รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม รสแห่งธรรม ชำนะรสทั้งปวง เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘

รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง คำว่า “รสทั้งปวง” นั้น คือ ทั้งหมด ไม่ว่ารสอะไรทั้งนั้นในโลก รสแห่งธรรมนี้เป็น “ยอด” คือชนะรสทั้งปวงหมด ที่ตรัสไว้เช่นนั้นก็คือ พระพุทธเจ้า ผู้เคยมีรสมีชาติเต็มพระทัย ได้ผ่านมามากต่อมากแล้วทุกรสทุกชาติ มีความหนักเบามากน้อยเพียงไรทรงทราบหมด แล้วก็ทรงประสบ “รสแห่งธรรม” ประจักษ์พระทัยว่า เป็นรสที่บริสุทธิ์ยอดเยี่ยม คือ ถึงขั้นบริสุทธิ์แห่งจิตแห่งธรรมอันเป็นรสประเสริฐสุด ทรงนำรสที่ได้ประสบประจักษ์พระทัยมาประกาศสอนโลก ให้ได้รู้ได้เห็น และให้ได้ปฏิบัติ ให้ได้ดื่ม “ธรรมรส” ทั่วถึงกันแต่ครั้งโน้นจนถึงปัจจุบัน ธรรมที่ตรัสไว้ จึงเป็นธรรมที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงแม้นิดหนึ่ง เพราะธรรมทั้งฝ่ายเหตุ คือ อุบายดำเนิน และฝ่ายผลที่ได้รับสนองเป็นหลักฐานพยาน ออกจากพระทัยที่บริสุทธิ์ บาลีว่า-

“สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ”
–“รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง”

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
–“การให้ทานธรรม ชำนะซึ่งการให้ทั้งปวง”

รสที่เคยเกี่ยวข้องกันมากับภพชาติต่างๆ นั้น กี่กัปกี่กัลป์ พระองค์ก็ทรงผ่าน และทราบโดยตลอด เช่นเดียวกับสัตว์โลกที่เคยผ่านรสชาติต่างๆ มา แต่รสแห่งธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ไม่มีรสใดจะดื่มด่ำซาบซึ้งถึงใจยิ่งกว่ารสแห่งธรรม สรุปแล้วรสภายนอกทั้งปวง สู้ธรรมรสภายในใจไม่ได้ จึงกรุณาทราบว่า ธรรมกับใจ เป็นสิ่งคู่ควรกันอย่างยิ่ง เกี่ยวกับรสชาติแห่งธรรม ที่สัมผัสสัมพันธ์กับใจ ไม่มีสิ่งใดรับสัมผัสรสแห่งธรรมได้ นอกจากใจอย่างเดียว

คำว่า “รสแห่งธรรม” นี้ เมื่อแยกออก ก็มีหลายขั้นของรส การให้ทาน ก็เป็นรสอย่างหนึ่ง ที่ให้ผู้บริจาคทานได้ความเอิบอิ่มใจ รู้สึกว่าหัวใจเบาและพองเหมือนลูกโป่งลูกที่เด็กเป่าโป่ง ๆ น่ะ อาจารย์เองเคยเป็น ถ้าได้ทำบุญให้ทานอย่างถึงใจแล้ว รู้สึกจิตใจมันพองขึ้น เบาไปหมด ราวกับจะพาเหาะลอยขึ้นบนอากาศ ว่าสิ่งที่เราทำไปนี้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับจริงๆ เราให้เพื่อผู้รับได้ประโยชน์จริงๆ สมความมุ่งหมายที่เราตั้งใจให้ แล้วจิตใจเราก็รู้สึกซึ้ง และพองขึ้น ตัวเบา ใจเบา มีความสุขมากในขณะนั้น แม้จะมีใครมาว่า “บ้าให้ทาน” บุญที่เกิดจากการให้ทานนั้น ก็เป็นเกราะรอบตัว ไม่ให้โกรธใครได้ตามความรู้สึก นี่ ก็เป็นรสอันหนึ่ง รสแห่งความตระหนี่สู้ไม่ได้ ทานนี้ชนะรสแห่งความตระหนี่ได้อย่างประจักษ์ แต่ความตระหนี่มักเหยียบย่ำจิตใจคนตระหนี่ให้จมไปได้ที่ทั้งเขารัก หวงแหนความตระหนี่ถี่เหนียว ชนิดแยกจากกันไม่ออกจนวันตายก็ตาม

