ในงานออกแบบทุกอย่าง องค์ประกอบเริ่มแรกที่สุด คือรูปทรงขอบเขตภายนอก เรียกว่า shape หรือ form ซึ่งจะเป็นตัวกำหนด look and feel ของชิ้นงานนั้นๆเลยทีเดียว. กิจหรือหน้าที่ต่อกรณีนี้ มีหลักอยู่ว่า Form follows function หมายความว่า รูปทรงจะต้องตอบโจทย์เนื้อหาสาระ.
ส่วนในทางธรรมนั้น ตัวตั้งต้นอันเป็นที่ก้าวลงแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูป. นามรูปเป็นเหตุปัจจัยให้มีสฬายตนะ ได้แก่ อายตนะภายใน 6 มีตาเป็นต้น. เมื่ออาศัยอายตนะภายนอกอีก 6 มีรูปที่เห็นได้ด้วยตาเป็นต้น แต่ละอย่างๆตามคู่ของมัน เกิดวิญญาณ(การรู้)ทางช่องอายตนะนั้นๆ รวม 6 เรียกว่า หมู่แห่งวิญญาณ(การรู้)ทั้ง 6. กระบวนการที่อาศัยทั้งสามองค์ธรรมร่วมกันดังนี้ เรียกว่า ผัสสะ ซึ่งเรียกแยกตามอายตนะ เช่น จักขวายตนะ เป็นต้น รวมเป็น 6 อีกเช่นกัน.
ความสำคัญของอายตนะ คือมันมีความเป็นใหญ่ (เรียกว่า อินทรีย์คือความเป็นใหญ่) เพราะเป็นแดนเกิดแห่งการรับรู้ทั้งปวง. กิจของชาวพุทธในการเจริญจิตตภาวนา คืออินทรีย์สังวร (การสำรวมระวังความเป็นใหญ่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน). อายตนะจึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ.
เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ จึงเป็นฐานหรือแนวคิดเบื้องต้นในการเลือกใช้รูปทรงด้านเท่า 6 (hexagon) เพื่อสื่อความถึงนัยดังกล่าว โดยใช้ทั้งหมดสองชุด แทนอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอก. ส่วนช่องว่างที่อยู่ระหว่างนั้น ก็คือผัสสะ.
หน้าต่อไป กล่าวถึงความพิเศษเฉพาะบางประการของรูปทรง hexagon.