มัชฌิมากิเลส มัชฌิมาธรรม

หลวงตามหาบัว ธรรมะชุดเตรียมพร้อม มัชฌิมากิเลส มัชฌิมาธรรม เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘

มัชฌิมาของพระพุทธเจ้า กิเลสมันหนักขนาดไหน มัชฌิมาก็อย่างนั้น เอาให้ถึงกันๆ อันนั้นเรียกว่า มัชฌิมา เราอย่าเอามัชฌิมาของกิเลสมาใช้เลย

ถ้าเราจะต้องการกับมัชฌิมาที่เหมือนกับพระพุทธเจ้าให้เล็งเห็นความหนักเบาของเราที่มันแสดงอยู่ภายในใจ มันมีความหนักเบาแค่ไหน มีความดื้อด้านขนาดไหนภายในจิต ต้องใช้อุบายทรมานมันจนให้ถึงกันนั้น นั่นแหละเป็นมัชฌิมาที่เหมาะกับการฆ่ากิเลสประเภทนั้นๆ

มัชฌิมาที่โลกหมายกันก็คือ ความขี้เกียจอ่อนแอนั้นเอง ขนาดนี้พอดีๆ พอดีแล้วมัชฌิมากิเลส มันจะไม่พอดียังไง

มัชฌิมาของธรรมไม่เป็นอย่างนั้น ควรจะเอาตายว่า ก็ว่ามันลงไป ควรจะเอาอะไรมอบ ก็มอบมันลงไป ตามกาล ตามเวลา ตามสถานที่ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำอย่างนั้น นั่น นั่นแหละเรียกว่า มัชฌิมา

นั่นมัชฌิมาของกิเลสที่เราๆท่านๆ เห็นกันอยู่นี้ นี่มัชฌิมาของกิเลส คือ ตา มันทำอะไรบ้างเล็กน้อยเพราะว่า มันเพลินไป มันจะ เออ มันมัชฌิมา เนี่ยกิเลสมันเอาเรื่องพระพุทธเจ้ามาใส่ไว้ มันอยู่ข้างหลัง แล้วก็ขึ้นปีนบนหัวคน บนหัวใจคน บนหัว บนหัวอะไร คำว่า ธรรมะ นั้นเป็นของกลางก็จริง แต่ผู้ที่นำมาปฏิบัติต้องแยกมาตามประเภทให้เหมาะกับจริตนิสัยของตนที่จะนำไปใช้ คือ ธรรมะคำว่าเป็นของกลางมีทั้งอย่างหย่อน อย่างกลาง อย่างอุกฤษณ์ คือ อย่างเยี่ยม เด็ดขาด

สำหรับผู้ที่นำมาปฏิบัติ ก็ปฏิบัติทั้งสามอย่างนี้เหมือนกัน คือ ตามกาลเวลา หรือตามเหตุการณ์ สถานที่ที่ควรจะใช้ธรรมะประเภทนั้นๆ ให้เหมาะกับกิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจของตน ไม่งั้นมันก็ไม่เหมาะสมกัน มันแก้กันไม่ได้ ควรจะหนักแต่ไปเบาเสีย มันก็ไม่ได้ ควรจะเบาแต่เราไปหนัก อย่างนี้มันก็ไม่ถูก

ก็เหมือนกับเครื่องมือทำงานนั้นเอง งานประเภทใดที่สมควรใช้เครื่องมือชนิดใด นายช่างต้องทราบเอง ควรจะหนักจะเบา จะใช้เครื่องมือประเภทใดให้เหมาะสมกับงานนั้นๆ นายช่างนี่ก็ต้องทราบของเค้าเอง นี้เราเป็นนายช่างสำหรับเรา เราก็ควรทราบของเราในตนเอง

ขณะไหนที่จิตมันดื้อดึง ขณะเวลานั้นเอาให้หนัก ขณะไหนที่มันอ่อนรวนลงไป หรือยอนลงไปแล้ว ปฏิปทาก็ต้องหย่อนยานลงไปตามลำดับ ยามเข้าขั้นละเอียดที่ควรใช้จะความละเอียด ก็ต้องใช้ความละเอียดจะไปผาดโผนนั้นไม่ได้ ไม่อาจรู้ดีตัวเองนั่นแหละ ถึงเวลาเด็ดมันก็เด็ด ถึงเวลาหย่อนมันก็หย่อน แต่ไม่ใช่ว่าหย่อนด้วยความอ่อนแอ หย่อนตามความเหมาะสมที่มันควรใช้ในกาลนั้นๆ กับสิ่งมันที่เกี่ยวข้องกับตน คือ กิเลส นี่เรียกว่าการปฏิบัติเหมาะสม นี่เรียกว่า มัชฌิมา จะได้ผลไปโดยลำดับ