วัตถุสิ่งของเงินทอง ไม่ว่าสิ่งใด เมื่อมีอยู่กับใครๆ เป็นกรรมสิทธิ์ ทำไมจะไม่รักไม่สงวน ต้องรักต้องสงวนด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมจึงสามารถให้ทานได้ไม่เสียดาย นี่ก็เพราะอำนาจแห่งธรรม คือความเมตตา ความสงสาร และ ความกว้างขวางภายในใจ ที่เคยสั่งสมด้วย “จาคะเจตนา” นี้มานานจนฝังใจ กลายเป็นนิสัยวาสนาชอบให้ทาน เป็นพลังอันหนึ่งที่จะสามารถเอาชนะความตระหนี่เหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัวนั้นได้ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากความดีที่ตนมุ่งหวังอยู่แล้ว จากการทำดีต่างๆ เท่านั้น ต่อผู้อื่นที่ควรได้รับ

การรักษาศีล ก็มีความเย็นใจ เพราะศีลนั้นเป็นธรรม รักษาไว้ซึ่งความกำเริบ ความกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน กระทบกระเทือนสมบัติ กระทบกระเทือนจิตใจของกันและกัน เรารักษาไว้ได้ ไม่ให้จิตใจและสมบัติคนอื่นได้รับความกำเริบกระทบกระเทือนหรือสูญหายจากเรา เราเองก็ภูมิใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ตนเอง ได้รักษาตนโดยเข้มงวดกวดขันถูกต้องดีงาม เป็นที่ชมเชยของคนทั้งหลาย การรักษาศีล ก็คือการรักษาคุณสมบัติของเราเอง ทั้งไม่กระทบกระเทือนแก่ผู้ใดด้วยการผิดศีล ฉะนั้นคนผู้รักษาศีลทุกประเภทให้สมบูรณ์ จึงคือคนที่รักษาคุณสมบัติของมนุษย์ให้เต็มภูมินั่นแล ผู้นั้นย่อมเกิดความอบอุ่นและเบิกบานใจ ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ

รสแห่ง “สมาธิ” จิตที่เคยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม วุ่นวายอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นจิตที่เต็มไปด้วยความรุ่มร้อน ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นมาจากความส่ายแส่ของจิต และความวุ่นวายต่างๆ แล้วมาปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมาภายหลัง นี่ก็เป็นรสอันหนึ่ง เป็นกำลังหนุนจิตให้สามารถเห็นโทษแห่งความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่เคยเป็นมานั้น ๆ ได้

เมื่อจิตได้รับความสงบมากน้อยเพียงไร ก็ยิ่งจะทำให้เจ้าของมีความเอิบอิ่ม มีความปีติยินดีในความสงบ และมีแก่ใจที่จะบำเพ็ญจิตใจให้มีความสงบ และแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อรสแห่งความสงบนี้จะได้เด่นขึ้นตามกำลังของจิตที่มีความมั่นคงขึ้นโดยลำดับ เพียง “รสสมาธิ” ก็ทำให้ผู้บำเพ็ญเพลิน เพลินทั้งกลางวันกลางคืนได้ ไม่อยากยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอารมณ์ที่เป็นภัยใดๆ มีแต่ความสงบเย็นแน่วแน่อยู่ตลอดเวลา เป็นความสุขสบาย ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้อง หรือยุ่งกวน นี่เป็นรสอันหนึ่ง ซึ่งอธิบายเพียงย่อๆ พอได้ความ ข้อเปรียบเทียบก็คือ ขณะนอนหลับสนิท เป็นขณะที่มีความสุขทางกายทางใจมาก จิตสงบก็สบายมากเช่นกัน

