องของธรรมไม่ดี แล้วจะเอาไปเทียบกับครั้งพุทธกาล

ว่า “ท่าน…นั้น บรรลุที่นี่ที่นั่น ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เราฟังแทบล้มแทบตาย เรียนแทบล้มแทบตาย ปฏิบัติแทบล้มแทบตายไม่เห็นได้อะไร!” มันขนาดไหนก็ไม่รู้ คำว่า “แทบล้มแทบตาย” น่ะ เอะอะก็ “แทบล้ม” นอกจากล้มลงบนหมอน “แทบตาย” ก็ตายลงบนหมอนเท่านั้นเอง มันยังมองไม่เห็นความที่ว่า “ลำบากลำบน” จริงๆ อย่างที่ว่า ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่านดำเนินมา

ถ้าหากทำ “แบบแทบล้มแทบตาย” ด้วยความถูกต้องดีงามจริงๆ ชอบธรรมจริงๆ อย่างท่านนั้น กิเลสมันจะทนอยู่ได้หรือ เพราะกิเลสก็เป็นประเภทเดียวกันกับครั้งพุทธกาล ธรรมที่นำมาประหัตประหารกิเลส ก็คือสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เหมือนกัน หากธรรมเหล่านี้มีกำลังเพียงพอ กิเลสจะต้านทานได้อย่างไร มันจะต้องล่มจมฉิบหายไปเช่นเดียวกับในครั้งพุทธกาล

แต่นี่เราเพียงแต่เหยาะแหยะ เพียงแต่แหย่ๆ มัน พอมันตื่นขึ้นมาตวาดเอา “เหนื่อยแล้วนะ ไม่เป็นท่านแล้วนี่!” “ เราพักผ่อนเสียหน่อยเถอะพอให้สบาย นอนดีกว่า!” นี่มันตวาดเราให้เผ่นออกจากความเพียรเสีย เหลือแต่เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะอยู่รอบตัว และรอบเขตจักรวาล จนไม่อาจคำนึงคำนวณได้

พอได้สติขึ้นมา “โอ๊ย! นี่ นั่งภาวนามานานแสนนานไม่เห็นได้เรื่องอะไร ครั้งพุทธกาลท่านภาวนาได้อรรถได้ธรรมจนบรรลุมรรคผลนิพพาน เรานี้ภาวนาแทบตายมันไม่เห็นได้อะไร” ก็คิดยุ่งจนแทบตาย ปล่อยจิตส่งไปโน่นไปนี่จนจะเป็นบ้า ไม่เคยได้ยินว่าเราฆ่ากิเลสจนแทบตาย แล้วมันจะได้อะไรเล่า เพราะเหตุไม่ตรงกับความจริง ผลจะตรงกับความจริงได้อย่างไร เหตุตรงกับความจริง ก็ดังที่ท่านพาดำเนินมา สติก็มีดังท่าน ปัญญาก็ขุดค้นกิเลสประเภทต่างๆ มีความแยกคายทันกับมายาของกิเลส กิเลสจะต้องหลุดลอยไปโดยไม่ต้องสงสัย

การทำที่ควรแก่เหตุเป็นอย่างนี้ ผลก็เป็นที่พึงพอใจเกิดขึ้นโดยลำดับ อะไรที่จะแก้ยากยิ่งกว่าแก้กิเลสไม่มี ฆ่ายากที่สุดก็คือฆ่ากิเลส มันไม่ได้ตายง่ายๆ มันเหนียวแน่นแก่นกิเลส จริงๆ! เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ประโยค “พยายามอย่างถึงที่ถึงฐานให้ทันและเหนือกิเลส ไม่อ่อนข้อต่อรองกับมันพอให้มันได้ใจ และปีนขึ้นบนหัวใจเราอีก” การทำความเพียรนั้นต้องทุ่มเทกัน จนบางครั้งต้องมอบชีวิตจิตใจลงไปเพื่อแลกกับธรรม

จะตายก็ตายเถอะ ถึงเวลาที่จะสู้กันแล้ว เอ้า ตายเป็นตาย ไม่ตายก็ให้รู้ ไม่ตายให้ชนะ ให้ทราบกันในแนวรบนี้ จิตเมื่อได้ทุ่มเทลงถึงขนาดนั้นแล้ว กิเลสมันอ่อนข้ออย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ขึ้นมา สิ่งที่อัศจรรย์ซึ่งไม่เคยรู้เคยเห็น ก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ ในขณะนั้น

ธรรมอัศจรรย์ตามนั้นก็ปรากฏขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีการต่อสู้ เพราะสติปัญญาทันกับเหตุการณ์ควรแก่การฆ่ากิเลสได้โดยชอบธรรม กิเลสค่อยหลุดลอยไปๆ ความสว่างกระจ่างแจ้งปรากฏขึ้นมา ใจมีความผาสุก รื่นเริงตามขั้นของธรรมที่ปรากฏเป็นพักๆ ไม่ขาดสาย จนกลายเป็นความอัศจรรย์ขึ้นมาในตน ความอัศจรรย์จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อถึงกาลเวลาและเหตุผลที่ควรเกิด ต้องเกิดให้ได้ชมไม่สงสัย เพราะความเพียรกล้า สติปัญญาทันกับเหตุการณ์ที่กิเลสแสดงขึ้นมา