ขณะที่จิตมันมันหมอบราบลงไปด้วยการทรมานอย่างหนักเนี่ย ขณะที่มันหมอบราบเนี่ยเราจะตามตีมันยังไง มันหมอบราบเข้าสู่ความสงบ แล้วก็เป็นผล เราก็ชมผล เสวยผลนั้น จนกว่ามันจะแสดงตัวออกมาอีกในท่าไหน พอถอยออกมาจากนั้นแล้วมันจะไปท่าไหน แล้วเราค่อยตามมันอีก นั่น นี่ยกตัวอย่าง

คือพิจารณาจิตที่เราได้พิจารณากันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กันเอาจริงเอาจังจนถึงเหตุถึงผล ประจักษ์กันภายในจิตใจ จนกระทั่งถึงก้าวสู่ความราบคาบแล้วเช่นนั้น มันก็ต้องปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ไม่ต้องไปแตะต้องอะไรเลย เป็นผลเกิดขึ้นมาจากการทรมานอย่างหนัก เวลาได้ผล ก็ได้ผลอย่างเต็มภูมิ ก็เสวยผลในขณะนั้น ความสงบ ความสว่างไสวจะแสดงอยู่ในตัวไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็จะไปชำระอะไร เราจะไปทรมานอะไรในขณะนั้น เรื่องสติปัญญามีก็ทราบอยู่ในขณะนั้นไม่ทำงาน เพียงแต่รับทราบกันอยู่เท่านั้น พอจิตถอยออกมาแสดงอาการดื้อดึง ฝ่าฝืนอะไรต่อไปอีก นั่นแหละที่นี่ เป็นโอกาสที่จะตามมันไป ตามความหนักเบาของกิเลสที่มันแสดงขึ้นมา นี่เรียกว่า ความเหมาะสม

กิเลสก็มีหลายประเภท ธรรมะก็มีหลายขั้น ผู้ที่นำมาปฏิบัติ ก็ให้เลือกเอาตามจริตนิสัยของตนที่เห็นว่าเหมาะสมกับธรรมะนั้นๆ ที่จะนำแก้กิเลสประเภทนั้นๆ หลักใหญ่ก็มีอยู่ตรงนี้

ที่นี้อีกอันหนึ่ง ครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยหนักตามจริตนิสัยของท่านมาอย่างไร เวลามาให้อุบายสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ ก็รู้สึกว่าจะมีนิสัยนั้นแฝงมาด้วย หรืออย่างเด่นก็มี ไม่จำเป็นว่าต้องแฝงมาด้วย ต้องเป็นนิสัยของท่านมา การที่ท่านจะแสดงให้คนทั่วๆไปฟังด้วยมารยาทอันเหมาะสมดีงามนั้น เป็นไปตามเรื่องของบุคคล การแสดงในวงใกล้ชิด เฉพาะอย่างยิ่งอย่างท่านอาจารย์มั่น ท่านจะแสดงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างเผ็ดร้อน นี่แสดงว่านิสัยของท่าน ท่านเคยฝึกทรมานกิเลส หรือปราบปรามกิเลส ท่านปราบปรามมาด้วยอุบายหรือวิธีการอย่างนี้ ถึงกาลที่จะมาสอนลูกศิษย์ลูกหาที่ไปศึกษาอบรม เฉพาะอย่างยิ่งคือนักปฏิบัติด้วยกันล้วนๆ ท่านจะแสดงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มภูมิของท่านที่เคยได้ปฏิบัติ ได้รู้เห็นมาอย่างไร แก่บรรดาลูกศิษย์ที่ไปอบรมศึกษา

เวลาท่านแยกแยะไปตามคนหมู่มาก ประชาชนที่ไปเกี่ยวข้อง ท่านก็แยกแยะไปให้เหมาะสมกับคนที่มาเกี่ยวข้องเท่านั้นเป็นบางกาล ที่เป็นเรื่องนิสัยของท่านจริงๆ ก็แสดงในวงใกล้ชิดนั่นแหละ นั่นจะได้เห็นลวดลายของท่านว่าเป็นอย่างไร และพร้อมทั้งได้ย้อนพิจารณาถึงปฏิปทาการดำเนินของท่านมาตั้งแต่ก่อน จนกระทั่งถึงมาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ ท่านมีวิธีการอย่างไร ก็คือ มีวิธีการดังที่ท่านสอนเรานั่นเอง อย่างเผ็ดร้อน เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย เข้าว่าเลย

นี่แหละครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงมักเอานิสัยนี้มาใช้อยู่เสมอ เพราะนิสัยนี้อยู่กับตัวเอง ก็ออกได้ง่ายๆ อย่างอื่นที่ไม่ใช่นิสัย มันก็ต้องมีการดัดแปลงไปตามสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง เป็นชั่วกาลชั่วเวลาเท่านั้น ไม่เสมอไปเหมือนนิสัย อย่างนิสัยเป็นอย่างเสมอไป แสดงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเป็นนิสัยแล้วได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