รส “ปัญญา” ซึ่งถอดถอนพิษภัยกิเลส แต่ละประเภทๆ ออกได้ เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามออกจากฝ่าเท้าของเราก็เป็นรสอันหนึ่ง ปัญญาขั้นหยาบ ก็สามารถถอดถอนกิเลสขั้นหยาบ ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามเสียดแทงอยู่ภายในจิตออกได้ และปัญญาขั้นละเอียดก็สามารถถอดถอนกิเลสส่วนละเอียด อันเป็นเสี้ยนหนามส่วนละเอียดเสียดแทงจิตใจ ออกได้โดยลำดับๆ เช่นเดียวกัน จนกระทั่งปัญญาถอดถอนสิ่งที่เป็นภัย หรือ เสี้ยนหนาม คือ กิเลสทั้งมวลออกจากหัวใจได้โดยสิ้นเชิง ผู้นั้นชื่อว่า ได้รับรสแห่งธรรมโดยสมบูรณ์ ตามหลักที่ท่านสอนไว้ว่า

“รสแห่งธรรม ชำนะ ซึ่งรสทั้งปวง” นี่เป็นสุดยอดของ “รส”!

ในโลกนี้ ไม่มีรสใดที่จะชนะรสแห่งธรรมได้ ผู้ได้ลิ้มรสแห่งธรรมนี้ประจักษ์ใจแล้ว จึงเป็นผู้ปล่อยวางรสทั้งหลายโดยสิ้นเชิง โดยไม่มีความอาลัยเสียดาย ติดอกติดใจกับรสใดๆ ในโลกอีกต่อไปตลอดอนันตกาล

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า “รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง” ก็หมายถึงรสนี้เป็นรสสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลาย และเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติจืดจาง ห่างเหินจากความสุข อันเป็น “บรมสุข” ตลอดไป ไม่มีการพลัดพรากจากกัน แบบความสุข อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เป็นไปอยู่ในโลกทั่วไป แม้จะเป็นรสแห่งธรรมในขั้นภูมิของจิต ที่จำต้องท่องเที่ยวอยู่ใน “วัฏฏะ” ไปก่อน ก็เป็นรสที่จะยังผู้นั้นได้รับความสุข ความสบายในภพนั้นๆ เช่นกัน

ท่านว่า “ธรรมเป็นมิตรแท้ มิตรพึ่งเป็นพึ่งตายได้แท้ ก็ได้แก่คุณงามความดีที่เป็นรสชาติเครื่องประดับหรือประคับประคองใจเรา ไปตามวิถีทางที่ถูกที่ดี มีความสุขเป็นผล ตามธรรมดาใจย่อมมี “กุศล อกุศล” เป็นผู้พาเดิน เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติ หรือ ผู้รับผิดชอบตนเองอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติ จึงต้องมีความมั่นใจ ใฝ่ “เข็มทิศ ทางเดิน” อันดีงามได้แก่ ศีลธรรม ซึ่งเป็นเครื่องพยุงเราให้ไปสู่สถานที่ดีคติที่งาม สมกับเราเป็นผู้รับผิดชอบตัวเอง

ธรรมนี้แลเป็นเครื่องสนับสนุนเรา เหมือนอาหารที่รับประทานลงไปแล้ว ส่งผลให้มีความอิ่ม มีความสุขกาย สบายใจ ทั่วสรรพางค์ร่างกายฉะนั้น