ธรรมประเภทต่างๆ ต้องปรากฏเมื่อเหตุผลเพียงพอกันแล้ว ไม่ว่าครั้งพุทธกาล ไม่ว่าครั้งนี้ไม่ว่าครั้งไหน ธรรมก็คือธรรมอันเดียวกัน จากพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน ตรัสไว้แล้วด้วยความชอบธรรมอย่างเดียวกัน กิเลสที่เป็นตัวต้านทานธรรมทั้งหลายก็มีประเภทเดียวกัน

เมื่อนำธรรมเข้ามาแก้หรือถอดถอน ให้พอแก่เหตุแก่ผลกันแล้ว ทำไมกิเลสจะไม่ตาย จะไม่สลายเพราะถูกทำลาย ต้องฉิบหายไปอย่างแน่นอนไม่สงสัย ไม่เช่นนั้นความแม่นยำแห่ง “สวากขาตธรรม” ที่ตรัสไว้ชอบแล้วก็ไม่มีความหมาย และไม่เรียกว่า “นิยยานิกธรรม” เครื่องนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ไปได้โดยลำดับ จนพ้นทุกข์ไปโดยสิ้นเชิงได้

จะมีความสงสัยอะไรอีกในพระธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมเป็นธรรมแท้ที่ปราศจากความสงสัย! พวกเราจะสงสัยอรรถสงสัยธรรม สงสัยมรรคผลนิพพาน ให้ล่าช้าฆ่าตัวเองไปทำไมกัน! นั่นมันเป็นเรื่องของกิเลสยุแหย่หลอกลวงต่างหาก เพื่อไม่ให้เราปฏิบัติตามนี่ เช่น “อย่าทำดีอย่างนั้น อย่าทำภาวนาอย่างนี้ มรรค ผล นิพพานหมดแล้ว สิ้นแล้ว ทำไปเท่าไรก็ไม่เกิดผล เสียเวลาและกำลังวังชาไปเปล่าๆ “นั่น! ฟังซิ เสน่ห์เล่ห์กลของกิเลสน่ะแหลมคมขนาดไหน ตามทันไหม?

เราต้องคิดย้อนกลับว่า “เวลาผลิตกิเลส สร้างกิเลส” มันทำไมเกิดผล สร้างความโลภก็เกิดความโลภขึ้นมา สร้างความโกรธก็เกิดความโกรธขึ้นมา สร้างความหลงก็เกิดความหลงขึ้นมา ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยการสร้างการผลิต ไม่เห็นเลือกกาลเลือกสมัยเล่า จนเต็มหัวใจสัตว์โลกแทบหาที่เก็บไม่ได้อยู่แล้ว

บทเวลาจะสร้างอรรถสร้างธรรม สั่งสมอรรถสั่งสมธรรม ทำไมจะไม่เกิดผล ทำไมหากาลหาเวลา ทั้งที่ธรรมก็มีอยู่ในคนเดียวกัน?

พึงทราบว่า อะไรก็ตามไม่ว่าบุญหรือบาป กิเลสอาสวะ มรรค ผล นิพพานเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิมแล้วตามหลัก “สวากขาตธรรม” สร้างอะไรต้องได้สิ่งนั้น ถ้าไม่สร้างไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่มี เพราะขึ้นอยู่กับเราผู้สร้างผู้ทำ อย่าเปิดทางให้กิเลสจอมมายามาหลอกลวงได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ขึ้นอยู่กับ วัน เดือน ปี แต่ขึ้นอยู่กับการสร้างการทำอย่างเดียว

เราผู้รับผิดชอบเราเองต้องระวังรักษาตัวเอง อย่าปล่อยให้กิเลสและสถานที่เวลามารับรอง ความรับผิดชอบเรามีเต็มตัว และรับผิดชอบกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ถึงปีนั้นๆ จึงจะรับผิดชอบตัว ใครๆ ก็ต้องรับผิดชอบตัวมาตั้งแต่วันรู้เดียงสาภาวะจนตลอดวันตาย ไม่เคยลดละปล่อยวาง ฉะนั้นการจะทำดีหรือทำชั่ว ต้องใช้ความพิจารณาให้รอบคอบทุกกรณี ไม่หลวมตัวทำไปอย่างง่ายๆ ในฐานะที่เราเป็นผู้รับผิดชอบเรา เช่น เวลาหิวก็รับประทาน หิวน้ำก็ดื่ม หิวข้าวก็รับประทานข้าว หิวนอนก็นอน เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องหาหยูกหายามารักษา เราต้องรับผิดชอบเราอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เอง

การประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะหาเวล่ำเวลาให้กิเลสกดถ่วงลวงใจทำไม ตลอดมรรคผลนิพพาน เป็นหน้าที่ของเราจะถือเป็นความหนักแน่น พยายามบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นกับตัว และรู้เห็นประจักษ์ใจ เป็นที่อบอุ่น สมกับความรับผิดชอบตน เพราะจิตหวังความสุขอยู่ตลอดเวลาไม่เคยจืดจางเลย

ความหวังนี้มีประจำอยู่ภายในใจ ไม่มีใครจะไม่หวังนอกจากคนตายเท่านั้น คนมี คนจน คนโง่ คนฉลาด ใครอยู่ในฐานะใด ย่อมหวังความสุขความเจริญให้สมใจหมายด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นความสุขความเจริญ จึงไม่เป็นแต่เพียงความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ว่า “นั่นเป็นไปไม่ได้” แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัยสำหรับโลกทั่วไป เป็นแต่เป็นไปได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะความเหมาะสมแห่งธรรมทั้งมวลมีแห่งเดียวคือใจ แต่เพียงความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ว่า “นั่นเป็นไปไม่ได้” แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัยสำหรับโลกทั่วไป เป็นแต่เป็นไปได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามกำลังสติปัญญาหรือบุญวาสนาสร้างมาต่างๆ กัน ดีบ้างชั่วบ้าง บางคนเกียจคร้านแทบร่างกายผุพัง ยังอยากเป็นเศรษฐีกับเขา บางคนสร้างแต่บาปหาบแต่ความชั่วจนท่วมหัว ยังหวังความสุขความเจริญ และอยากไปสวรรค์นิพพานกับเขา ทั้งที่ตนเองทำลายความหวังด้วยการทำบาปหาบนรกอยู่ตลอดเวลา

การสร้างความดีงามประเภทต่างๆ สำหรับตนอยู่เสมอไม่ประมาทนั้น ชื่อว่า “สร้างความหวังให้แก่ตนโดยลำดับๆ” ความหวังเมื่อบรรจุเข้าในใจของผู้สร้างผู้บำเพ็ญ ย่อมมีหวังและเป็นผู้สมหวังไปเรื่อยๆ จนบรรลุความสมหวังอย่างพึงใจ ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ท่านเป็นผู้หวังอย่างพึงพอใจ สมกับท่านรับผิดชอบตนจนถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง

เราต้องพยายามสร้างความดีให้พอ สร้างขึ้นที่ใจนี่แหละ ใจนี้แลคือภาชนะอันเหมาะสมกับธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายบรรจุที่ใจแห่งเดียว เพราะความเหมาะสมแห่งธรรมทั้งมวลมีแห่งเดียว คือใจ

แต่ก่อนกิเลสเคยบรรจุที่ใจมากมาย ใจจึงกลายเป็นของสกปรก เป็นภาชนะที่สกปรกด้วยสิ่งสกปรกทั้งหลายคือกิเลส จงพยายามชะล้างสิ่งที่สกปรกภายในภาชนะคือจิต ให้สะอาดโดยลำดับๆ นำเอาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ฝึกฝนใจด้วยธรรมให้เกิดให้มีขึ้นภายในใจ จนกลายเป็นภาชนะแห่งธรรมขึ้นมาแทนที่ ใจจะมีแต่ความเกษมสำราญทั้งปัจจุบันและอนาคตตลอดกาลไหนๆ ผู้มีธรรมคือความดีงามภายในใจ ไปไหนก็ไม่จนตรอกจนมุม เพราะความสุขความสบายมีอยู่กับใจนั้นแล ไม่ว่าจะไปเกิดในสถานที่ใดๆ ไม่สำคัญ สำคัญที่ให้มีธรรมคือความดีอยู่ภายในใจ เมื่อใจมีธรรมแล้ว ใจนี้แลจะเป็นผู้มีความสุข ไปอยู่สถานที่ใดก็ไม่ปราศจากสุข เพราะสุขอยู่ที่ธรรม ธรรมอยู่ที่ใจ ใจเป็นผู้รู้ผู้เห็น เป็นผู้เสวยผลธรรมนั้นๆ ไม่มีอะไรเป็นผู้เสวย นอกจากใจเพียงดวงเดียวที่เป็นสารธรรมหรือสารจิต จะเป็นเจ้าของธรรมสมบัติแต่ผู้เดียว

ขอย้ำตอนสุดท้ายให้เป็นที่มั่นใจว่า ศาสนธรรมเท่านั้นเป็นอาวุธยอดเยี่ยม ทันการปราบปรามกิเลสที่เป็นเชื้อแห่ง “วัฏจักร” ความเกิดตายให้ขาดสะบั้นลงไป กลายเป็น “วิวัฏจักร” “วิวัฏจิต” ขึ้นมาประจักษ์ใจ ดังธรรมท่านว่า “สนฺทิฏฺฐิโก” รู้เองเห็นเอง ไม่จำต้องไปถามใครให้เสียเวลา เอาละสมควรยุติ