คำว่า นิสัย นี่หมายถึงพื้นเพแห่งกิริยามารยาทที่กล้าแสดงออก ส่วนอรรถส่วนธรรมก็เป็นอีกแง่หนึ่ง ที่นำแสดงนั้น ท่านปฏิบัติอย่างนั้น ท่านรู้จริงเห็นจริงด้วยวิธีการอย่างนั้น ท่านแสดงออกมาก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างเผ็ดร้อนเช่นเดียวกัน ถึงใจทั้งผู้แสดงด้วย ถึงใจทั้งผู้ฟัง ถึงใจทั้งการจะถอดถอนกิเลส คือมันไม่มีอะไรสงสัย ฟังแล้วมันถึงใจๆ ทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรสงสัย กำลังใจมันก็มีมาเอง

การที่จะนำไปปฏิบัติต่อตัวของเราเองมันก็จะควรให้เป็นอย่างนั้น ถึงคราวที่จะเด็ดก็ให้เด็ด นี่จะอ่อนหย่อนยานลงไปตามสภาพของธาตุของขันธ์ของจิตใจ เราก็อ่อนไปตามสภาพตามกาลตามเวลา

จิตใจของเราเรียกร้องหาความช่วยเหลืออยู่เสมอ เพราะถูกข้าศึกกดขี่บังคับอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับคนที่ถูกกดขี่บังคับ เรียกร้องหาความช่วยเหลือ ไม่ผิดกัน ไปเจออันตรายอะไร มีใครจะฆ่าจะฟัน จะแย่งจะกินกัน ก็ต้องช่วยด้วยๆๆ เป็นธรรมดา นี่จิตใจที่ถูกกดขี่บังคับโดยข้าศึก คือ กิเลสทั้งหลาย ก็เรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเราอยู่เช่นเดียวกัน เราจึงไม่ควรนอนใจเมื่อได้รับการเรียกร้องจากกิเลส หรือจากจิตซึ่งถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลาย จึงควรหาอุบายช่วยเหลือ ช่วยเหลือตัวเองนั่นแหละ ด้วยอุบายวิธีต่างๆ

เพราะเราจะเป็นผู้พึ่งพิงอิงอาศัยจิตนี้ไปตลอดกาล ไม่มีกาลใดที่จะแยกออกจากจิต เพราะจิตกับเราก็คืออันเดียวกัน เป็นแต่เพียงปฏิกิริยาอันหนึ่งที่เรียกว่าเราอันหนึ่ง เรียกว่าจิตอันหนึ่ง นี้เท่านั้น เวลาสรุปความลงไปแล้วก็คือ อันเดียวกัน จิตกับเราเป็นสิ่งอันเดียวกัน จะต้องได้รับผิดชอบกันไปตลอดสาย ไม่มีกาลใดที่แยกออกจากจิต เมื่อจิตเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเรา เราจึงไม่ควรนอนใจให้ความช่วยเหลือแก่จิตจนเต็มความสามารถตลอดไป จิตจะได้ผ่านพ้นจากอันตรายนั้นเป็นลำดับๆ จนกระทั่งผ่านพ้นอุปสรรคไปได้โดยสิ้นเชิง ที่นี้ความสุขความสบาย หายห่วงหายกังวลทั้งหลายก็คือ เราเองเป็นผู้ได้รับ

นี่เป็นหลักใหญ่ของเรา ต้องช่วยตัวเอง ต้องช่วยอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ท่านก็เป็นผู้แนะนำสั่งสอน ตัวอุบายต่างๆ และนำคำสอนนั้นไปช่วยตัวเอง ในขณะที่ฟังก็เกิดผล เกิดประโยชน์ นี่เป็นเพราะ ชนิดหนึ่ง เราจะนำอุบายจากท่านไปอบรมสั่งสอน หรือฝึกฝนทรมานเรา เราก็นำไปเกิดประโยชน์อีกชั้นหนึ่ง

ประโยชน์อันนั้นแหละเป็นประโยชน์สำคัญอีกด้านหนึ่ง คืออุบายที่ผลิตขึ้นมาด้วยสติปัญญาของตนเองและกินไม่หมด ถ้าเป็นอุบายสติปัญญาของตน คนอื่นหยิบยื่นให้อย่างนี้ย่อมมีขาดเขินบกพร่องเป็นธรรมดา เวลาเค้ามาหยิบยื่นให้ ไม่ทราบจะกินอะไร จะใช้อะไร ตัวไม่มีสติปัญญานำออกมาใช้ ผลิตขึ้นมาเองไม่ได้ด้วยความฉลาดของตน