ส่วน “บาป อกุศล” นั้นเป็นภัย มีมากมีน้อย ก็คอยรังแก รังควาน คอยเหยียบย่ำ ทำลายเราอยู่เสมอ ใครไม่เคยหาความสุขได้จาก “บาป อกุศล” ปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงทรงติเตียน และแนะนำให้รู้โทษของมัน แลหาอุบายวิธีแก้ไขไม่ให้ทำความสนิทติดจมกับมัน จะกลายเป็นผู้ล่มจม หาเวลาโผล่ตัวขึ้นไม่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอยู่พูวาย เต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงอย่างยิ่งมาแต่กาลไหนๆ และเป็นสิ่งที่ควรชำระ อย่าให้มีสิ่งเป็นพิษเป็นภัยเข้ามาเจือปนกับจิตใจ ซึ่งเป็นของมีคุณค่ามาก สิ่งนั้นจะฉุดลากจิตใจ ให้ต่ำลงจนหมดคุณค่าสารคุณโดยสิ้นเชิง

“คุณค่าของจิต” เมื่อได้ปฏิบัติ สัมผัสกับธรรมแล้ว จึงเห็นได้ชัดว่า ไม่มีอะไรเสมอเหมือนได้ คุณค่าของจิต กับคุณค่าของธรรม เมื่อเข้าถึงกันอย่างแนบสนิทแล้ว เป็นอันเดียวกัน ธรรมกับจิตจึงแยกกันไม่ออก จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต กลายเป็นอันเดียวกัน เมื่อถึงขั้นสุดยอดแล้วเป็นอย่างนั้น เรียกว่า “ธรรมเป็นเอง จิตเป็นเอง” “เอโก ธมฺโม” เป็น ธรรมแท่งเดียว เมื่อผ่าน “สมมุติ” ไปหมดแล้ว คำว่า “จิตบริสุทธิ์” ก็หมดสมมุติไป

การปฏิบัติธรรม ก็คือ การปฏิบัติจิต การรักษาธรรม ก็คือ การรักษาจิต การแก้จิต เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เห็นเป็นของไม่ดี ไม่งาม ก็คือ การชำระล้างสิ่งสกปรกโสมมออกจากใจนั่นเอง

ฉะนั้น การนับถือพุทธศาสนา จึงเรียกว่า เป็นการนับถือตน หรือ รักษาตนโดยชอบธรรม เพราะตนกับศาสนาเข้ากันได้อย่างสนิท ถ้าไม่เห็นว่าศาสนาเป็นคุณแก่ตน ซึ่งความจริงก็คือ ตนเป็นพิษแก่ตน นั่นแล

ศาสนาเป็นของกลาง พระโอวาทคำสั่งสอนเป็นแนวทางชี้บอกไว้ สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติจะได้ดำเนินตามธรรมที่เป็นฝ่ายเหตุ ฝ่ายผลก็คือความสุข ความสมหวังดังใจหมาย อันจะพึงได้รับจากการปฏิบัติถูกต้องดีงามนั้น ๆ จนถึงจุดหมายปลายทาง

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแบ่งสันปันส่วนอะไรจากพุทธบริษัท ที่ปฏิบัติตามพระโอวาทท่านเลย เฉพาะพระองค์เองทรงมีความสมบูรณ์พูนผลเต็มที่แล้ว คือถึง “บรมสุข” แล้ว ไม่มีสิ่งจะขาดจะเกินในพระทัยที่บริสุทธิ์เต็มส่วนนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาขอแบ่งสันปันส่วนจากพุทธบริษัททั้งหลาย ด้วยการประกาศสั่งสอนใดๆ ทั้งสิ้น