อุบายสติปัญญาที่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนจึงเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันคือขณะที่ฟังด้วย เพื่อประโยชน์ในวาระต่อไปที่เราจะนำอุบายวิธีนี้ไปผลิตขึ้น ให้ได้ดอกได้ผลมากขึ้นไปโดยลำดับ ถ้าเกิดขึ้นในการผลิตโดยอาศัยครูบาอาจารย์เป็นต้นทุนให้อุบายแล้ว เราก็ไม่จนตรอกจนมุม ถึงคราวจำเป็นจำใจมาอย่างนี้ ไม่พึงใคร

จิตที่เป็นนักธรรมะ ที่ได้ต่อสู้ด้านจิตตภาวนามาพอสมควรแล้ว ถึงคราวจำเป็นจริงๆแล้วจะไม่พึงใคร จิตจะตวัดเข้าในภายในทันที มันพึงไม่ได้ จะพึงใคร ใครก็ตายเต็มตัว ว่างั้น ความตายเต็มตัว สติปัญญาแม้จะมีเต็มภูมิก็มาช่วยกันไม่ได้ในขณะนั้น ต้องเป็นเรื่องของเราที่จะผลิตขึ้นมาช่วยเราเอง เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพยายามผลิตเสียตั้งแต่บัดนี้ ที่ยังไม่สายเกินไป ให้มีสติปัญญาเท่าเทียมกับกลมายาของกิเลสที่มาแสดงอยู่ในขณะนั้นๆ เฉพาะอย่างยิ่งในขณะตาย

สัตว์โลกนี้กลัวกันเรื่องความตายนี้มาก ไม่มีอะไรเหนือกว่าเรื่องความกลัวตาย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญาลงให้ทันกับอุบายของกิเลสที่กลัวตาย ให้มันเกิดความกล้าหาญ แล้วรู้ความจริงของมันขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่กลัว เรานั้นยังไม่รู้ มันก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

เมื่อรู้เข้าถึงความจริงด้วยกันแล้ว อะไรมันก็จริงกันหมด ไม่ทราบว่าจะหากลัวอะไร เหมือนหลอกตัวเอง ก่อนตายก็ทราบแล้วว่ามันตายยังไง จึงเรียกว่าตาย รู้ชัดเจนมันจนกระทั่งถึงความสลายแห่งธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปตามสภาพของมัน มันไม่เห็นมีความสะทกสะท้านในการสลายตัวของมันเอง แต่อย่างไร ใจซึ่งเป็นของไม่ตายแล้วไปสะทกสะท้านหวั่นไหวกับเขา ไปกลัวเขา มีอย่างเหรอ ถ้าอย่างนั้น ธาตุขันธ์มันก็ไม่โง่ มันก็โง่อยู่กับมนุษย์เราผู้เป็นเจ้าของนี้ เราต้องผลิตความฉลาดให้ทัน กับธาตุ กับขันธ์ กับตัวเองคือจิต กลมายาที่เกิดขึ้นจากจิตให้มันทันกัน ก็มันไม่กลัวกัน จะไปกลัวอะไร มันมีความจริงเต็มโลกอยู่

เรียนธรรมต้องเรียนความจริงที่มีอยู่เต็มโลกเต็มสงสารทั้งท่านทั้งเรา มีเต็มไปหมดตั้งแต่ความจริงล้วนๆ ถ้าสติปัญญาได้ผลิตตัวขึ้นมาให้ทันกับเหตุการณ์ซึ่งมีความจริงอยู่ในโลกเช่นเดียวกันแล้ว มันก็ไม่หวั่นไหวกัน ต่างอันต่างจริง อยู่สบาย เป็นก็เท่าเดิม ตายก็เท่าเดิม

ความรู้สึกอันนั้นเพราะเป็นก็เป็นความจริงอยู่อันหนึ่ง ตายแล้วก็มีความจริงอันหนึ่ง เนี่ย มันไม่เห็นมีอะไรผิดแผกแตกกัน มันเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของธาตุขันธ์ โยกย้ายไปมาเท่านั้นเอง ท่านว่า อนิจจัง อนิจจัง มันแปรสภาพ ตัวของตัวอนิจจังเองมันไม่ทราบว่ามันเป็นอนิจจัง มันไม่ทราบว่าเป็นทุกขัง มันไม่ทราบว่ามันเป็นอนัตตา ก็คือจิตผู้นี้ไปให้ความหมายแก่เขาว่า เขาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ตัวหลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือ ตัวจิตนี้ ไม่ใช่ผู้อื่นใด เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาสิ่งนั้นเพื่อให้รู้ทั้งสิ่งนั้นด้วย ทั้งจิตผู้ไปเสกสรรต่างๆ ไปสำคัญมั่นหมายต่างๆ ให้รู้ตัวเองอีกด้วย เมื่อตามรู้ทั้งภายนอกภายใน นั่นหล่ะ มันถึงไม่กระทบกระเทือนกัน อะไรจะเป็นจะตาย อะไรจะโยกย้ายเปลี่ยนแปลงไปไหน มันก็ทราบตามความจริงของมัน สบาย เรียนธรรมเรียนเพื่อความสบาย เพื่อความเปลื้องทุกข์ เพื่อแก้ความหลอกลวงที่เกิดอยู่ภายในจิตของตน

ไม่มีสิ่งใดที่จะหลอกลวงยิ่งใหญ่กว่าเราหลอกลวงเราเอง โลกมันต้มตุ๋นกัน ไอ้เรามันต้มตุ๋นเรานี่สิ ต้มตุ๋นมากยิ่งกว่าสิ่งภายนอกมาต้มตุ๋นหลอก มีตลอดเวลา เรายังไม่ทราบว่าภูมิปัญญานี้ นี่คือ เรื่องหลอกตัวเองล้วนๆ การเรียนธรรมะจึงเรียนเรื่องตัวเองให้เห็นชัดเจน ทั้งความปลอมความจริง แล้วก็แยกกันอยู่ตามความจริงของตนๆ ของสิ่งนั้น ของสิ่งนี้ มันก็สบาย

คำว่า พ้นทุกข์ คือ การพ้นจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในตนเอง สิ่งที่จะก่อกวนขึ้นมาเป็นความวุ่นวายมันสิ้นเสียไปจากจิตใจ ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในใจ ท่านเรียกว่า พ้น พ้นจากตรงนี้นะ ไม่ใช่ โดดไปโลกนั้น พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคารที่ไหนหล่ะ นั่นเป็นความสำคัญของจิตที่ยังไม่เคยรู้ความจริงอย่างแท้จริงว่ามันเป็นอย่างไร

ความพ้นทุกข์ ความติดข้อง เป็นอย่างไร มันติดข้องที่ตรงไหน มันผ่านกันไปได้ที่ตรงนั้น เรียกว่ามันพ้น มันหลุดจากกันไป เหมือนกับมืดสว่างนี่แหละ มืดมันมาจากที่ไหน สว่างมันมาจากที่ไหน มันก็อยู่ มันก็เกิดในที่แห่งเดียวกัน

ความโง่หมดไป ความฉลาดก็เข้ามาแทนที่เท่านั้น มันอยู่ในจุดเดียวกัน ความหลุดพ้นกับความติดข้องก็เหมือนกัน พ้นจากความติดข้องมันก็หลุดพ้น พ้นจากทุกข์มันก็เป็นสุข พ้นจากทั้งสุขทั้งทุกข์แล้วมันก็เป็นบรมสุข มันก็อยู่ในจิตอันเดียวกันเท่านั้นนั่นเอง ไม่อยู่ที่ไหน รู้ที่นี่แล้วมันก็ไม่หวั่นไหว ไม่สำคัญมั่นหมาย ในสถานกาลเวลา เรียกว่าตะครุบเงา ไม่ตะครุบเงาก็รู้ ตะครุบเงาก็รู้ จะไปตะครุบอะไร ทั้งตัวก็ไม่ตะครุบ ทั้งเงาก็ไม่ตะครุบ อยู่สบาย ที่นี่เค้าเรียกว่า รู้รอบ

เหมือนอย่างตะวันเที่ยงตรงศีรษะแล้วมันไม่มีเงา มันรอบตัวหมด เมื่อปัญญารอบจิตแล้วมันก็ไม่มีเงา เงาคือกิเลส มันก็หมดไป ปัญญารอบตัว อยู่สบาย นี่แหละคำว่าพ้นโลก โลกหมายถึงอยู่ใน หมายถึงจิตเนี่ย โลกแห่งสมมติมันครอบงำจิตอยู่ แยกกันไม่ออกว่า มันเรียกว่าโลก แก้ตรงนี้หมดแล้วมันก็เป็นธรรม เป็นธรรมล้วนๆ มันแสนสบาย หาให้เจอ ไม่เจอมาก ก็ให้เจอต้นทางก็ยังดี

หลักจิตใจเป็นสำคัญ เป็นหลักใหญ่โตมาก สำหรับผู้ท่องเที่ยวในวัฏฏสงสาร ขอจงยึดหลักจิตนี้ให้ดี การปฏิบัติอบรมจิตใจให้มีหลักมีเกณฑ์ ไปไหนถ้าหลักของใจดีแล้วเราไม่ต้องวิตกวิจารในไปการเกิดไปในภพใด ไปไหนก็ไปเถิด ความดีแล้วจะไม่ทำคนให้เสีย จะต้องมีดีอยู่กับใจ ใจที่มีหลักแห่งความดีประจำตนนั้นแล ถ้าไม่มีอันนี้แล้ว จะกลัวเท่าแล้วก็กลัวเถอะ ยิ่งเป็นการทำลายตัวเองซ้ำลงไปอีก