ศาสนาเป็นของกลาง ทรงวางไว้ด้วยพระเมตตาล้วนๆ ไม่มี “โลกามิสใด ๆ”เจือปนในพระทัยเลย ผลที่ได้รับตอบแทนเพื่อพระองค์จึงไม่มี ประทานไว้แก่โลก ด้วยความบริสุทธิ์พระทัย และพระเมตตาเท่านั้น เราผู้ที่เกิดมาพบกับพระพุทธศาสนา อันเป็นคำสอนที่เรียกว่า “สวากขาตธรรม” คือ พระองค์ตรัสไว้ชอบแล้ว และเป็น “นิยยานิกธรรม” นำสัตว์ที่ประพฤติปฏิบัติชอบให้พ้นจากอุปสรรคเครื่องกีดขวาง หรือกองทุกข์ไปได้โดยลำดับ จนกระทั่งถึง “วิมุตติ” “ปรินิพพาน” จึงควรภาคภูมิใจในพระโอวาทนี้ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติของตนเอง เพื่อจะได้เลื่อนฐานะจากความเป็นอยู่ที่ไม่พึงปรารถนาอันมีอยู่ภายในจิตใจนี้ ให้ขึ้นสู่อันดับสูงโดยลำดับ สมกับศาสนธรรมที่มีคุณค่ามาก และเหมือนน้ำที่สะอาดชำระล้างสิ่งสกปรก ให้กลายเป็นของสะอาดไปตามๆ กัน

จิตใจพร้อมที่จะรับเสมอในทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้อง แต่ผู้ปฏิบัติต้องเลือกเฟ้นด้วยดี สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งไม่ควรแม้จะมีความรักชอบ ก็ต้องฝืนใจแก้ไข ดัดแปลงกันไป

สิ่งที่ไม่รักชอบ แต่เป็นธรรม เป็นของดี ก็ต้องฝืนใจ บังคับบัญชาตนเองให้ดำเนินไปตามสิ่งที่ถูกต้องดีงามนั้น ผลพึงได้รับเป็นที่พึงพอใจ เช่นเดียวกับเราทำงาน ไม่ใช่จะมีความขยันหมั่นเพียรกับงานตลอดไป บางครั้งเกิดความขี้เกียจอ่อนแอขึ้นมาเป็นอุปสรรคแก่งาน มีมากมาย แต่เหตุผลบังคับว่า “ต้องทำ” เพราะผลจะเป็นสิ่งพึงใจ และก็ทำตามเหตุผลนั้น ผลที่พึงได้รับก็เป็นสิ่งที่พอใจจริงๆ การปฏิบัติศาสนธรรมก็เป็นเช่นนั้น บางคราวมีความท้อแท้ อ่อนแอ ตำหนิติเตียนตนในทางที่ไม่ถูก ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำทำลายตนลงอีกก็มี เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เมื่อเราเป็นผู้มีเหตุผล และหนักในเหตุผลอยู่แล้ว ก็นำเหตุผลนั้นมาแก้ไขดัดแปลงความคิดที่ไม่ดีนั้นให้ห่างไกลจากตัว และดำเนินตามหลักธรรม หลักเหตุผลนั้น ผลที่พึงได้รับ ก็เป็นที่พอใจแต่ต้นจนอวสาน สุดท้ายปลายทางคือ “พระนิพพาน” อันเป็นแดนสิ้นทุกข์ทรมานใจ โดยสิ้นเชิง!

ธรรมดาจิตใจเราที่มีกิเลสอยู่ภายใน ก็ต้องเป็นเหมือน “นักโทษ” ต้องถูกบังคับถูกกดขี่ ถูกฝึกฝนทรมาน ถูกเฆี่ยนถูกตี ถูกพร่ำสอน ดุด่าว่ากล่าวหนักเบาเป็นธรรมดา ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปตามลำพังของนักโทษ มันก็ไม่ได้การได้งาน มีนักโทษเต็มเรือนจำก็กินข้าวหลวง เสียข้าวหลวงไปเปล่าๆ ผลที่พึงจะได้รับก็ไม่มีอะไรปรากฏ นอกจากความสิ้นเปลืองข้าวของของหลวงไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้นผู้คุมต้องบังคับบัญชาให้ทำการงานเพื่อเป็นการตอบแทนโทษที่ทำผิด และชดเชยสิ่งที่เสียไป