กลัวจะไปเกิดที่นั่น กลัวจะไปตกนรก กลัวจะไปเป็นทุกข์เป็นร้อน แต่ไม่ได้สร้างความดีเพื่อเป็นการลบล้างซึ่งความชั่ว หรือเป็นการต้านทาน เป็นการป้องกันตัวเองเลย อย่างนี้ กลัวเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ขึ้น ไม่ใช่เป็นของดี คือมันไม่ใช่เหตุผลที่จะเป็นไปเพื่อความหลังของตนว่า ไม่ต้องการได้รับความทุกข์ แต่ก็ต้องทุกข์อยู่ดี ทางเหตุผลแล้วต้องรีบแก้ไขเราแล้วแต่บัดนี้

เช่น สวดกุสลาธัมมา ฟังเสียแต่ยังไม่ตาย แปลว่าอะไร “กุสลา ธมฺมา” ตายแล้วอยู่สวดกันเต็มวัดเต็มวา เฮ้ยเราไม่เห็นยุ่ง ว่าอย่างนั้นแล้ว ใครจะมาว่าก็ตาม สวดให้มันเต็มใจของเราเนี่ย

“กุสลา ธมฺมา” แปลว่า อุบายแห่งความฉลาด เอ้า ผลิตขึ้นมาให้มันเกิดความเฉลียวฉลาด ทันกับกิเลสที่มันเป็นความโง่เขลา ทำคนให้โง่เขลานี่คือกิเลส กุสลา คือหมายถึงว่า กุศล ได้แก่ ความฉลาดแก้ความโง่อยู่ภายในจิตใจมันแล้ว

กุสลาหรืออกุสลาก็ตาม ตายแล้วมันแสนสบาย ไม่ต้องไปยุ่งอะไร ไอ้ผู้ไปสวดกุสลาเอง ก็ไม่ทราบว่า กุสลามันคืออะไร ไปสวดกินเงินกินทองเค้าเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ (หลวงตา หัวเราะ)

มันเป็นอย่างนั้นจริงนี่ “กุสลา ธมฺมา” ก็ดูจิตของตัวเองว่ามันฉลาดหรือไม่ในเวลานี้ “อกุสลา ธมฺมา” มันมีโง่อยู่จุดใดภายในจิตใจนี้ “อพฺยากตา ธมฺ” มันกลางๆ มันคิดยังไงมันเป็นกลาง คิดอะไรเป็นกุศล คิดอะไรเป็นอกุศล บริสุทธิ์แล้วมันเป็นอัพยากตาธัมเหมือนกัน
ถ้าเราจะแยกสมมตินี้ไปตรงนั้น จิตเราธรรมดามันเป็นไปไม่ได้ ท่านแยกไว้เป็นธรรมหลายประเภท นี่แหละลานใหญ่ อยู่ที่ “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา” ภายในตัวนี้ของเราทั้งนั้น สร้างให้พอ กุสลาธัมมา ให้ตัวให้มันพอเสีย

ตายแล้วนิมนต์พระมา จะมากุสลาธัมมาหรือไม่ ไม่เป็นปัญหา นี้โลกเขานิยมกันมาก เขาทำกันมาอย่างนั้นแหละ หาเหตุผลหลักฐานอันแท้จริงมันไม่ค่อยได้ หลักฐานและเหตุผลอันแท้จริงนี้ก็คือ กุสลาธัมมาภายในตัวนี้ นี่แหละเป็นความถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ผลิตการสร้างกุสลาธัมมา แก้ อกุสลาธัมมาภายในตัวเอง

แก้ตรงนี้ สร้างตรงนี้ นี่เทศน์เสมอ ใครจะมากก็ตาม บางทีเทศน์ในชุมชนมากๆ พอไปสัมผัสเรื่องนี้ เอาใหญ่เลย เวลาหลวงตาบัวตายแล้ว มีมาไปเที่ยวกว้านเอาพระท่านมาลำบากลำบนนะ มา กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา หลวงตาบัวตายแล้วนา ตายแล้วตายแล้ว หลวงตาบัวเนี่ย พยายามสร้างกุศลความฉลาดมาโดยลำดับๆ จนเต็มสติกำลังความสามารถ ถ้ามันจะจมให้มันจมไป หาความฉลาดแก่ตนไม่ได้ให้มันจมไป ไม่ต้องมาสวดกุสลา มันไม่เกิดประโยชน์ ท่านว่าอย่างนี้เลย

ไปกว้านท่านมาทำไมพระ ไปกวนพระทำไม ท่านว่าอย่างนี้ สร้างไปให้มันพอ นี่เวลามีชีวิตอยู่ไม่สนใจ เวลาตายไปแล้วเที่ยวกว้านเอาพระตามวัดตามวามากุสลาธัมมา ยุ่งไปหมด ไปสวดมาก็มีแต่พิธี ให้พวกสัปเหร่อเขาจัดนั้นจัดนี้ แม้แต่ผ้าไตรจีวรอะไรๆ ก็ให้เค้าจัด เราก็ด่อมๆมาถวายก็เท่านั้น เป็นพิธีอันหนึ่ง

เอ๊ยยย น้ำพักน้ำแรงของตัวเองที่จะทำแสดงความพออกพอใจในตัวเอง เป็นสมบัติของตัวเอง เป็นเจ้าภาพ เป็นเนื้อหนังของตัวเอง เกี่ยวกับญาติกับวงศ์ กับพ่อกับแม่ ไม่เห็นแสดง มาแต่เป็นพิธีๆ เรื่องพิธีทั้งหมด

ที่นี้ความเป็น ความตาย ความถูก ความทุกข์ มันไม่ใช่พิธี มันเหยียบย่ำทำลายอยู่กับหัวใจของคน เพราะฉะนั้นเราควรจะแก้ที่ตรงนี้ แก้ให้พอ เมื่อมันพอในใจแล้วมันก็รู้เอง ในงานศพหลวงตาบัวเนี่ย ทำให้คนเห็น เพราะโลกเมืองไทยนี้สมัยปัจจุบันนี้ ไม่เห็นมี
ตายแล้วยุ่ง กุสลามาติกา กันยุ่งไปหมด ดีไม่ดีหอบเอาอภิธรรมมาตั้งปึ้บลงไป สวดกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ทราบว่าอภิธรรมนั้นหมายความว่าอย่างไร สวดกันวันค่ำยันรุ่ง มีแต่เสียงอึกทึกครึกโครม หาความสงบสงัดที่จะเป็นไปเพื่อความสงบเย็นใจนี้ไม่ได้

นี่จึงห้ามเลย อย่าเอามาสวด อะไรๆ ไม่ให้สวดทั้งนั้น เราห้ามเอง เวลาพระท่านมา เอ้า หลักที่ถูกต้อง จะบังสุกุล ใครมีศรัทธาอะไรมาบังสุกุล เสร็จแล้วก็สัพพีแล้วให้พร เนี้ยเหมาะๆ ถูกต้องตามหลักของพระพุทธเจ้า ทำอย่างนั้นจริงๆด้วย สั่งอย่างนั้นให้ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างอื่น ให้โลกได้เห็นว่าเป็นยังไง เรามีแบบมีฉบับของเรา เราไม่ได้ทำแบบสุ่มๆเดาๆ ถึงแม้ว่าจะป่าก็ตาม นี่แหละหลัก

นี่อย่างนั้น ทำอะไรต้องมีเหตุมีผลมีหลักมีเกณฑ์ อย่าเอาประเพณีมาเหยียบย่ำทำลาย ศาสนาจะเหลือแต่ชื่อ ความจริงจะไม่เหลือ เนี่ยจะว่าไง มีศาสนาพิธีไปหมด เต็มบ้านเต็มเมือง ไปที่ไหนกว่าจะเข้าถึงตัวจริง ยังไม่เจอตัวจริง ก็เลยไม่เจอ มีแต่พิธีเต็มบ้านเต็มเมือง นี่แหละที่เกี่ยวข้อง เขานิมนต์ไปที่นั่นที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ลูกศิษย์ลูกหานิมนต์ไป กุสลา มาติกา บังสุกุล เฮ้ย ไปกีดขวางเค้า ท่านว่าอย่างนี้ ความจริงแล้วไม่อยากไปยุ่ง มีแต่พิธี ยุ่งอะไร กว่าจะได้ทำอะไร โฮ้ พิธีร้อยแปดพันประการรอบด้านรอบเมือง ศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาพิธี ทำต้องทำให้จริงให้จังให้ถูกตามเหตุตามผล.. ..ถือเป็นคติตัวอย่างอันดีงาม นั่นหลักมันอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่พิธีเฉยๆ

ถ้าพิธีเอาขลังแท้ๆ ถ้าขลังในสิ่งที่ไม่ขลัง เกาในสถานที่ๆไม่คัน ถลอกปอกเปิกแล้วไม่หายามาใส่ แล้วจะเกิดประโยชน์อะไร คันที่ตรงไหนก็เกาที่ตรงนั้น จริงที่ตรงไหนก็พิจารณาที่ตรงนั้น นี่แหละ เรื่องสวดกุสลาธัมมา ให้สวดให้ตัวเองนั่นแหละ นั่งก็ให้สวด ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้สวดกุสลาธัมมา ให้พิจารณาความฉลาด แก้ความโง่ของตัวเอง