ใจที่มีกิเลสตัณหาอาสวะอยู่ภายในก็เป็นเหมือนนักโทษนั่นแหละ ของไม่ดีเข้าครอบงำจิต มันทำให้จิตเป็นนักโทษ อันใดเป็นสิ่งดีงามไม่อยากทำ และอยากให้ทำสิ่งที่เป็นไปเพื่อความสกปรกโสมม เป็นไปเพื่อความทุกข์ลำบาก กิเลสซึ่งเป็นของสกปรกอยู่แล้วมันก็ชอบ และบังคับให้เราดำเนินตาม แต่หลักธรรมไม่นิยม ธรรมไม่ยินยอม ธรรมไม่เป็นไปด้วย เราผู้นับถือศาสนธรรม ก็ต้องฝืนกิเลส ด้วยการทำดีทุกประเภทที่สามารถทำได้

การฝืนกิเลส จึงเป็นเหมือนการต่อสู้กัน การต้านทานกัน โดยถือใจ ถือกายเป็นสนามรบ เราก็ต้องทุกข์ลำบากเป็นธรรมดา เพราะการฝืน การรบกับกิเลส ทรมานกิเลสซึ่งอยู่กับใจเรา มันต้องกระเทือนกัน แม้ธรรมก็อยู่กับใจ การแก้กิเลสก็แก้ที่ใจ การประพฤติธรรมทุกประเภท ก็ประพฤติที่กาย ที่ใจเรา

ใจทั้งดวง กายเราทั้งคน กับกิเลสหลายกองพลรบ ก็อยู่ในที่เดียวกัน ต้องมีความทุกข์อย่างหลีกไม่พ้น บางทีนั่งนอนก็เกี่ยวกับธาตุขันธ์ ต้องเจ็บที่นั่นปวดที่นี่ จิตใจอยากจะคิดไปตามอำเภอใจก็คิดไม่ได้ ต้องถูกบังคับบัญชา แก้ไขกันด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งต้องเป็นความทุกข์ความลำบาก แต่ละอย่าง ละอย่าง

ความลำบากเหล่านี้เป็นความลำบากเพื่อผลอันดี จึงไม่ถือเป็นอุปสรรค ให้ท้อถอยอ่อนแอ ในขณะเดียวกันควรถือเป็นความภูมิใจ ที่คนอื่นเขาไม่สามารถทำได้อย่างเราก็มีแยะ แต่เรายังมาฝึกฝนทรมานตนได้ ดังที่ท่านทั้งหลายพากันอุตส่าห์มาอยู่ในสถานที่เช่นนี้ และบำเพ็ญอยู่ในเวลานี้อย่างเต็มความสามารถขาดดิ้น ไม่เสียดายอะไรยิ่งกว่าธรรม คือความดีงาม อันเป็นสิริมงคลแก่ตน

โลกที่นับถือ และนิยมกันว่าเป็นความเจริญแล้ว เราอาจเห็นว่า สถานที่นี้คือเรือนจำ ที่อยู่ของคนซึ่งหมดความหมายไร้ค่า จนตรอกหาทางออกไม่ได้ จึงมาอยู่กัน เห็นว่าเป็นสถานที่หาคุณค่าไม่ได้ คนที่มาประพฤติปฏิบัติอยู่เช่นนี้ ก็คือคนที่หาคุณค่าไม่ได้ หาราคาไม่ได้นั่นเอง ในความนิยมของโลก อันเป็นเรื่องของกิเลสที่อัดแน่นจนหาที่เก็บไม่ได้