ความโง่มันพาให้รับความทุกข์ความลำบาก ความฉลาดไม่ได้พาทำให้เป็นอย่างนั้น ความฉลาดที่กิเลสเสกสรรมันให้เป็นความฉลาดมันก็เป็นความโง่ ถ้าความฉลาดมันเกิดขึ้นมาตามหลักธรรมะคือเหตุผลด้วยแล้วจะไม่มีเรื่องความทุกข์ ความฉลาดเกิดมากน้อยเพียงใดจะปลดเปลื้องทุกข์ คือ ความโง่นั้น อันเป็นเหตุมาจากความโง่นั้นให้หมดไปโดยลำดับๆ

นี่แหละ กุสลา อันถูกต้อง ให้พิจารณาตรงนี้ “เหตุปจฺจโย อารมฺมณปจฺจโย” มันเกิดจากอะไร เหตุปัจจะโย อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ก็หัวใจของคนเรานี่ อย่างพระอัสสชิท่านแสดงแก่พระสารีบุตร “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา” นั่น ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ เหตุปัจจะโย อะไรเป็นเหตุ ก็ใจเป็นมหาเหตุ แน่ะ มันเป็นปัจจัย ออกไปอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นแขนงไปโดยลำดับๆ ก็ไปจากใจนี้

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เรื่อยไปจนกระทั่ง สมุทโย โหตีติ มันก็ล้วนแล้วเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันออกไป เมื่อแก้ที่ตรงนี้แล้ว อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราค เรื่อยไปจนกระทั่งถึง นิโรโธ โหตีติ แน่ะ ดับตรงนี้แล้วมันดับไปหมด เหมือนกับต้นไม้มันถอนออกมาทั้งรากแล้ว กิ่งก้านสาขาดอกใบไม่ต้องถามหล่ะ มันดับ ตายไปด้วยกันหมด

เพราะฉะนั้นถอนรากแก้วรากฝอยขึ้นมาหมดแล้วมันไม่มีอะไรเหลือ ถอนกิเลสมันต้องถอนที่ตรงนี้ พิจารณาที่ตรงนี้ สวดกันทำไม สวดไม่พิจารณาเหตุ พิจารณาผล ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเหตุมีผลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้สอนให้คนโง่ สวดแบบโง่ๆ สวดแบบไม่คำนึง ถามเรื่องเหตุและผล บอกไม่รู้ เขาพาทำก็ทำไป ทำไป เหมือนคำของพระพุทธเจ้าสอนคนให้โง่หรืออย่างนั้น ไม่ตรงกับความจริง คือศาสนาออกมาจากผู้ฉลาด ธรรมเป็นสิ่งประกอบด้วยเหตุผล ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกแง่ทุกมุม แต่เวลาเราปฏิบัติเอาแบบสุ่มเดา เอาความมักง่ายเข้าว่า มันก็เข้ากันไม่ได้ ศาสนามันจึงเหลือแต่ชื่อ นับถือศาสนา หาผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการนับถือศาสนามันไม่มี เพราะถือแต่เป็นพิธีเฉยๆ เวลาจะหลับจะนอนก็ไหว้พระ ปุ๊เล้งๆๆๆ อะระหังสัมมาสัมพุทโธ สวดยังไม่จบ จะตายเสียก่อนแล้ว ล้มครอกลงไป ไหว้พระแล้วก็ดีใจเพียงเท่านั้น นิดหน่อย เท่านั้นดีใจ ไม่ได้ปฏิเสธนะการไหว้นั้นไม่เกิดประโยชน์ แต่มัน ไอ้สิ่งที่มัน จมอยู่กับเรานั้น มันไม่ได้คิดนะสิ

อะไรพาให้ธรรมอ่อนแอถึงขนาดนั้น คืออะไร ให้เป็นจริงเป็นจังกว่านั้นหน่อยไม่ได้เหรอ นั่น เราอยากให้คิดตรงนั้นซะหน่อย แล้วอะไรมันจะได้มีจริงมีจังมีดีมีเหตุมีผลขึ้นมา หลักศาสนาก็จะปรากฏแก่โลกด้วยความจริงจัง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ถึงได้พูดอย่างนั้น

เอาหล่ะ เอวัง เพียงเท่านี้

หมายเหตุ:— ในเวป luangta.com ไม่มีต้นฉบับถอดความเสียงแต่เดิม ข้างต้นนี้คือการถอดความขึ้นมาครั้งแรก