แต่เรื่องของธรรมแล้ว เป็นความสูงส่งสำหรับผู้มาบำเพ็ญตน ในสถานที่อันเหมาะสม และปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ ดังพุทธบริษัทมาฝึกฝนทรมานตน อดนอน ผ่อนอาหาร ทรมานกาย ทรมานจิตใจของตน เพื่ออรรถเพื่อธรรม ซึ่งเป็นการถูกต้องดีงาม และเป็นงานที่มีคุณค่ามาก ตัวผู้บำเพ็ญเองก็เป็นผู้มีคุณค่า จิตใจคิดออกแต่ละวาระหนึ่ง วาระหนึ่ง ก็เป็นไปด้วยอรรถด้วยธรรม ซึ่งเป็นวาระของจิตที่คิดออกด้วยความเป็นของมีคุณค่ามาก ยากที่ใครจะระลึกรู้และคิดได้บ้างแม้เพียงบางกาล

การทำคุณงามความดี ก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยเหมือนกัน ถ้านิสัยไม่มี ก็ไม่อยากทำ ฝืน ฝืนยิ่งกว่าจูงหมาใส่ฝนด้วยซ้ำ เราไม่เคยเห็นบ้างหรือ เขาจูงหมาใส่ฝน หมามันอยากตากฝนเมื่อไร จูงหมาใส่ฝน มันทั้งร้อง ทั้งวิ่ง ทั้งดิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนติ้วในตัวของมันมีแต่ความดิ้นรน วิ่งหลบ วิ่งซ่อน วิ่งตัดหน้า ตัดหลังเจ้าของ เพราะไม่อยากเปียกฝน อาการของสุนัขที่มันไม่อยากจะเปียกฝน ต้องวุ่นวายไปหมด อย่างนั้นแล

จิตของเราที่ฝืนธรรมก็เป็นอย่างนั้น สัจธรรมเหมือนกับฝน ผู้จูงใจใส่ธรรม คือใส่ที่ภาวนา ใส่ทางจงกรม ใส่ที่นั่งสมาธิ ด้วยสติปัญญา ใจมันดิ้นรนกวัดแกว่ง กลัวเปียกฝน คือ สัจธรรม ใจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว กลัวจะตาย ไม่อยากทำ ดิ้นรนกวัดแกว่ง วิ่งหน้า วุ่นหลังทุลักทุเลร้อยแปด นั่นแล

แต่ผู้ที่มีนิสัยอยู่ภายในจิตใจแล้ว มีความกระหยิ่มในการประพฤติปฏิบัติ เอ้า ยากก็ทน ลำบากก็พอใจทำ ขอให้ได้บำเพ็ญคุณงามความดี ตามความชอบใจ ตามความต้องการก็แล้วกัน ผลอันล้นค่า เป็นที่พึงหวังของเรา

เกิดมาในโลกนี้ ได้เห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดีชั่ว เราได้เห็นประจักษ์ตา ประจักษ์ใจแล้วทุกสิ่ง แทบทุกอย่าง แต่ส่วนธรรมที่นักปราชญ์ผู้เลิศโลกท่านสอนไว้ เรายังไม่เห็นประจักษ์ภายในใจ นักปราชญ์เหล่านั้น เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เป็นผู้โกหกหลอกลวง ต้มตุ๋น เหมือนโลกๆ ทั่วไปที่เป็นกันอยู่ประจำ เราขอน้อมกายถวายชีวิตต่อท่านด้วยคำว่า “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” นี้ประการหนึ่ง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อบูชาท่านด้วยการปฏิบัตินี้ ประการหนึ่ง จึงชื่อว่า “อัตภาพร่างกาย จิตใจของเราเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก” ได้บำเพ็ญเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา โดยทางจิตใจ และประพฤติปฏิบัติแบบประทับใจ ชื่อว่าชีวิตเรามีคุณค่า มีศาสดาเป็นผู้ครองใจ แทนที่กิเลสจะมาครองจิตใจ ซึ่งหาความสงบสุขไม่ได้

จิตที่มีธรรมครองใจนี้ ผิดกับกิเลสครองใจอยู่มาก เมื่อคิดถึงการประพฤติปฏิบัติของตน ดังที่ดำเนินอยู่เวลานี้ กับคิดถึงโลกทั่วๆ ไป ซึ่งหาหลักเกณฑ์ไม่ได้นั้น จะเห็นว่าได้เปรียบโลกทั้งหลายอยู่มาก

คำว่า “ความสงบของใจ” ความสุขของใจที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ไม่เคยรู้เคยเห็น ไม่เคยสนใจมีมากทีเดียว ถ้าจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เห็นจะถึง ๙๙% เรานับเอาแต่เฉพาะมนุษย์ทั่วโลก กับมนุษย์ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ส่วน ๑% ก็หมายถึงผู้สนใจพุทธศาสนา และปฏิบัติตนจนปรากฏผลเยือกเย็นแก่ใจ รู้สึกจะมีน้อยมาก เราก็รับนับเข้า ๑% นี้ ซึ่งจัดว่าเป็นผู้มีอำนาจวาสนาพอสมควรจึงควรภาคภูมิใจ แล้วประพฤติปฏิบัติต่อไป

จะตายเมื่อไรก็ตายเถอะ ป่าช้าของเรามีอยู่ทุกแห่งทุกหนในสกลกายนี้แหละ ตายที่ไหนก็ตายอยู่ที่สกลกายนี้ แตกที่สกลกายนี้ จึงไม่ควรหมายป่าช้า แต่หมายถึงสกลกายที่แตกดับไป นั่นแลเป็นป่าช้า จึงไม่ควรวิตกวิจารณ์ถึงกาล สถานที่อยู่ ที่เกิด ที่เป็น และที่ตาย ซึ่งนอกเหนือไปจากกายนี้

การพิจารณา ก็ให้รู้แจ้ง “ป่าช้า” นี้ประจักษ์ใจ การรู้แจ้งป่าช้า คือความตาย ว่ามันอยู่ในสกลกายนี้โดยชัดเจนด้วยปัญญาแล้ว ย่อมหายสงสัย ยังอยู่ก็ทราบว่ายังอยู่ ตายก็ทราบว่าป่าช้า กายนี้เป็นที่ตาย ไม่คาดโน่น คาดนี่ อันเป็นการก่อกวนจิตใจให้ยุ่งเปล่าๆ

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้รู้ความจริง เมื่อต่างอันต่างเป็นความจริงตามปกติของเขา และตนก็รู้ความจริงตามหลักธรรมชาติที่เป็นความจริงอยู่แล้วนั้น ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย หรือความกังวลทั้งหลาย อันเป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจ ก็ค่อยเบาบางลงไปโดยลำดับๆ อยู่ที่ไหนก็ “สุคโต” ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ “สุคโต” เป็นอยู่ก็ “สุคโต” ตายแล้ว? ตายแล้วจะพาลให้เกิดเป็นทุกข์ทรมานได้อย่างไร! เพราะเราไม่ได้สร้างเหตุให้เป็นทุกข์ ได้สร้างแต่ความดีที่เป็นสิริมงคล และสร้างแต่สติปัญญา เพื่อความรู้เท่าทันกันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องทั้งหลายโดยลำดับเท่านั้น นี่คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน สมกับความรับผิดชอบตน ในที่ทุกสถานและในกาลทุกเมื่อมา

การรับผิดชอบตน โดยการประพฤติปฏิบัติดีนี้ เป็นการรับผิดชอบที่ถูกต้องตามหลักธรรมที่ปราชญ์สั่งสอนไว้ ผู้เชื่อธรรม เชื่อปราชญ์ ย่อมเป็นผู้เจริญปลอดภัย ทั้งปัจจุบันและอนาคต ทั้งเป็นผู้แน่ใจในอนาคตของตน

ฉะนั้น จึงขอให้อุตส่าห์พยายามสร้างความดีให้เต็มความสามารถ จนชีวิตหาไม่ ผลกำไรจะเป็นแก้วสารพัดนึก ไม่อับจนในภพชาติที่เกิด กำเนิดที่เป็นในภพนั้นๆ จึงขอยุติการแสดงเพียงเท่านี้